นพ.สุระ วิเศษศักดิ์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) เปิดเผยว่า สบส.ส่งเสริมการให้บริการที่เกี่ยวข้องด้านเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ทางการแพทย์รวมถึงการพิจารณาอนุญาตให้มีการตั้งครรภ์แทนเพื่อเป็นช่องทางหนึ่งในการเพิ่มการเข้าถึงบริการของผู้มีภาวะมีบุตรยาก โดยปัจจุบัน ประเทศไทยมีสถานพยาบาลที่ผ่านการรับรองการให้บริการเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ทางการแพทย์ 114 แห่ง มีการพิจารณาอนุญาตดำเนินการให้มีการตั้งครรภ์ไปแล้ว 745 ราย และมีอัตราความสำเร็จในการให้บริการรักษาผู้มีบุตรยากถึงร้อยละ 46 ซึ่งถือเป็นอัตราความสำเร็จที่ค่อนข้างสูง แต่อย่างไรก็ตาม สบส.จะมีการพัฒนาระบบประกันสุขภาพสำหรับกรณีการตั้งครรภ์แทน โดยเบื้องต้นมีขอบเขตในการทำประกันในกรณีต่างๆ ดังนี้

1.ครอบคลุมหญิงที่รับตั้งครรภ์แทนตั้งแต่เริ่มตั้งครรภ์จนถึงหลังคลอดเป็นเวลาไม่น้อยกว่า 30 วัน 2.โรคหรือภาวะแทรกซ้อนที่เกิดขึ้นหรือเกี่ยวเนื่องจากการตั้งครรภ์ การคลอดและหลังคลอด ซึ่ง สบส.จะพัฒนาการทำประกันกรณีการตั้งครรภ์แทน โดยได้มีการหารือกับสำนักงานคณะกรรมการกำกับส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) สมาคมประกันชีวิตไทยและบริษัทสมาชิก สมาคมประกันวินาศภัยไทยและบริษัทสมาชิกร่วมพิจารณาเกณฑ์ร่างกรมธรรม์ คาดว่าจะแล้วเสร็จในช่วงไตรมาสที่ 3 ของปีงบฯ 2567.

อ่าน “คอลัมน์หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ” ทั้งหมดที่นี่