บทบาทอัยการ ไม่ใช่แค่เอาคนเข้าคุก!

อีกบทบาทที่คนไม่รู้คือ พยายามแก้ไขฟื้นฟูคนที่ผิดพลาด และ “อย่าเอาคนดีเข้าคุก”

เมื่อ 20 ปีก่อน มีนักข่าวตระเวนไทยรัฐไปเจอข่าวพนักงานลักทรัพย์ซาลาเปา 2 ลูกของนายจ้างห้างค้าปลีกขนาดใหญ่ ตามระเบียบต้องเอาไปทิ้ง แต่เธอฝ่าฝืนแอบเอาซาลาเปาซุกซ่อนออกมาจนถูกจับ

ตำรวจนครบาลทำหน้าที่ราวหุ่นยนต์ ตั้งข้อหาหนักลักทรัพย์นายจ้าง!

แต่นักข่าวตระเวนตามขุด พบว่าผู้ต้องหาอายุแค่ 16 ปีเป็นพนักงานรายวันรายได้น้อย ต้องเลี้ยงดูครอบครัวมีลูกเล็กๆอยู่บ้าน แต่นายจ้างกับตำรวจตรงเป็นไม้บรรทัด ทำสำนวนส่งอัยการ

นายสุชาติ ไตรประสิทธิ์ อัยการสูงสุด ขณะนั้น (ถึงแก่อนิจกรรมแล้ว) สะดุดข่าวใน นสพ.ไทยรัฐ สอบถามนักข่าวไทยรัฐสายศาล อัยการ และสภาทนายความ ได้ข้อมูลว่า พื้นเพผู้ต้องหาเป็นคนยากจนจริง ไม่มีเงินจ้างทนาย ไม่รู้จักใคร หากถูกจับขังเท่ากับพังเสาหลักของครอบครัว!

สั่งให้อัยการเจ้าของสำนวนสอบเพิ่มเติมพบว่า ไม่มีประวัติกระทำความผิด ความเสียหายของนายจ้างเพียง 20 บาท และยังมีลูกกับแม่รวม 5 ชีวิตรอความหวังอยู่ที่บ้าน

นายสุชาติสั่งเรียกสำนวนตาม พ.ร.บ.อัยการ (เดิม) มาสั่งคดีเอง “พิจารณาแล้วผู้ต้องหาอายุยังน้อย เป็นหัวหน้าครอบครัว ฐานะยากจน ต้องรับภาระเลี้ยงดูบุคคลที่ไม่อาจพึ่งพาตนเองได้ เมื่อผู้ต้องหาถูกคุมขังมาพอสมควรแล้ว ประกอบกับไม่เคยมีประวัติถูกดำเนินคดีมาก่อน ความเสียหายเล็กน้อย ผู้เสียหายไม่ติดใจเอาความ”

เห็นว่า หากฟ้องคดีทำให้ผู้ต้องหาถูกลงโทษจำคุก แม้ระยะสั้น แต่ไม่ได้สัดส่วนกับความเสียหายที่เกิดแก่ครอบครัว จึงไม่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ สั่งไม่ฟ้องทุกข้อหา

...

คดีนี้กลายเป็น “คดีครู” ของทนายแผ่นดิน เรียกว่าคดีเด็กซาลาเปา เอาไปสัมมนาอบรมนักกฎหมาย เป็นตัวอย่างของนักกฎหมายมืออาชีพที่ใช้กฎหมายโดยคำนึงถึงเจตนารมณ์อย่างแท้จริง ไม่ใช่มองเฉพาะตัวอักษร

เป็นที่มาของการแก้ไข พ.ร.บ.องค์กรอัยการและพนักงานอัยการ 2553 เรื่องการสั่งคดีที่ไม่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะมาตรา 21 วรรคสอง

ไม่เชื่อก็ต้องเชื่อ เมื่อเดือน พ.ค.2567 เกิดเหตุคล้ายกันซ้ำรอยอีก? (อ่านต่อพรุ่งนี้)

สหบาท

คลิกอ่านคอลัมน์ “ส่องตำรวจ” เพิ่มเติม