นายกิตติกร ตันเปาว์ รองผู้ว่าการ (วิศวกรรมและก่อสร้าง) การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เปิดเผยว่า ที่ผ่านมา รฟม.ให้ความสำคัญกับการดำเนินงานโครงการรถไฟฟ้า โดยตระหนักถึงการร่วมเป็นส่วนหนึ่งของชุมชนอย่างกลมกลืน เห็นได้จากการออกแบบตกแต่งภายในสถานีรถไฟฟ้ามหานครสายเฉลิมรัชมงคล หรือ MRT สายสีน้ำเงินที่มีแนวเส้นทางผ่านพื้นที่สำคัญทางประวัติศาสตร์ย่านชุมชนเก่าแก่ที่มีวัฒนธรรมอันโดดเด่น รฟม.ได้ออกแบบตกแต่งภายในแต่ละสถานีให้สอดคล้องกับพื้นที่ชุมชนใกล้เคียง ไม่ใช่แค่เพื่อความสวยงามเท่านั้น แต่ยังเป็นการอนุรักษ์สืบสานต่อยอดศิลปวัฒนธรรมอันทรงคุณค่าของแต่ละพื้นที่ รวมถึงเป็นการบอกเล่าเรื่องราวของชุมชน หรือพื้นที่นั้นๆให้คนที่ผ่านไปมาได้รับรู้และเรียนรู้ไปพร้อมๆกับการเดินทางที่สะดวกสบายและรวดเร็ว จำนวน 4 สถานีได้แก่ สถานีวัดมังกร สถานีสามยอด สถานีสนามไชย และสถานีอิสรภาพ จนวันนี้ทั้ง 4 สถานีที่เราทำไป กลายเป็นแหล่งท่องเที่ยว เป็นแลนด์มาร์กใหม่ รฟม.นำมาต่อยอดในโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) เพื่อให้สถานีรถไฟฟ้าสายนี้ สามารถบอกเล่าเรื่องราวความเป็นมารวมถึงความเป็นอัตลักษณ์ของแต่ละชุมชนที่หลากหลายได้ด้วยตัวเอง

นายกิตติกรกล่าวว่า รฟม.และทีมสถาปนิกของโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มได้จัดทำการออกแบบตกแต่งผนังสถานีรถไฟฟ้าใต้ดิน (featured wall) บริเวณชั้นจำหน่ายตั๋วโดยสาร ทั้ง 10 สถานี เช่น สถานีศูนย์วัฒนธรรมฯ (OR13) มีความพิเศษกว่าสถานีอื่นๆในสายสีส้ม เนื่องจากเป็นลักษณะผังแบบชานชาลาคู่ มีแนวรางรถไฟอยู่ตรงกลางและมีชานชาลารับ 2 ฝั่ง ทำให้มีผนังอาคารที่สามารถตกแต่งพิเศษได้ทั้ง 2 ฝั่งของอาคาร จึงกำหนดให้ featured wall ของสถานีนี้มี 4 แผง นำเสนอภาพศิลปะแบบ Graphic Art โดยสะท้อนถึงรูปแบบวัฒนธรรมของประเทศไทยในด้านต่างๆ

...

สถานี รฟม. (OR14) ตั้งอยู่บริเวณด้านหน้า รฟม.การออกแบบผนังตกแต่ง featured wall จึงต้องการนำเสนอตัวตนขององค์กร รูปแบบ graphic art โดยสื่อถึงการดำเนินงานของ รฟม.ผ่านภาพเครือข่ายของรถไฟฟ้าที่เชื่อมต่อการเดินทางของประชาชน สถานีวัดพระราม 9 (OR11) รฟม.ได้เชิญนางวนิดา พึ่งสุนทร ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะสถาปัตยกรรม (แบบประเพณี) ปี 2546 ออกแบบสถาปัตยกรรมเน้นสื่อถึงวิถีชีวิตการอยู่ร่วมกันระหว่างบ้าน วัด โรงเรียน (บวร) และสถานีรามคำแหง 12 (OR16) ตั้งอยู่บริเวณถนนรามคำแหง บริเวณโดยรอบเป็นที่ตั้งร้านค้า ร้านอาหาร ห้างสรรพสินค้าและที่อยู่อาศัยค่อนข้างหนาแน่น เน้นสื่อถึงวิถีชีวิตของคนในเมืองที่มีความสดใส ผ่านการใช้วัสดุที่หลากหลาย มีลวดลาย มีสีสัน เป็นต้น หลังเปิดให้บริการรถไฟฟ้าสายสีส้มคาดว่าสถานีต่างๆจะกลายเป็นแหล่งท่องเที่ยว และแลนด์มาร์กแห่งใหม่ให้คนมาถ่ายภาพเช็กอินเพิ่มอีกหนึ่งแห่ง

รายงานข่าวจากบริษัททางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BEM แจ้งว่า หลังจากมีการลงนามในสัญญาร่วมลงทุนโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม บางขุนนนท์-มีนบุรี ระหว่างบริษัทกับการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย รฟม. เมื่อวันที่ 18 ก.ค.67 ที่ผ่านมานั้น ปรากฏว่าในวันนี้ (23 ก.ค.67) จะมีพิธีลงนามสัญญาก่อสร้างงานโยธาและจัดหาระบบรถไฟฟ้า ในโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม บางขุนนนท์-มีนบุรี ระหว่างผู้บริหารบริษัททางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BEM กับบริษัท ช.การช่าง จำกัด (มหาชน) ที่โรงแรมอินเตอร์คอนติเนนตัล กรุงเทพฯ (ราชประสงค์) เพื่อดำเนินการโครงการให้แล้วเสร็จและเปิดให้บริการในส่วนตะวันออก มีนบุรี-ศูนย์วัฒนธรรมฯ ในปี 2571 และส่วนตะวันตก ศูนย์วัฒนธรรมฯ-บางขุนนนท์ ในปี 2573.

อ่าน “คอลัมน์หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ” ทั้งหมดที่นี่