เมื่อ 2-3 วันที่ผ่านมานี้เอง ได้มีการวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวางในกรณีที่นิสิตจุฬาฯได้จัดแห่แหน “พระเกี้ยว” ด้วยรถกอล์ฟและมีการประดับประดาที่ลวกๆเหมือนไม่ให้เกียรติแก่พระเกี้ยว นำความสะเทือนใจมาสู่ผู้ที่ได้เห็นภาพนี้จำนวนมาก
ผมเองเป็นบุคคลหนึ่งที่ไม่อยากเห็นการขัดแย้งในสังคมไทย และได้เขียนถึงความรักสามัคคีของคนไทยมาโดยตลอด คงจะไม่เขียนอะไรให้ การวิพากษ์วิจารณ์และการขัดแย้งในประเด็นนี้รุนแรงยิ่งขึ้นไปอีก
แต่ในฐานะผู้ที่มีความเข้าใจมีความเคารพและศรัทธา “พระเกี้ยว” หากจะไม่เขียนถึงเรื่องนี้เลยก็ดูกระไรอยู่ และจะกลายเป็นคนที่ไม่เห็นคุณค่าของ “พระเกี้ยว” ไปอีกคนหนึ่งเสียเท่านั้น
ผมเป็นลูก “พระเกี้ยว” ในฐานะศิษย์เก่า โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา ครับ ซึ่งใช้ “พระเกี้ยว” เป็นสัญลักษณ์เช่นเดียวกับจุฬาฯ
ช่วงที่ผมสอบเข้าเรียนโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาเมื่อ พ.ศ.2501 นั้น ผู้คนจำนวนไม่น้อยในประเทศไทย ยังเข้าใจผิดเรียกโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาว่า “โรงเรียนเตรียมจุฬาฯ”
เหตุเพราะเมื่อ พ.ศ.2480 หรือก่อนนั้นเล็กน้อย ระบบการศึกษาของเรากำหนดให้มีการจัดตั้ง “โรงเรียนเตรียม” สําหรับเข้าเรียนมหาวิทยาลัยดัง เช่น “ธรรมศาสตร์” ก็มี “เตรียม มธก.” ซึ่งเป็นโรงเรียนสำหรับเตรียมเข้าธรรมศาสตร์
สำหรับจุฬาฯนั้น สภาจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้มอบหมายให้อธิการบดีจุฬาฯยุคดังกล่าว ก่อตั้งโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยขึ้นในการประชุม เมื่อวันที่ 3 มกราคม พ.ศ.2480
อีกทั้งได้แต่งตั้ง ม.ล.ปิ่น มาลากุล เป็นผู้อำนวยการ โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาแห่งจุฬาลงกรณ์ ท่านแรก
...
แม้ต่อมาในเดือนกรกฎาคม 2490 จะมี พ.ร.บ.การศึกษาออกมา ใหม่ ส่งผลให้โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาแห่งจุฬาลงกรณ์ต้องแยกตัวจากจุฬาฯไปสังกัดกระทรวงศึกษาธิการ และหมดสิทธิ์เข้าเรียนต่อจุฬาฯ หลังเรียนจบจะต้องไปสอบเข้าเช่นเดียวกับโรงเรียนอื่นๆเท่านั้น
แต่ผู้คนรุ่นเก่าๆก็ยังเรียกติดปากว่า เตรียมจุฬาฯ มาจนถึงปี 2501 หรืออีก 10 ปีต่อมา ที่ผมมาสอบเข้าโรงเรียนเตรียมอุดม
ในช่วงที่ผมเข้าเรียน มีอาจารย์อาวุโสท่านหนึ่งที่พวกเราเรียกว่า “อาจารย์เจ้าคุณ” จะมีราชทินนามว่าอย่างไรจำไม่ได้เสียแล้ว เพราะเรียกกันว่า “อาจารย์เจ้าคุณ” จนติดปาก
ท่านจะมาเล่าเรื่องเก่าๆ สมัยโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษายังขึ้นอยู่กับจุฬาลงกรณ์ และเล่าถึงความเป็นมาของ “ตราพระเกี้ยว” และ “สี ชมพู” ที่เป็นสัญลักษณ์ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งถ่ายทอดมาเป็นสัญลักษณ์ของโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาด้วยในที่สุด
สรุปข้อใหญ่ ใจความได้ว่า “พระเกี้ยว” หรือ “จุลมงกุฎ” เป็นศิราภรณ์ประดับพระเกศา หรือพระเศียร ของพระราชโอรส พระราชธิดาของพระมหากษัติริย์ และต่อมา พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (ร.5) ได้ทรงนำมาใช้เป็น “พิจิตรเลขา” ประจำรัชกาล
ทั้งนี้ เพราะพระปรมาภิไธย “จุฬาลงกรณ์” ของพระองค์ท่านนั้นแปลว่า เครื่องประดับศีรษะ หรือ “จุลมงกุฎ” หรือมงกุฏน้อย หรือ กล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือ “พระเกี้ยว” นั่นเอง
เท่าที่มีการบันทึกไว้เมื่อรัชกาลที่ 5 ทรงตั้ง โรงเรียนฝึกหัดข้าราชการพลเรือน ก็โปรดเกล้าให้ใช้ “พระเกี้ยว” เป็นตราสัญลักษณ์ของโรงเรียนและใช้มาตลอดจนถึงยุควิวัฒนาการมาเป็นจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ในปัจจุบันไม่เพียงแต่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเท่านั้นที่ใช้ตราสัญลักษณ์ “พระเกี้ยว” ยังมีมหาวิทยาลัยอื่นๆ และโรงเรียนต่างๆอีกจำนวนหนึ่งได้ใช้ “ตราพระเกี้ยว” เป็นสัญลักษณ์ด้วย แต่ทั้งนี้ก็จะต้องทูลเกล้าขอพระบรมราชานุญาตเสียก่อนจึงจะนำไปใช้ได้
พระเกี้ยวจึงเป็นของสูงและศักดิ์สิทธิ์ที่รัชกาลที่ 5 ได้พระราชทานแก่พสกนิกรของพระองค์ และรัชกาลต่อมาก็จะทรงโปรดเกล้าฯให้ใช้ได้ เมื่อมีการกราบบังคมทูลเกล้าฯขอพระราชทานดังที่กล่าวไว้แล้ว
จึงควรที่ทุกๆสถาบันที่ได้รับพระราชทานโอกาสอันยิ่งใหญ่นี้จะนำ “พระเกี้ยว” ไปใช้ด้วยความเคารพเทิดทูนให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้
เนื่องเพราะการเทิดทูนพระเกี้ยวนั้นมีความสำคัญเสมือนหนึ่งเทิดทูนพระปิยมหาราช หรือในหลวงรัชกาลที่ 5 ของเราโดยตรง.
“ซูม”
คลิกอ่านคอลัมน์ “เหะหะพาที” เพิ่มเติม