จากสถานการณ์การระบาดของหนอนเจาะเมล็ดทุเรียนในพื้นที่ภาคใต้ ส่งผลกระทบต่อภาพลักษณ์คุณภาพทุเรียนไทย ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้สั่งการให้กรมวิชาการเกษตรยกระดับมาตรการในการกำจัดและป้องกัน ตลอดห่วงโซ่การผลิต

กรมวิชาการเกษตรได้ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทุกภาคส่วน ขยายผลเพื่อให้เกิดการควบคุมกำจัดอย่างเป็นรูปธรรม เน้นย้ำการป้องกันด้วยแนวทางการดำเนินงาน 5 ขั้นตอน

1.จัดทำแผนประชาสัมพันธ์ โดยศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรยะลาได้ดำเนินการจัดทำโปสเตอร์ประชาสัมพันธ์การป้องกันกำจัดหนอนเจาะเมล็ดทุเรียน การเก็บเกี่ยวผลผลิตในระยะเวลาที่เหมาะสมเพื่อให้ได้ทุเรียนที่มีคุณภาพ

2.ให้เจ้าหน้าที่กรมวิชาการเกษตรร่วมกับกรมส่งเสริมการเกษตรถ่ายทอดองค์ความรู้ และเทคโนโลยีการผลิตทุเรียน วิธีการป้องกันกำจัดหนอนเจาะเมล็ดทุเรียนทั้งแบบวิธีผสมผสาน และการใช้สารเคมีทางการเกษตรอย่างถูกต้องให้กับกลุ่มเกษตรกร วิธีการเก็บเกี่ยวทุเรียนในระยะที่เหมาะสม

3.การจัดทำแปลงต้นแบบในการใช้วิธีการจัดการแบบผสมผสานให้แพร่หลายมากขึ้น 4.ทดสอบนวัตกรรมการพ่นสารด้วยโดรนในพื้นที่ทุเรียนต้นสูง เพื่อให้ได้วิธีการกำจัดเหมาะสมกับภูมิศาสตร์และพฤติกรรมของเกษตรกร และ 5.ขยายผลนวัตกรรมการป้องกันและกำจัด และการติดตามผลการดำเนินงานแปลงต้นแบบและแปลงขยายผล

และด้วยขณะนี้มีทุเรียนสดถูกตีกลับ อาจส่งผลกระทบต่อภาพรวมการส่งออกทุเรียนไทยไปจีน กรมวิชาการเกษตรจำเป็นต้องใช้กลไก ภายใต้ข้อตกลงในพิธีสารการส่งออกผลไม้ไทย-จีน และประกาศกรมวิชาการเกษตร เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการขึ้นทะเบียนโรงงานผลิตสินค้าพืช พ.ศ.2563 เพื่อตรวจสอบย้อนกลับ หากฝ่าฝืนกรมวิชาการเกษตรจะดำเนินการพักใช้ ยกเลิก เพิกถอนใบ GAP ใบ DOA ตามระดับความร้ายแรงของการกระทำความผิด พร้อมกับได้กำชับให้หน่วยงานในพื้นที่ตรวจสอบคุณภาพทุเรียนตามพิธีสารการส่งออกทุเรียนไทยไปจีน ไม่ให้มีศัตรูพืชกักกัน เช่น เพลี้ยแป้ง หนอนเจาะเมล็ดทุเรียน ติดไปกับผลทุเรียนส่งออกอย่างเด็ดขาด โดยกรมวิชาการเกษตรจะเป็นผู้ตรวจก่อนปิดตู้ทุกครั้ง.

...

สะ–เล–เต

คลิกอ่านคอลัมน์ “หน้ามองฟ้าเท้าหยั่งดิน” เพิ่มเติม