สหรัฐอเมริกาแม้จะเป็นประเทศเกิดใหม่ มีประวัติศาสตร์เพียงหลักสองร้อยปี แต่ก็มีวัฒนธรรมที่มีมนต์ขลังและสร้างอิทธิพลไปทั่วทุกแห่งหน

โดยเฉพาะในด้านการ “ดนตรี” ที่ชาวไทยเรารู้จักกันมาชั่วอายุคน และถือเป็นซอฟต์พาวเวอร์ ที่ไม่ต้องใช้ความพยายามตามหา และทุ่มงบประมาณโปรโมตให้เสียเงินเปล่า

ทั้งนี้ ในโอกาสเฉลิมฉลองวันชาติสหรัฐฯ เมื่อต้นเดือนที่ผ่านมา (4 ก.ค.) ก็เป็นอีกครั้งที่มีการนำวัฒนธรรมดนตรี “แจ๊ส” ของสหรัฐฯ มาเผยแพร่สู่สายตาชาวไทย โดยทาง “มิเชล โบบอต” อดีตนักการทูตฝรั่งเศสประจำองค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมสหประชาชาติ (UNESCO) ได้มีการนำคอลเลกชันส่วนตัวที่เก็บสะสมไว้ตลอดระยะเวลาการทำงานมาจัดแสดงที่กรุงเทพมหานคร

ทูตโบบอตกล่าวว่า ดนตรีแจ๊สมีต้นกำเนิดในชุมชนชาวแอฟริกัน-อเมริกันในรัฐนิวออร์ลีนส์ ช่วงปลายศตวรรษที่ 19 และต้นศตวรรษที่ 20 ซึ่งเป็นแนวดนตรีที่ถือเป็นมรดกทางวัฒนธรรมที่ล้ำค่า หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ดนตรีแจ๊สเข้ามามีอิทธิพลในยุโรปและเอเชีย มีจัดคอนเสิร์ต การแสดงในคลับ การออกแผ่นเสียง และการประชาสัมพันธ์ผ่านนิตยสารต่างๆ ถือเป็นแนวเพลงที่ประสบความสำเร็จสูงสุดแห่งยุค

ช่วงเวลานั้นนักดนตรีแจ๊สหลายคนเริ่มกลายเป็นที่จับตามอง และได้ถูกนำไปตีพิมพ์ลงในหนังสือพิมพ์อยู่บ่อยครั้ง โดยใบหน้าที่มีเอกลักษณ์ของเหล่าศิลปินได้แสดงถึงความหลากหลายทางอารมณ์ความรู้สึก ผสมผสานเข้ากับความคิดสร้างสรรค์และความพิเศษ แค่เพียงได้มองภาพถ่ายก็สามารถสัมผัสได้ถึงความสุข ความเศร้า และรับรู้ได้ถึงบุคลิกของเหล่านักดนตรีในภาพ แม้จะไม่เคยฟังเพลงของพวกเขาเลยก็ตาม

จึงเป็นที่มาของการจัดนิทรรศการภาพถ่ายหายากในครั้งนี้ ไม่ว่าจะเป็นของ Kenny Clarke, Louis Armstrong, Ornette Coleman, Dave Brubeck และอีกมากมาย ที่ถูกถ่ายในช่วงเทศกาลดนตรีและคอนเสิร์ตที่จัดแสดงทั่วกรุงปารีส ฝรั่งเศสตอนใต้ และในสหรัฐฯ เพื่อยกย่อง ผลงานและความคิดสร้างสรรค์ของเหล่านักดนตรีมากความสามารถ

...

พร้อมขอเชิญชวนชาวไทยที่ชื่นชอบหรือสนใจ มาร่วมชมนิทรรศการกันได้ที่โรงแรม ไฮแอท รีเจนซี่ กรุงเทพฯ สุขุมวิท ได้ตั้งแต่วันนี้จนถึงวันที่ 31 ต.ค. โดยไม่มีค่าใช้จ่ายแต่อย่างใด.

ตุ๊ ปากเกร็ด

คลิกอ่านคอลัมน์ “หน้าต่างโลก” เพิ่มเติม