นายกิตติกานต์ จอมดวง จารุวรพลกุล ผอ.ขสมก. เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 25 เม.ย.67 ตนได้ลงนามในหนังสือแจ้งบอกเลิกสัญญาจ้างกลุ่มร่วมทำงาน SCN-CHO โดยบริษัท ช ทวี จำกัด (มหาชน) และ บริษัท สแกน อินเตอร์ จำกัด (มหาชน) ในการซ่อมแซมบำรุงรักษารถยนต์โดยสารปรับอากาศใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิง (NGV) ยี่ห้อบอนลัค จำนวน 486 คัน ที่จอดเสีย เนื่องจากปัญหาการซ่อมบำรุง ซึ่ง ขสมก.ได้ตรวจสอบตามระเบียบและบอกเลิกสัญญาตามข้อ 21.2 พร้อมใช้สิทธิ์ในการริบหลักประกันสัญญาทั้งจำนวนวงเงิน 426 ล้านบาทและการเรียกค่าเสียหายและคิดค่าปรับจากการไม่ปฏิบัติตามสัญญา ซึ่งสงวนสิทธิ์เพิ่มเติมไว้โดยจะดำเนินการแจ้งไปยังเอกชนตามขั้นตอนภายในวันเดียวกัน พร้อมกันนี้ ขสมก.ได้รวบรวมเอกสารข้อเท็จจริงที่เอกชนไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขสัญญาจ้างฯ และการทิ้งงาน เพื่อแจ้งไปยังปลัดกระทรวงการคลังและกรมบัญชีกลางเพื่อพิจารณาขึ้นบัญชีดำตามระเบียบต่อไป

ผอ.ขสมก. กล่าวว่า ตามข้อเท็จจริงปรากฏปัญหาการซ่อมบำรุงตั้งแต่เดือน ก.ค.2567 ทำให้เอกชนต้องชำระค่าปรับจำนวนมากให้ ขสมก. โดย ขสมก.ใช้สิทธิ์ในการหักเงินค่าปรับตามข้อ 19 ของสัญญา ซึ่งกรณีดังกล่าวแสดงให้เห็นว่า บริษัทฯซึ่งจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ ไม่สามารถดำเนินการซ่อมบำรุงและจัดหาสต๊อกอะไหล่ ได้ตามเงื่อนไขสัญญา ทั้งนี้ภายหลัง ขสมก.ได้ดำเนินการจัดส่งหนังสือบอกเลิกสัญญา กลุ่มร่วมทำงาน SCN-CHO ในวันที่ 25 เม.ย.2567 โดยมีการลงตราประทับไปรษณีย์เรียบร้อย ถือว่าขั้นตอนการบอกเลิกครบถ้วน หลังจากนั้น ขสมก.จะสามารถเริ่มขั้นตอนการจัดหาผู้ดำเนินการซ่อมแซมบำรุงรักษารถโดยสาร NGV จำนวน 486 คัน รายใหม่ทันที โดยจะจัดตั้งคณะกรรมการร่างขอบเขตของงาน/คุณสมบัติเฉพาะของพัสดุ (TOR) ภายใน 3 วัน และใช้วิธีเฉพาะเจาะจงในการจัดหา เนื่องจากเป็นความจำเป็นเร่งด่วน ที่จะซ่อมฟื้นฟูรถโดยสาร NGV จำนวน 486 คัน เพื่อนำมาวิ่งให้บริการประชาชน ภายในเดือน มิ.ย.2567 รายงานข่าวแจ้งว่า ในการเรียกค่าเสียหายจากการยกเลิกสัญญาครั้งนี้ ได้ริบหลักประกันสัญญาที่วางเงินสดไว้ 426 ล้านบาททันที อีกส่วนหนึ่งเป็นค่าเสียหายและค่าปรับที่สงวนสิทธิ์ต่อไป โดยค่าเสียหาย อาทิ รายได้ที่หายไปจากที่ไม่มีรถ NGV 486 คันวิ่งให้บริการ, ค่าเสียหายจากกรณีถูกคู่สัญญาอื่น เช่น ผู้ซื้อโฆษณาบนรถฟ้องร้อง หรือเคลม เป็นต้น คาดว่ามีมูลค่ากว่า 1,000 ล้านบาท.

...

อ่าน “คอลัมน์หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ” ทั้งหมดที่นี่