เริ่มวิกฤติสำหรับสถานการณ์ “ฝุ่น PM 2.5 ภาคเหนือ และภาคอีสาน” ที่เกินค่ามาตรฐานในหลายพื้นที่มาตั้งแต่เดือน ก.พ.–เม.ย. “อันเป็นฤดูการเผา ไฟป่า และหมอกควันข้ามพรมแดน” ก่อให้เกิดความเข้มข้นของมลพิษทางอากาศสูงขึ้นเรื่อยๆ ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจ และการท่องเที่ยวมหาศาล

ทำให้ปีนี้ “ภาครัฐ” ต่างเร่งแก้ไขปัญหาด้วยปฏิบัติการเชิงรุกตั้งแต่ป้องกัน จับกุมการเผาป่าและควบคุมเฝ้าระวังฝุ่น PM 2.5 ไม่ให้เกินค่ามาตรฐานรองรับนักท่องเที่ยวในช่วงสงกรานต์นี้ รศ.ดร.วิษณุ อรรถวานิช คณะเศรษฐศาสตร์ ม.เกษตรศาสตร์ ผู้เชี่ยวชาญงานวิจัยด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและการเกษตร บอกว่า

ปกติแล้วในเดือน มี.ค.-เม.ย. “ภาคเหนือ” มักเป็นช่วงฤดูกาลเผาใน พื้นที่โล่งค่อนข้างเยอะทั้งในประเทศ และประเทศเพื่อนบ้านอย่าง “สปป.ลาว และเมียนมา” เท่าที่ติดตามสถานการณ์มาตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.-27 มี.ค.2567 ปรากฏพบการลักลอบการเผาในเขตป่าไม้ และพื้นที่เกษตรกรรมกระจายในหลายจังหวัด

แต่ถ้าเทียบกับปีที่แล้ว “การเผาในที่โล่งลดลง 26%” อย่างจุดความร้อนไฟป่าลดลง 29% และจุดความร้อนภาคการเกษตรลดลง 16.7% แยกเป็น “ข้าวโพด” มีพัฒนาการปรับลดการเผาลง 45% “อ้อย” ปรับลด 16% “ข้าว” ลดลงเพียง 6% ทำให้ยังไม่เป็นไปตามเป้าที่ต้องลดจุดความร้อนลง 50% ในปีนี้ โดยเฉพาะภาคเหนือ 17 จังหวัด

...

ทว่าหากมาดูในมิติ “มาตรการแก้ปัญหาฝุ่น PM 2.5” ส่วนใหญ่ยังมุ่งเน้นส่งเสริมการลดการเผาใบอ้อย ด้วยการช่วยเงินอุดหนุนการตัดอ้อยสดตันละ 120 บาท มาตั้งแต่ปี 2564 เพื่อให้ปริมาณอ้อยไฟไหม้ลดลงในปี 2565/ 2566 ไม่เกิน 5% และในฤดูการผลิตปี 2566/2567 การตัดอ้อยไฟไหม้เข้าหีบต้องเป็น 0%

เมื่อย้อนไปตรวจสอบวันที่ 25 มี.ค.2567 พบว่า “ปริมาณการเผาใบอ้อยยังอยู่ที่ 29.65%” สะท้อนว่านโยบายให้เงินแก่เกษตรกรไร่อ้อย “ไม่สามารถลดการเผาได้จริง” แถมยังเป็นการใช้งบประมาณที่ไม่ถูกต้องอีกด้วย เพราะในมุมทางเศรษฐศาสตร์ “การให้เงินสนับสนุนแก่เกษตรกร” ควรต้องมีความยั่งยืนมากกว่านี้

ถัดมาในส่วน “ข้าวโพด” ก็เริ่มเห็นผู้ประกอบการตระหนักต่อ “ปัญหาฝุ่น PM 2.5” ทำให้ช่วงที่ผ่านมามีการรณรงค์ลดการเผาในการจัดแคมเปญ “ถ้าเผาข้าวโพดเราจะไม่รับซื้อ” สามารถสร้างแรงกระตุ้นให้เกษตรกรลดการเผาได้ระดับหนึ่งเท่านั้น เพราะด้วยเป็นเพียง “การขอความร่วมมือ” มิใช่มาตรการบังคับเป็นรูปธรรมที่ชัดเจน

เช่นเดียวกับ “ข้าว” ที่ยังไม่มีวี่แววในการลดการเผาเมื่อเทียบกับพืชชนิดอื่น สิ่งนี้ทำให้เห็นว่าการจะสามารถลดการเผาในภาคการเกษตรได้มักโยงใยนโยบาย และมาตรการแก้ปัญหาฝุ่น PM 2.5 ทั้งในและนอกประเทศ

นอกจากนี้แหล่งกำเนิดยังมาจาก “ไฟป่าเขตอนุรักษ์–ป่าสงวน” เรื่องนี้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติฯก็เปิดปฏิบัติการปรับรูปแบบจัดการดับไฟป่า ปิดป่าห้ามคนเข้า ทำให้ปีนี้สามารถลดการเผาได้ราว 29% จากปีที่แล้ว

แต่ว่ารูปแบบยังคงเน้น “มาตรการเชิงบังคับ” ทำให้สุดท้ายรากเหง้าของปัญหาก็ไม่ได้รับการแก้ไขที่เกิดจากชาวบ้านไปหาของป่าแล้ว “ลักลอบเผาหวังให้ต้นผักหวานแตกยอดอ่อนเพื่อเก็บขาย” ดังนั้น เมื่อไม่มีทางเลือกอื่นให้ชาวบ้านมีรายได้ที่ดี ย่อมทำให้ในปีหน้าจะกลับเข้าป่าหาเก็บของขายอีกเช่นเดิม

หนำซ้ำในส่วน “หมอกควันข้ามพรมแดน” นับวันยิ่งเป็นปัญหาใหญ่สำหรับภาคเหนือต้องเผชิญฝุ่นพิษสะสมมายาวนานจาก “แหล่งกำเนิดการเผาเชิงเกษตรในเมียนมา และ สปป.ลาว” ตั้งแต่เดือน ก.พ.-เม.ย. ทำให้สถานการณ์ฝุ่น PM 2.5 มักจะยกระดับรุนแรงในช่วงเทศกาลสงกรานต์ กระทบการท่องเที่ยวในช่วง 4-5 ปีมานี้

เท่าที่ทราบ “รัฐบาลไทยพยายามเข้าไปเจรจากับเมียนมา และ สปป.ลาวทุกปี” แต่ก็ไม่มีมาตรการใหม่เพิ่มเติมที่จะสามารถลดปัญหาลงได้ เนื่องด้วยการไปบอกให้ประเทศเพื่อนบ้าน “หยุดเผาทำได้ไม่ยาก” แต่การหยุดเผาจริงมักมีต้นทุนเสมอ “ตามหลักการพูดคุยอย่างเดียวมักไม่สัมฤทธิผล” เว้นแต่จะเสนอให้องค์ความรู้ควบคู่กับมอบเงินช่วยเหลือแก่ “เมียนมาและ สปป.ลาว” ด้วยระดับการพัฒนาเศรษฐกิจที่ไม่เท่ากัน

...

ทว่าการช่วยเหลือนี้ “มิได้โอนเงินให้ฟรีแต่เป็นการให้อย่างมีเงื่อนไข” สำหรับในการแก้ปัญหาหมอกควันข้ามพรมแดนด้วยกลไกเฝ้าประเมินผลหากทำได้จริง “ปีถัดไปก็ให้เงินต่ออีก” ที่ต้องใช้เวลาพอสมควร

แต่เรื่องนี้ก็ใช่ว่า “ประเทศไทยร่ำรวย” เพียงแต่แหล่งกำเนิดหมอกควันเกิดขึ้นนอกราชอาณาจักร “เราไม่อาจจัดการเองได้” ดังนั้น หากไม่ช่วยเหลือประเทศเพื่อนบ้าน “คนไทย” ก็อาจต้องทนสูดดมควันพิษกันต่อไป

ดังนั้น ตามหลัก “แก้ปัญหาต้องมองผลประโยชน์ส่วนรวม” กรณีเสนอเงินให้ประเทศเพื่อนบ้านแก้ปัญหาฝุ่นพิษหลัก 100-1,000 ล้านบาทต่อปี “แลกกับสุขภาพคนไทย” สามารถลดต้นทุนสุขภาพได้มหาศาล เพราะถ้าดูความเสียหายทางเศรษฐศาสตร์จากฝุ่นพิษต่อครัวเรือนไทยปี 2562 มีมูลค่ากว่า 2.173 ล้านล้านบาท

แยกเป็น กทม. 4.3 แสนล้านบาท ชลบุรี 8 หมื่นล้านบาท นครราชสีมา เชียงใหม่ 7 หมื่นล้านบาท ดังนั้นการให้เงินประเทศเพื่อนบ้าน “ลดแหล่งกำเนิดหมอกควันข้ามพรมแดน” จะช่วยลดต้นทุนสุขภาพที่คุ้มค่าแถมยังสร้างภาพลักษณ์รักษ์โลกรักษาสิ่งแวดล้อม มีผลต่อการลงทุนในต่างประเทศ ได้รับการสนับสนุนมีผลกำไรคืนมากมาย

...

ตอกย้ำด้วย “ประเทศไทย” ไม่มีกฎหมายเอาผิดประเทศสร้างมลพิษทางอากาศเหมือน “สิงคโปร์” ที่มีหน่วยงาน Environmental Protection Agency (EPA) ทำหน้าที่หาหลักฐานกับบริษัทก่อมลพิษในการดำเนินคดี

เพราะด้วย “ประเทศไทยไม่มีหน่วยงานหลัก” ดูแลเกี่ยวกับมลพิษทางอากาศที่บูรณาการของทุกภาคส่วนเกี่ยวกับ “เรื่องมลพิษข้ามพรมแดน” ไม่เหมือนต่างประเทศที่มีหน่วยงานเฉพาะ สืบสวนสอบสวนบริษัทที่ก่อให้เกิดมลพิษต่างๆ ถ้ามีข้อมูลก็สามารถดำเนินคดีได้ ปัญหาการเผา หรือมลพิษข้ามพรมแดนก็จะลดลง

อนาคตทางออกคือ “ออกกฎหมายอากาศสะอาด” ในการปรับโครงสร้างให้มีหน่วยงานดูแลมลพิษทางอากาศเฉพาะ เพื่อส่งสัญญาณให้ประเทศเพื่อนบ้าน “ตระหนักต่อหมอกควัน” นำไปสู่การปรับตัวมากขึ้น

ปัญหามีต่ออีกว่า “ประเทศไทยยังขาดระบบตรวจสอบย้อนกลับ” สำหรับใช้ตรวจสอบว่าการนำเข้าสินค้าทางเกษตรนั้นเกี่ยวข้องกับการเผาหรือไม่ “ทำให้ไม่สามารถติดตามต้นทางให้มารับผิดชอบปัญหาที่เกิดขึ้นได้” กลายเป็นการเปิดช่องว่างให้ภาคเอกชนสนับสนุนการเผาในภาคเกษตรเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

ดังนั้น ระบบตรวจสอบย้อนกลับว่า “เอกชนรับซื้อสินค้าเกษตรจากประเทศเพื่อนบ้าน” จึงมีความสำคัญในการแก้ปัญหาหมอกควันข้ามแดน “เท่านั้นยังไม่พอต้องส่งเสริมเศรษฐกิจแบบแบ่งปันควบคู่ไปด้วย” โดยเฉพาะเครื่องจักรที่มีราคาแพงด้วยการให้ “ภาคเอกชน” เข้าไปลงทุนเปิดเช่าเครื่องจักรการเกษตรราคาถูก

...

สิ่งนี้ล้วนเป็น “การจัดการปัญหาหมอกควันข้ามแดน” มิใช่เพียงแค่เจรจาขอให้หยุดเผา มักไม่ตอบโจทย์การแก้ปัญหาหากเงินในกระเป๋าเกษตรกร ลดลง ดังนั้น การให้เงินอย่างมีเงื่อนไขแก่เมียนมา และลาวมีความจำเป็นแต่ปัจจุบันกลับไม่เห็นเป็นรูปธรรม นำมาซึ่งหมอกควันข้ามแดนกระทบช่วงเทศกาลสงกรานต์รุนแรง

ประเด็นสำคัญคือ “ในปี 2567 คาดว่าปริมาณฝนจะน้อยกว่าค่าเฉลี่ยปกติ” เรื่องนี้กลายเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการก่อให้เกิดสถานการณ์ฝุ่น PM 2.5 ในเดือน เม.ย.นี้พีกสุด มีความรุนแรงเลวร้ายมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะภาคเหนือ และภาคอีสานที่มีพื้นที่ติดกับประเทศเมียนมา และ สปป.ลาว มีโอกาสได้รับผลกระทบค่อนข้างสูง

ไม่เท่านั้น “กรุงเทพฯก็ไม่น่ารอดพ้นจากฝุ่น PM 2.5” แม้จะมิใช่ช่วงปรากฏการณ์ฝาชีครอบต่ำก็ตาม แต่ด้วยเดือน เม.ย.ปริมาณฝนน้อยมักเป็นช่วง “การเผาภาคเกษตรและป่าไม้” ที่หนักหน่วงทั้งในประเทศ และประเทศเพื่อนบ้าน ส่งผลให้ลมอาจเป็นตัวพัดผ่านเข้ามาในพื้นที่ ทำให้ในช่วงเดือน เม.ย.นี้ต้องเจอฝุ่นพิษเยอะขึ้นก็ได้

นี่คือสถานการณ์ “มลพิษทางอากาศ” นับวันยิ่งรุนแรง กระทบการท่องเที่ยวมากขึ้นเรื่อยๆ “รัฐบาล” คงต้องนำมาตรการใหม่ๆเพิ่มเติมให้ยั่งยืนกว่าที่ทำอยู่ในปัจจุบันนี้ มิเช่นนั้นต่างชาติที่กำลังตัดสินใจเดินทางมาในไทยอาจชะลอไว้ก่อน หรือเปลี่ยนไปเที่ยวประเทศอื่น ที่คุณภาพอากาศดีกว่าเมืองไทยแทน.

คลิกอ่านคอลัมน์ “สกู๊ปหน้า 1” เพิ่มเติม