เมื่อวานนี้ผมเขียนถึงการเปิดตัวอย่างเป็นทางการของ “บริษัท ไทยรัฐ โลจิสติคส์” ธุรกิจใหม่ของไทยรัฐกรุ๊ป แล้วไปลงท้ายว่าบริษัทเกิดใหม่ของเราบริษัทนี้เป็นผลพวงมาจาก “วิสัยทัศน์” ของท่าน ผอ.กำพล วัชรพล ผู้ก่อตั้งหนังสือพิมพ์ไทยรัฐนั่นเอง

วันนี้เรามาทบทวนความทรงจำกันนะครับ

หากเรามองย้อนหลังกลับไปในอดีตก่อนพุทธศักราช 2500 หรือเกือบๆ 70 ปีที่แล้ว คงจำกันได้ว่าการขนส่งหนังสือพิมพ์และนิตยสารต่างๆ จากกรุงเทพฯสู่ต่างจังหวัดจะใช้ “รถไฟ” เป็นหลัก

ส่งผลให้สถานีกรุงเทพฯ หรือสถานีหัวลำโพง กลายเป็นศูนย์กลางของการขนส่งสื่อสิ่งพิมพ์ไปจำหน่ายในจังหวัดต่างๆ โดยมีบริษัท “รวมห่อ” เป็นตัวกลางในการรับจ้างขนส่งเกิดขึ้นหลายๆ “รวมห่อ” รอบๆสถานี

จนกระทั่งถึง พ.ศ.2504 อันเป็นปีแรกของการประกาศใช้ “แผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 1” พ.ศ.2504-2509 ซึ่งมุ่งเน้นในการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานเพื่อการพัฒนา เช่น ถนน, ไฟฟ้า, แหล่งน้ำ ฯลฯ เป็นนโยบายสำคัญ

ส่งผลให้มีการก่อสร้างและตัดถนนสายใหม่ๆขึ้นทั่วประเทศไทยและเป็นการเปิดโอกาสให้ “รถยนต์” เข้ามามีบทบาทในระบบคมนาคมขนส่ง หรือ โลจิสติคส์ ของประเทศนับตั้งแต่บัดนั้น

ระบบการขนส่งหนังสือพิมพ์ก็พลอยปรับเปลี่ยนไปด้วย จาก “รถไฟ” มาสู่ “รถยนต์” มากขึ้นและมากขึ้นเรื่อยๆ

ขณะเดียวกัน ช่วง พ.ศ.2504 เป็นต้นมาก็ถือว่าเป็น “ยุคทอง” ของหนังสือพิมพ์ด้วยเช่นกัน เมื่อหนังสือพิมพ์รายวันหลายฉบับกลายเป็นสินค้าติดตลาด มีการพิมพ์ถึง 2 กรอบต่อวัน และในห้วงเวลาที่มีข่าวสารสำคัญเกิดขึ้นจะมีแฟนหนังสือพิมพ์มายืนรอซื้อตามแผงต่างๆคิวยาวเหยียด

...

เมื่อความนิยมและความต้องการอ่านหนังสือพิมพ์ โดยเฉพาะในต่างจังหวัดเริ่มมีมากขึ้น ประกอบกับมีเสียงบ่นว่า รถไฟมีปัญหามาก ทั้งล่าช้าและทั้งไม่ตรงเวลา ทำให้หนังสือพิมพ์ต่างๆ เริ่มคิดอ่านที่จะขนไปส่งเอเย่นต์ด้วยตนเอง

หนังสือพิมพ์ พิมพ์ไทย เป็นผู้เริ่มขึ้นก่อน โดยการขนส่งเฉพาะฉบับที่มีรายงานผล “สลากลอตเตอรี่” ไปจำหน่ายเท่านั้น ใช้รถบรรทุกขนาดกลางเพียง 4-5 คัน ขนไปจำหน่ายตามจังหวัดใกล้ๆ กทม.

จากนั้นไม่นานนัก “2 ยักษ์ใหญ่” ใน พ.ศ.นั้น อันได้แก่ ไทยรัฐ และ เดลินิวส์ ก็หันมาจัดส่งเองบ้าง และก้าวข้ามไปอีกขั้นหนึ่งคือส่งทุกวันแทนที่จะส่ง 15 วันครั้ง เฉพาะวันลอตเตอรี่ออก แบบ พิมพ์ไทย

ขณะเดียวกันประเทศไทยก็เดินหน้าพัฒนาต่อไป จากแผนพัฒนาฯฉบับที่ 1 พ.ศ.2504-2509 ก็เริ่มแผนพัฒนาฯฉบับที่ 2 พ.ศ.2510-2514 ซึ่งก็ยังเน้นการพัฒนาเครือข่ายถนนทั่วประเทศ ส่งผลให้การขนส่งสินค้าทางถนนกลายมาเป็น “เส้นเลือดหลัก” ของโลจิสติคส์ไทยเต็มตัว

การ “ขนส่ง” หนังสือพิมพ์ก็เจริญงอกงามตามไปด้วย ใครที่เดินทางไปต่างจังหวัดยุคนั้นจะเห็นรถหนังสือพิมพ์ ไทยรัฐ–เดลินิวส์ ฯลฯ วิ่งขึ้นล่องไปตามถนนทุกสายทั่วประเทศ

ไทยรัฐ ซึ่งมียอดจำหน่ายมากที่สุดของประเทศ และเกินล้านฉบับมาตั้งแต่หลัง 14 ตุลาคม 2516 ภายใต้การนำของ ผอ.กำพล วัชรพล จะมีกองทัพรถขนส่งหนังสือพิมพ์กี่ร้อยคันผมจำไม่ได้แล้ว จำได้แต่ว่า จอดเต็มลานโรงพิมพ์ไปหมดทั้งด้านหน้าด้านหลังใน พ.ศ.ดังกล่าว

ผมมาอยู่ไทยรัฐ ปี 2515 มีโอกาสได้เห็นการตัดสินใจเพิ่มจำนวนรถยนต์และเพิ่มเส้นทางการขนส่งหนังสือพิมพ์ของท่าน ผอ.กำพล ด้วยตนเอง

ผมจำได้ว่าท่านถึงขนาดวางสายตีสนิทกับ กรมทางหลวง ให้ช่วยรายงานการก่อสร้างถนนสายใหม่ให้แก่ท่านโดยตรง...ว่าสายไหนเสร็จแล้วบ้าง? เพื่อที่จะจัด “รถ” ขนส่งหนังสือพิมพ์ไทยรัฐไปให้บริการในชุมชนหลักๆของเส้นทางสายนั้นๆก่อนใครๆ

นับว่าการตัดสินใจลงทุนของท่านในเรื่องนี้ไม่เพียงแต่จะเป็น “คุณ” แก่ไทยรัฐยุคโน้นเท่านั้น ยังส่งผลมาถึงยุคนี้ด้วย เพราะทั้งขบวนรถและคนขับรถ ซึ่งช่ำชองเส้นทางหลวงทั่วประเทศไทย ยังคงอยู่กับเราเกือบทั้งหมด กลายเป็นขุมกำลังหลักของบริษัทใหม่ “ไทยรัฐโลจิสติคส์” ท่านใดจะใช้บริการก็เชิญนะครับ.

แฮ่ม! ถือโอกาสประชาสัมพันธ์ให้เสียด้วยเลย.

“ซูม”

คลิกอ่านคอลัมน์ “เหะหะพาที” เพิ่มเติม