“เข้าพรรษานี้และตลอดพรรษานี้ ขอให้หันมาทำแต่ความดีกันเถิด...ที่ยังไม่ดีก็ขอให้ดีขึ้นมา...ที่ดีอยู่แล้วก็ขอให้ดียิ่งๆขึ้นไป จะได้เป็นประโยชน์ต่อตัวเรา ครอบครัวเรา ชุมชนและหมู่บ้านของเรา รวมถึงสังคมของเรา ซึ่งถือว่าเป็น...สังคมแห่งความเป็นชาวพุทธ”

ศาสนธรรมของพระพุทธองค์จะได้ถูกสืบทอดต่อไปอีกนานแสนนานและมีคุณค่าต่อโลกมนุษย์นี้ตลอดไป

“เทศกาลเข้าพรรษา” และ “การเข้าจำพรรษา” ของพระภิกษุสามเณรซึ่งเป็นนักบวชในพระพุทธศาสนามีความจำเป็นและสำคัญอย่างมากเพราะเป็นการประพฤติตามหลักพระธรรมวินัยที่พระพุทธองค์ได้ทรงบัญญัติไว้ให้สงฆ์สาวกของพระพุทธองค์ประพฤติปฏิบัติ เพื่อจะนำไปสู่ความสำเร็จแห่ง “มรรค” และ “ผล”

รวมถึงจะเป็นประโยชน์ต่อชาวบ้านและชาวพุทธก่อให้เกิดผลดีโดยประการทั้งปวง

พระครูจินดาสุตานุวัตร (พระมหาสมัย จินฺตโฆสโก) ประธานมูลนิธิกลุ่มแสงเทียน เจ้าอาวาสวัดบางไส้ไก่ กทม. ย้ำว่า การเข้าพรรษาในปีนี้จึงขอเชิญชวนทุกท่านได้หันหน้าเข้าวัดสร้างคุณงามความดีให้กับตนเอง ที่เคยปฏิบัติมาอยู่ดีแล้วก็ขอให้ดียิ่งๆขึ้นไป ส่วนท่านที่ยังไม่ได้ใส่ใจก็ขอให้ใส่ใจให้มากขึ้น

พระครูจินดาสุตานุวัตร (พระมหาสมัย จินฺตโฆสโก)
พระครูจินดาสุตานุวัตร (พระมหาสมัย จินฺตโฆสโก)

...

เพราะ “ความดี” ที่เราทำไปนั้นจะส่งผลให้ชีวิตของเรามีแต่ความสุขพบแต่ความสำเร็จในอาชีพหน้าที่การงาน เทศกาลนี้...ชาวพุทธและชาวบ้านจึงไม่ควรมองข้ามกันไป

“การทำความดีให้กับตนเองนับตั้งแต่การเป็นผู้รู้จักรักษาศีลของตนเอง ถ้าเป็นผู้ครองเรือนคือรักษาศีลห้า นับว่ามีความจำเป็นอย่างมากเพราะทุกวันนี้ปัญหาที่เกิดขึ้นจากการไม่รักษาศีลห้าของตนเอง ก่อให้ เกิดความทุกข์ความเดือดร้อนแก่ตนเองและคนอื่น นับตั้งแต่มีการทำร้ายร่างกาย เข่นฆ่า เบียดเบียนคนอื่น....”

อีกทั้งลักขโมยทรัพย์สินคนอื่น คดโกงด้วยเล่ห์กลต่างๆอย่างสลับซับซ้อนจนยากที่จะติดตามทรัพย์สินนั้นคืนมาได้โดยปราศจากการรู้จักประกอบสัมมาชีพ...มีการประพฤติผิดทางเพศเพิ่มมากขึ้น ก่อให้เกิดความเดือดร้อนภายในครอบครัวโดยปราศจากการรู้จักสำรวมในกาม...มีการพูดจาใส่ร้ายคนอื่น

“สร้างความเข้าใจผิดด้วยวาจา พูดโกหก พูดส่อเสียด พูดคำหยาบ พูดเพ้อเจ้อ ทำให้คนอื่นเสียหายโดยปราศจากการรู้จักสัมมาวาจา มีการเสพสุราของมึนเมายาบ้าสิ่งเสพติดทำลายสติและปัญญาจนสร้างความเสียหายสร้างความเดือดร้อนให้กับส่วนรวมโดยปราศจากสติสัมปชัญญะและตั้งตนอยู่ในความประมาท”

เหล่านี้ล้วนมาจากผู้คนขาดศีลห้าซึ่งเป็นศีลที่เป็นพื้นฐานของ “ความเป็นมนุษย์ผู้ประเสริฐ” นี่เอง เข้าพรรษานี้เป็นต้นไปขอให้ตั้งใจตั้งหลักอธิษฐานทำแต่สิ่งที่ดี...สิ่งที่เป็นประโยชน์ทั้งต่อตนเองและผู้อื่น

โดยลงมือกระทำเริ่มต้นที่ตัวเรา ไม่ต้องไปชี้โทษคนอื่น มารักษา ศีลห้าของตนเองให้บริสุทธิ์ผุดผ่อง ให้ผ่องใสในจิตใจของตนเอง อย่าปล่อยให้จิตตกลงไปในฝ่ายต่ำ สิ่งที่รู้ว่ามันไม่ดีก็ขออย่าได้กระทำลงไป ขอให้เริ่มได้ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป

การรักษาศีลห้าของตนเองสามารถรักษาได้ภายในครอบครัวก็ได้...ไม่จำเป็นต้องไปรักษาภายในวัดหรือภายในศาสนสถานใดๆทั้งสิ้น ไม่เหมือนกับการไปรักษาศีลแปดซึ่งถือว่าเป็น “ศีลอุโบสถ” ซึ่งนิยมไปรักษาร่วมกับคนอื่นใน “วันพระ” ที่วัดของหมู่บ้านหรือชุมชนนั้นๆ

นอกจากนั้นการทำความดีอีกชนิดหนึ่งคือการรู้จักเสียสละแบ่งปันหรือทางพระเรียกว่า “ให้ทาน” โดยการให้ทานมีสองประเภทคือ ประเภทแรกเป็นการให้ด้วยวัตถุสิ่งของเรียกว่า “อามิสทาน”...นับตั้งแต่ให้อาหารให้ที่อยู่อาศัยให้เครื่องนุ่งห่มให้ยารักษาโรคซึ่งเป็นสิ่งที่จำเป็นพื้นฐานของการดำรงชีวิต

ถัดมา...ให้ประเภทที่สองเป็นการให้ความรู้ความเข้าใจให้ข้อคิดให้สติปัญญาเพื่อการดำรงชีวิตประจำวันเรียกว่า “ธรรมทาน” คือการให้ธรรมะเป็นทานนั่นเอง เมื่อสรุปแล้วก็ได้ความว่าการให้นั้นเป็นวัตถุทานและธรรมทานถูกต้องตามหลักธรรมคำสอนของพระพุทธองค์ ซึ่งชนิดของการให้ก็สามารถแยกย่อยออกไปได้อีก...

...

แบ่งเป็นสามชนิดด้วยกันคือ...การให้แบบบูชา เป็นการให้แก่นักบวชผู้ที่มีศีลสูงขึ้นกว่าตนเองหรือครูบาอาจารย์ผู้ใหญ่ที่ตนเองเคารพนับถือ...การให้แบบสงเคราะห์ เป็นการให้แก่ญาติมิตรเพื่อนฝูงที่มีโอกาสหรือสถานะทางสังคมเท่าเทียมกัน เพื่อจุนเจือช่วยเหลือให้ผู้ที่ได้รับมีความสุข...สร้างสัมพันธไมตรีได้ดียิ่งขึ้น

การให้แบบอนุเคราะห์ เป็นการให้เพื่อช่วยเหลือผู้คนที่ด้อยโอกาสกว่าเรา ยากจนขัดสนมากกว่าเรา เป็นการให้เพื่อการยืดความอยู่รอดของเขาได้อีกระดับหนึ่ง การให้แบบอนุเคราะห์นี้มีความหมายและความสำคัญอย่างยิ่งเพราะผู้ด้อยโอกาสจะอยู่รอดหรือไม่ก็อยู่ที่ “การอนุเคราะห์” นี่เอง

นอกจากนี้แล้วยังมีการให้อีกชนิดหนึ่งที่ไม่ควรมองข้ามนั่นก็คือ “การให้อภัย” ซึ่งเป็นการให้โอกาสแก่คนที่เคยกระทำความผิดแล้วกลับตัวกลับใจ ดังนั้นเราจึงพบเห็นอยู่ตลอดในเขตวัดวาอารามว่า...“เขตอภัยทาน ขอจงให้อภัยซึ่งกันและกันและห้ามจับสัตว์” เป็นต้น

พระครูจินดาสุตานุวัตร บอกอีกว่า ภาวนาคือการบำเพ็ญเพียรทางใจก็เป็นการทำความดีอีกชนิดหนึ่ง การรู้จักอบรมบ่มนิสัยตนเองและสอนตนเองก็คือการภาวนา เรียกให้ลึกลงไปคือ...กรรมฐาน หมายถึงอุบายทางใจมีสองประการคือ...สมถกรรมฐาน เป็นอุบายความสงบทางใจ

...

และ วิปัสสนากรรมฐาน เป็นอุบายให้เรืองปัญญา

“การบำเพ็ญเพียรทางใจเป็นความละเอียดอ่อนในการพิจารณาตนเอง ไตร่ตรองตนเอง สำรวจตนเองเพื่อนำพาตนเองให้มุ่งสู่ความสงบทางกายทางวาจาและทางใจ ตลอดถึงรู้แจ้งถึงความจริงของชีวิตจะได้ไม่ตั้งอยู่ในความประมาท...ความมัวเมา จะไม่ก่อให้เกิดการใช้ชีวิตที่ผิดพลาดจนนำไปสู่ความทุกข์ความเดือดร้อน”

บุคคลใด...ก็ตาม ถ้าตั้งตนอยู่ในความประมาทรวมทั้งลุ่มหลงอยู่ในความมัวเมาแล้วความเสื่อมความหายนะ ความเดือดร้อน ความเสียหายก็จะติดตามมาในปัจจุบันกาล การบำเพ็ญเพียรทางใจจึงมีคุณค่าและมีความจำเป็นมากในปัจจุบันเพราะคนที่มีกรรมฐานอยู่ในใจย่อมมีความละเอียดในการพิจารณาเหตุการณ์นั้นๆ

...ที่ผ่านเข้ามาในชีวิต และจะหาทางเลือก ทางออกที่ดีได้อย่างไร

“การรักษาศีล การให้ทาน การบำเพ็ญเพียรภาวนา จึงถือว่าเป็นหัวใจอันสำคัญของชาวบ้านและชาวพุทธ ขอจงใช้โอกาสในเทศกาลเข้าพรรษาและการเข้าพรรษาตลอดสามเดือนนี้มุ่งหน้าเข้าหาสู่ความดีตามหลักธรรมคำสอนของพระพุทธองค์”

...

ประพฤติปฏิบัติคนละเล็กคนละน้อย...วันละเล็กวันละน้อยล้วนแต่จะเป็นประโยชน์ต่อชีวิตของเรา ครอบครัวของเรา...สังคมของเรา โดยที่ไม่ต้องแสดงคุยโม้โอ้อวดว่าตนเองมีศีล...ถือศีล

ชัดเจนว่า...คนที่มีศีลย่อมมีความดีภายในตนเอง มีแล้วจะแผ่ไพศาลสร้างความสุขความร่มเย็นให้กับคนอื่น แต่คนที่อ้างว่ามีศีลหรือถือศีลแต่ไปสร้างความเสื่อมเสียความเดือดร้อนให้กับคนอื่น คนประเภทนั้นเรียกว่า “มือถือสากปากถือศีล” ใช้ไม่ได้ การรักษาศีลนี้เราทำได้เท่าใดก็เอาเท่านั้น... อย่าไปฝืนความจริง

ดังคำโบราณว่า “เห็นช้างขี้ก็ขี้ตามช้าง” จะกลายเป็นคนไม่รู้จักกำลังตน การบำเพ็ญเพียรทางใจก็ขอให้ทำตามกำลังที่ทำได้ คนเราย่อมมีความรู้ความสามารถไม่เท่ากัน ทำอะไรก็ขอให้ตรวจสอบตนเองตลอดไป นี่คือหนทางแห่งการประพฤติปฏิบัติของชาวพุทธที่ควรสำเหนียกและปฏิบัติ.

คลิกอ่านคอลัมน์ “สกู๊ปหน้า 1” เพิ่มเติม