ในปริอรรถาธิบายแห่งพระเครื่อง เล่มพระสมเด็จ (สำนักพิมพ์คลังวิทยาวังบูรพา พิมพ์ครั้งที่ 6 พ.ศ.2522) ตรียัมปวาย เล่าเรื่องราว สมเด็จพุฒาจารย์โต วัดระฆัง ไว้ 39 เรื่อง

เรื่อง ดั่งคันรถา อยู่ในชุดเตือนสติบุคคล เป็นเรื่องเอกที่เล่าขานต่อๆกันมามากกว่าเรื่องอื่น

ทุกถ้อยคำสำนวน เป็นสำนวนเก่าแท้ๆ ดังต่อไปนี้

เมื่อพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ ได้ทรงพระราชดำริให้ สมเด็จเจ้าพระยาองค์น้อย และพระยาสามภพพ่าย ดำเนินการดัดแปลงสร้างสรรค์สวนสระปทุมขึ้นในท้องที่หลวง คลองบางกะปิ ให้เป็นรมณียสถาน

มีเกาะแก่งแอ่งน้ำ งามสะพรั่งไปด้วยปทุมชาตินานาพันธุ์ วิจิตรตระการตายิ่งนัก

ทรงเสด็จมาพักผ่อนสำราญพระราชหฤทัยเป็นบางโอกาส แวดล้อมด้วยเหล่าอำมาตย์ข้าราชบริพาร

และโปรดเกล้าให้สังฆการีจัดนิมนต์พระสงฆ์อารามต่างๆ หมุนเวียนมารับพระราชทานบิณฑบาตโดยเรือสำปั้น

ครั้นพอถึงเวรของวัดระฆัง เจ้าพระคุณฯก็นำพระราชาคณะสามัญอีก 10 รูป พายเรือสำปั้นมีบาตรตั้งอยู่ตอนกลางลำ แต่ละรูปพายเรือจอดรออยู่ตามหมายกำหนดการ

เมื่อได้เวลาเจ้าพระคุณฯก็พายเรือนำขบวนมาจอดเทียบที่พลับพลาทรงบาตร

พอล้นเกล้าทอดพระเนตรเห็นเจ้าพระคุณฯ ก็ทรงพระราชดำรัสทักทาย ด้วยพระอาการดีพระทัยยิ่ง แล้วทรงตรัสถามว่า “สระปทุมนี้งามไหม ขรัวโต”

เจ้าพระคุณฯก็ถวายพระพรตอบพระราชดำรัสว่า

“พระมหาบพิตรราชสมภาร สระปทุมนี้ งามดั่งราชรถ ขอถวายพระพร”

เมื่อได้ทรงสดับเช่นนั้น พระพักตร์ก็ลดความเบิกบานลงทันที

ในฐานะที่เคยทรงสมณเพศมาช้านาน ก็เข้าพระทัยได้ว่าเจ้าพระคุณฯ มีความหมายในการถวายพระพรอย่างไร กล่าวคือในโลควัคคธมมบท มีพระบาลีคาถาอยู่ตอนหนึ่ง

...

“เอถ ปัสถิมัง โลกัง จิตตัง ราชรถูปมัง ยัตถ พาลา วิสี ทันติ นัตถิ สังโฆ วิชานตัง”-

“สูทั้งหลายมาดูโลกนี้ อันตระการดุจราชรถ ที่คนโฉดเขลาพากันติดอยู่ แต่ส่วนผู้รู้หาข้องติดอยู่ไม่”

ครั้นเมื่อรับพระราชทานบิณฑบาตแล้ว แทนที่เจ้าพระคุณฯจะพายเรือเคลื่อนไปตามปกติ กลับพายเรือวนเวียนอยู่หน้าพลับพลาทรงบาตรนั้นเอง

ทรงขุ่นพระราชหฤทัยอยู่แล้ว จึงทรงพระราชดำรัสถามว่า

“โยมก็ตักบาตรถวายแล้ว ไฉนขรัวโตจึงยังไม่ไป มัวพายวนเวียนอยู่ด้วยเหตุใด?”

เจ้าพระคุณฯก็ถวายพระพรว่า

“อาตมภาพคอยช่วยเหลือพระราชาคณะบางรูปที่ไม่สันทัดในการพายเรือ ทั้งว่ายน้ำก็ไม่เป็นอีกด้วย ฉวยพลาดพลั้งเรือคว่ำลง จะได้ช่วยทัน ขอถวายพระพร”

ในหลวงทรงได้พระสติ และมิได้ตรัสประการใดอีก

และต่อมาได้ทรงมีพระราชโองการ โปรดให้ระงับการถวายบาตรทางเรือแต่นั้นมา

นับว่าเป็นวาระที่สอง ที่เจ้าพระคุณได้เตือนพระสติพระเจ้าอยู่หัวอย่างอาจหาญและหมิ่นเหม่ต่อราชภัยยิ่งนัก แต่ก็หาได้รับโทษภัยอันใดไม่ ทั้งได้ผลทุกประการเช่นเคย.

กิเลน ประลองเชิง

คลิกอ่านคอลัมน์ “ชักธงรบ” เพิ่มเติม