“หนึ่งในมาตรการที่ซีพีเอฟและสามสถาบันการศึกษาได้แก่ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง และมหาวิทยาลัยขอนแก่น ที่ร่วมบูรณาการแก้ไขสถานการณ์ของปลาหมอคางดำร่วมกับเราคือ การรับซื้อปลาชนิดนี้ในราคา กก.ละ 15 บาท แล้วนำมาทำปลาป่น ปัจจุบันได้รับซื้อไปแล้วกว่า 600,000 กก. และจะเพิ่มการรับซื้อจากแหล่งระบาดอีก 2,000,000 กก. โดยเมื่อโรงงานของเราผลิตเป็นปลาป่นแล้ว ซีพีเอฟจะรับซื้อกลับทั้งหมด”

นายปรีชา ศิริแสงอารำพี เจ้าของโรงงานปลาป่นศิริแสงอารำพี ในพื้นที่ จ.สมุทรสาคร บอกถึงที่มาของการรับซื้อปลาหมอคางดำมาทำเป็นปลาป่น อันเป็นหนึ่งในแนวทางตัดตอนปลาชนิดนี้ออกจากแหล่งระบาด

...

การนำปลาหมอคางดำมาทำปลาป่นถือเป็นอีกมาตรการที่ลดจำนวนประชากรปลาหมอคางดำ ที่ทำควบคู่ไปกับมาตรการภาครัฐ ได้อย่างเห็นผลเชิงประจักษ์ เพราะจากการติดตามและเดินทางไปดูแหล่งรับซื้อปลาหมอคางดำในพื้นที่ จ.สมุทรสาคร รวมถึงพูดคุยกับชาวประมงพื้นบ้านที่นำปลามาขาย พบว่า ตั้งแต่วันแรกที่กรมประมงเริ่มโครงการรับซื้อปลาหมอคางดำ ปริมาณปลาลดลงไปแล้วราว 80% โดยโรงงานใช้ปลาหมอคางดำมาผลิตปลาป่นอย่างต่อเนื่อง

ขณะที่ช่วงไม่กี่วันที่ผ่านมา โรงงานรับซื้อปลาหมอคางดำมาทำปลาป่นเพิ่มขึ้นจากวันละ 5,000-6,000 กก. เป็น 10,000 กก. สืบเนื่องจากการรณรงค์โครงการจับและรับซื้อปลาของรัฐบาล โดยปริมาณปลาที่ลดลงเกิดจากการร่วมแรงร่วมใจของหลายฝ่ายที่ตั้งใจรับผิดชอบต่อสังคม ทั้งการจับปลาและนำปลาไปใช้ประโยชน์สูงสุด นับเป็นข่าวดีที่ชาวประมงพื้นบ้านแจ้งว่าปริมาณปลาหมอคางดำลดลงใกล้สู่ภาวะปกติ ขณะที่เรือประมงพื้นบ้านจับปลาหมอคางดำได้น้อยลง และมีมาตรการป้องกันไม่ให้มีการแพร่ระบาดเพิ่มขึ้น ถือเป็นการขับเคลื่อนการแก้ปัญหาอย่างมีประสิทธิภาพ

...

นายปรีชา กล่าวต่อไปว่า โครงการนี้เป็นการทำงานแบบบูรณาการอย่างรอบคอบระหว่างภาครัฐ เกษตรกร ชุมชน ภาคประชาสังคม และภาคเอกชน ซึ่งมีการวางแผนบริหารจัดการอย่างเป็นระบบ ทำให้มีการจับปลามากขึ้น ขณะที่ภาครัฐเปิดจุดรับซื้อเพิ่มขึ้นในหลายจังหวัด เพื่อรองรับปลาหมอคางดำที่จับได้อย่างทั่วถึง ขณะที่ภาครัฐก็มีการตรวจสอบอย่างเข้มงวด เพื่อให้ได้ปลาจากแหล่งน้ำธรรมชาติไม่ใช่มาจากการเลี้ยง โดยผู้ที่จะเข้าร่วมโครงการต้องขึ้นทะเบียนกับประมงจังหวัด ทั้งเกษตรกรบ่อเลี้ยงสัตว์น้ำ และแพปลาที่จะรับซื้อต่อจากเกษตรกร ส่วนโรงงานปลาป่นก็จะรับซื้อปลาเฉพาะปลาจากแพปลาที่ผ่านการตรวจสอบจากกรมประมงเท่านั้น

“ขณะนี้ปลาหมอคางดำขนาดใหญ่ลดลงจำนวนมาก ปลาเล็กก็ถูกตัดวงจรโดยปลาผู้ล่าที่ภาครัฐปล่อย ขณะที่สถาบันการศึกษามีการวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ และเมนูอาหารต่างๆออกมาอย่างต่อเนื่อง ร้านอาหารหลายแห่งก็นำไปเป็นเมนูของร้าน ส่วนการจับปลาทำได้ง่ายขึ้นจากการผ่อนผันกฎระเบียบการจับปลา เอื้อให้ชาวบ้านตื่นตัวในการจับมาขายให้กับแพปลามากขึ้น แสดงให้เห็นว่าทุกภาคส่วนเห็นความสำคัญของการแก้ปัญหาการแพร่ระบาดของปลาหมอคางดำเป็นอย่างดี และการหยุดการแพร่ระบาดน่าจะสัมฤทธิผลในไม่ช้า”.

กรวัฒน์ วีนิล

อ่าน “คอลัมน์หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ” ทั้งหมดที่นี่