เมื่อวันที่ 19 มี.ค.67 นายไทวุฒิ ขันแก้ว ผอ.สำนักการวางผังและพัฒนาเมือง (สวพ.) กทม. เปิดเผยว่า สวพ.ได้จัดประชุมสัมมนารับฟังความเห็นจากผู้ทรงคุณวุฒิ หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และภาคประชาชน เพื่อกำหนดแนวทางในการจัดทำผังแม่บทการพัฒนาพื้นที่เขตบางขุนเทียนและพื้นที่ต่อเนื่อง ตามโครงการวางแผนพัฒนาศูนย์ชุมชนในพื้นที่เขตบางขุนเทียน เนื่องจากพื้นที่เขตบางขุนเทียนและบางบอน เป็นพื้นที่ที่มีการใช้ประโยชน์ที่ดินที่หลากหลาย ประกอบด้วย ด้านพาณิชยกรรมขนาดใหญ่ มีแหล่งอุตสาหกรรมหลายประเภท และเป็นที่ตั้งถิ่นฐานของชุมชนดั้งเดิมที่มีอัตลักษณ์ ขณะเดียวกันยังเป็นบริเวณเดียวของกรุงเทพฯที่ติดทะเลอ่าวไทย ซึ่งมีการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำและมีป่าชายเลนชายฝั่งทะเล แต่ปัจจุบันมีการขยายตัวของเมืองพร้อมกับการพัฒนาระบบคมนาคมขนส่ง ทดแทนพื้นที่เกษตรกรรม อีกทั้งการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศที่รุนแรงมาก จึงจำเป็นต้องกำหนดการใช้ประโยชน์พื้นที่ให้เหมาะสมกับสถานการณ์การเปลี่ยนแปลง

นายไทวุฒิกล่าวว่า การศึกษาครั้งนี้จะนำเอาข้อมูลและผลการวิเคราะห์ร่วมกับการรับฟังความคิดเห็นจากทุกภาคส่วนมาใช้ในการวางผังชุมชนในเขตบางขุนเทียน รวมทั้งมีการส่งเสริมการพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานและสิ่งอำนวยความสะดวกรองรับการขยายตัวของชุมชนอย่างมีประสิทธิภาพ มีการออกแบบผังพัฒนาพื้นที่พิเศษที่จะตอบสนองต่ออัตลักษณ์ของพื้นที่ นอกจากนี้ยังได้ศึกษาแนวทางการพัฒนาจากพื้นที่ที่มีลักษณะคล้ายคลึงกันมาพัฒนา เช่น พื้นที่ศูนย์กลางพาณิชยกรรมและที่อยู่อาศัย Jarong Lake District ในสิงคโปร์ เป็นการพัฒนาในรูปแบบการใช้ที่ดินผสมผสาน ฟื้นฟูพื้นที่ศูนย์กลางเมืองใหม่ เชื่อมต่อกับพื้นที่อุตสาหกรรมเดิม รองรับแหล่งงาน ที่อยู่อาศัย กิจกรรมในด้านต่างๆ และสร้างย่านนวัตกรรมการวิจัยและการผลิต หรือเมืองโทยามะ จังหวัดโทยามะที่ญี่ปุ่น เป็นการพัฒนาเมืองในรูปแบบเมืองกะทัดรัด ส่งเสริมให้ใช้ระบบขนส่งสาธารณะ โดยการพัฒนาระบบรถไฟฟ้าส่งเสริมให้ประชาชนอยู่อาศัยในพื้นที่ที่จัดสรรไว้ให้ในบริเวณใกล้เคียงกับเส้นทางขนส่งสาธารณะ โดยภาครัฐสนับสนุนช่วยเหลือด้านที่อยู่อาศัย และส่งเสริมอุตสาหกรรมในท้องถิ่น รวมถึงพื้นที่ชุมชนเกษตรกรรมชายฝั่งและการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ เมืองบรู๊คลิน รัฐนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา เป็นที่ฟื้นฟูสภาพชายฝั่ง โดยใช้หลักการทางธรรมชาติ เช่น การดำรงชีวิตของหอยนางรม ที่อาศัยอยู่บนโครงสร้างเชือกถัก มาประยุกต์ใช้โครงสร้างกำแพงลดความรุนแรงคลื่นน้ำทะเลกัดเซาะริมตลิ่งและน้ำหนุน และช่วยฟื้นฟูระบบนิเวศชายฝั่ง โดยอาศัยกระบวนการกรองน้ำเสียของหอยนางรม ตัวกรองให้เป็นแหล่งอนุบาลสัตว์น้ำ และพืชน้ำ เป็นต้น.

...

อ่าน "คอลัมน์หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ" ทั้งหมดที่นี่