วิเคราะห์การระบาดไวรัส “โควิด-19” ของไทย ช่วงระหว่างวันที่ 16–22 มิถุนายน 2567 ที่ผ่านมา...จำนวนผู้ป่วยรักษาตัวในโรงพยาบาล 1,823 ราย เสียชีวิต 12 ราย ปอดอักเสบ 732 ราย และใส่ท่อช่วยหายใจ 347 ราย...ป่วยจนต้องนอนโรงพยาบาลลดลง 36.7%

แต่ตายเพิ่มขึ้น 71% ปอดอักเสบลดลง 2.1% และใส่ท่อเพิ่มอีก 2.4%

หากเทียบเวลานี้ของปีนี้กับปีที่แล้ว ผู้ป่วยนอนรักษาตัวในโรงพยาบาลเยอะกว่าปีก่อน 10.3% ส่วนปอดอักเสบมากกว่าปีก่อนถึง 2.7 เท่า และใส่ท่อช่วยหายใจมากกว่าปีก่อน 2.1 เท่า

จำนวนผู้ป่วยใส่ท่อช่วยหายใจ ถือว่าสูงสุดในรอบ 1 ปีครึ่งนับตั้งแต่ปลายธันวาคม 2567 เป็นต้นมา...คาดประมาณจำนวนคนติดเชื้อใหม่ต่อวันอย่างน้อย 13,022–18,086 ราย

ความรู้เกี่ยวกับธรรมชาติของการระบาดดูจะใช้ได้ดีในการประเมินสถานการณ์ ดังที่ได้เคยบอกไว้ก่อนหน้านี้ว่าระลอกนี้จะพีกในช่วงสองสัปดาห์แรกของมิถุนายน ไทยเราพีกระลอก JN.1 ไปเมื่อ 15 มิถุนายนที่ผ่านมา...สัปดาห์ล่าสุดจำนวนผู้ป่วยนอนโรงพยาบาลลดลง สะท้อนว่าน่าจะเป็นช่วงเริ่มขาลง

รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์
รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์

...

แต่...ไม่ควรประมาท คงต้องติดตามต่อว่ายังลงต่อเนื่องในสัปดาห์ถัดไปหรือไม่ จึงจะมั่นใจขึ้นในขณะที่จำนวนปอดอักเสบและใส่ท่อช่วยหายใจนั้นจะยังคงสูงต่อไปได้อีกระยะ โดยเป็นการเหลื่อมเวลาจากธรรมชาติของโรคในผู้ป่วย

ถามว่า...จะเป็นอย่างไรต่อ? เหลียวซ้ายแลขวาตอนนี้ KP.2, KP.3, LB.1 นั้นเป็นสายพันธุ์ลูกหลานของ “JN.1” ที่กำลังแข่งกันระบาดทั่วโลก แต่ด้วยข้อมูลที่มีในมือปัจจุบัน ทั้งสามตัวนี้ไม่ใช่สายพันธุ์ที่เปลี่ยนแปลงแบบก้าวกระโดดที่เรียกว่า “Saltation evolution” แบบ XBB หรืออื่นๆ ที่จะสร้างเซอร์ไพรส์ได้มากนัก

คาดว่า...สถานการณ์ของไทยเราจะเป็นช่วงขาลง (แต่ย้ำว่ายังมีโรคชุกชุม) ไปอีกราว 6-8 สัปดาห์ถึงต้นเดือนสิงหาคม จากนั้นน่าจะเป็น grace period...ระยะเวลาผ่อนผันระดับ baseline ไปราว 2-3 เดือน

โดยช่วงไตรมาสสุดท้ายน่าจะเริ่มเห็นว่ามีสายพันธุ์ใหม่ใดที่นำไปสู่ระลอกเทศกาล ซึ่งอาจไม่ใช่สามตัวข้างบนก็เป็นได้ คงต้องติดตามกันต่อไป

การใช้ชีวิตประจำวันโดยป้องกันตัวอย่างสม่ำเสมอ จะช่วยลดเสี่ยงไปได้อย่างราบรื่น ไม่ว่าจะระลอกใดสายพันธุ์ใด...ระวังที่แออัดการคลุกคลีใกล้ชิดโดยไม่ป้องกันตัวเป็นระยะเวลานาน เลี่ยงการแชร์ของกินของใช้กับผู้อื่น รักษาความสะอาด รวมถึงการมี symptom awareness...อาการบ่งชี้ดังที่เคยแนะนำไป

“ความเสี่ยงขึ้นอยู่กับพฤติกรรมของเราครับ” ข้อมูลข้างต้นนี้ รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ โพสต์ไว้ในเฟซบุ๊กส่วนตัว “Thira Woratanarat (ป๊ามี้คีน)” พร้อมยังย้ำเตือนอีกว่า “ยังติดกันเยอะนะครับ...ทั้งจากสังสรรค์ ที่ทำงาน รวมถึงสถานบันเทิง คอนเสิร์ตควรป้องกันตัวให้ดี”

ตอกย้ำ...ข้อควรรู้ หลังสัมผัสกับเชื้อไวรัสโควิด-19 รศ.นพ.ธีระ บอกว่า ไวรัสจะผ่านด่านต่างๆ ด่านแรกคือการตอบสนองของร่างกายผ่านกลไก HLA-DQA2 เพื่อต้านทานไวรัสไม่ให้สามารถติดเชื้อเข้าสู่ร่างกาย...ด่านสองคือกลไกการตอบสนองของ Interferon บริเวณเยื่อบุทางเดินหายใจส่วนบน

แต่หากไวรัสผ่านทั้งสองด่านมาได้ก็จะนำไปสู่การติดเชื้อในร่างกาย โดยจะมีการกระตุ้นให้เกิดการตอบสนองของระบบภูมิคุ้มกันในน้ำเลือดหรือแอนติบอดีและภูมิคุ้มกันระดับเซลล์ในระยะเวลาต่อมา

ที่น่าสนใจคือ หลังสัมผัสกับเชื้อไวรัส 3–10 วัน ไม่ว่าจะเป็นคนที่ไม่ติด (abortive infection) ติดสั้นๆ (transient infection) หรือติดจริงจัง (sustained infection) จะตรวจพบว่ามีระดับของ activated mucosal–associated invariant T (MAIT) cells สูงขึ้น และมี activated monocytes ต่ำลง

...

ซึ่งสองตัวนี้น่าจะสามารถใช้เป็น biomarkers...ดัชนีชี้วัดทางชีวภาพที่สามารถตรวจได้ตั้งแต่เนิ่นๆ บ่งถึงการสัมผัสกับเชื้อไวรัสโควิด-19

คำถามต่อมา...เหตุใดบางคนจึงรอดพ้นจากการติดเชื้อหรือติดเชื้อระยะสั้น?

การศึกษาแบบ human challenge จากทีมสหราชอาณาจักร เผยแพร่ในวารสาร Nature (19 มิ.ย.2024) พบว่า คนที่ไม่ติด (abortive infection) หรือติดสั้นๆ (transient infection) นั้นมีการตอบสนองอย่างรวดเร็วของ interferon บริเวณเยื่อบุทางเดินหายใจส่วนบน

และ...หรือมี expression ของ HLA-DQA2 ที่สูงกว่าคนที่ติดเชื้อนาน

...กลไกการตอบสนองของระบบภูมิคุ้มกันมีความซับซ้อนและแตกต่างกันไปในแต่ละคน แต่การศึกษาวิจัยช่วยให้เราเข้าใจและอธิบายปรากฏการณ์ต่างๆได้มากขึ้น

ประเด็นต่อมา...แอนติบอดีหลังฉีดวัคซีนหรือหลังติดเชื้อโรคโควิด–19 มักอยู่ได้ราว 6 เดือน แล้วลดลงไปอย่างรวดเร็ว

ผลการศึกษาจากทีมจีนที่เผยแพร่ในวารสาร Cell Reports (18 มิ.ย.2024) จึงเป็นเหตุผลที่เน้นย้ำให้ติดตามรับรู้สถานการณ์และป้องกันตัวควบคู่กันไปเสมอ

...

สอดคล้องกับงานวิจัยอื่นๆก่อนหน้านี้ ที่ชี้ให้เห็นว่าประสิทธิภาพวัคซีนช่วยป้องกันป่วยแบบมีอาการได้ราว 50% ณ 4 สัปดาห์ แล้วลดลงตามลำดับ และลดความรุนแรงของโรคและลดเสี่ยงเสียชีวิตราว 50% ณ 12–16 สัปดาห์

อัปเดตรายงานโควิด องค์การอนามัยโลกออกรายงานประจำเดือนช่วงกลางเดือนที่ผ่านมา ข้อมูลวิเคราะห์ถึงสิ้นเดือนพฤษภาคม ชี้ให้เห็นว่าปัจจุบัน JN.1 ยังคงเป็นสายพันธุ์ที่ครองการระบาดมากที่สุด

โดยมีรายงานตรวจพบใน 132 ประเทศ และพบในสัดส่วนราว 47.1% แต่มีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่องส่วนสายพันธุ์ KP.2 และ KP.3 นั้นเพิ่มขึ้นชัดเจน โดยล่าสุดครองสัดส่วน 22.7% และ 22.4% ตามลำดับ

ปัจจุบันจำนวนผู้ป่วยหนักในไอซียูต่อจำนวนผู้ป่วยนอนโรงพยาบาลจะอยู่ราว 0.13 หรือ 13% ในขณะที่จำนวนผู้เสียชีวิตต่อจำนวนผู้ป่วยนอนโรงพยาบาลจะอยู่ที่ 0.06-0.1 หรือ 6-10%

ประเด็นน่าสนใจสุดท้าย... “ลองโควิด” สัมพันธ์กับภูมิต่อต้านตนเอง เป็นงานวิจัยชิ้นที่สองแล้วที่พิสูจน์ให้เห็นความสัมพันธ์ของภูมิต่อต้านตนเอง (Autoantibody) กับการเกิดปัญหาลองโควิด โดยทีมจากมหาวิทยาลัย Yale สหรัฐอเมริกา เผยแพร่ใน medRxiv พบว่า

...

กลุ่มผู้ป่วย “ลองโควิด” นั้นมีจำนวนของ Autoantibodies มากกว่ากลุ่มคนปกติและกลุ่มที่เคยติดเชื้อแต่ไม่มีปัญหาลองโควิด นอกจากนี้แอนติบอดีจากกลุ่มผู้ป่วยลองโควิดที่มีอาการทางระบบประสาทนั้นก็พบว่าทำปฏิกิริยากับเนื้อเยื่อสมองและระบบประสาทส่วนกลาง

หากฉีดแอนติบอดีของกลุ่มผู้ป่วยลองโควิดใส่ในหนูทดลอง ก็พบว่าทำให้เกิดอาการผิดปกติที่คล้ายคลึงกับที่พบในผู้ป่วย นี่ถือเป็นความรู้ที่สำคัญมากและบ่งชี้ให้ทราบว่า Autoantibodies น่าจะมีบทบาทในกลไกที่ทำให้เกิดปัญหาลองโควิด...

“การป้องกันลองโควิดที่ดีที่สุดคือ ป้องกันตัวไม่ให้ติดเชื้อ รับวัคซีนครบตามกำหนด และหากติดเชื้อก็ควรรีบดูแลรักษา ยาต้านไวรัสมาตรฐานช่วยลดเสี่ยงลองโควิดได้”.

คลิกอ่านคอลัมน์ “สกู๊ปหน้า 1” เพิ่มเติม