เมื่อปลายปีที่ผ่านมา การประชุมคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือ “บอร์ด สปสช.” มีวาระพิจารณา “ข้อเสนอการเพิ่มสิทธิประโยชน์การรักษามะเร็งด้วยอนุภาคโปรตอนในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ”

ประเด็นสำคัญมีว่า...ที่มาของสิทธิประโยชน์นี้มาจากข้อเสนอของสมาคมรังสีรักษาและมะเร็งวิทยาแห่งประเทศไทย เป็นข้อเสนอที่ได้จากการประชุมทีมแพทย์รังสีรักษาและมะเร็งวิทยาผู้เชี่ยวชาญการฉายรังสีโรคมะเร็งในเด็กและนำเสนอเข้าสู่การพิจารณาของคณะทำงานยกระดับความเป็นเลิศด้านการแพทย์ขั้นสูงสุด

ในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 1/2566 เมื่อวันที่ 19 ตุลาคม 2566

พุ่งเป้าไปที่การรักษามะเร็งด้วย “อนุภาคโปรตอน” เป็นวิธีรักษามะเร็งที่มีประสิทธิผล มีอัตราการควบคุมโรคเฉพาะที่และการรอดชีวิตที่สูงในกลุ่ม “โรคมะเร็งสมอง” ในเด็ก ช่วยลดผลข้างเคียงในทุกด้านเมื่อเปรียบเทียบกับการฉายรังสีโฟตอนแบบเดิม

โดยการรักษาต้องใช้บุคลากรทางการแพทย์และผู้เชี่ยวชาญ ประกอบด้วย แพทย์รังสีรักษา แพทย์รังสีวินิจฉัย แพทย์เวชศาสตร์นิวเคลียร์ กุมารแพทย์ทางโลหิตวิทยาและรังสี (กรณีผู้ป่วยเด็ก) วิสัญญีแพทย์ นักฟิสิกส์การแพทย์ นักรังสีเทคนิค พยาบาล และวิศวกร

...

ปัจจุบันในประเทศไทยมีหน่วยบริการที่ให้บริการฉายรังสีด้วยอนุภาคโปรตอนเพียงแห่งเดียว คือ ศูนย์โปรตอนสมเด็จพระเทพฯ รพ.จุฬาลงกรณ์ เปิดให้บริการมาตั้งแต่สิงหาคม 2564 ดังนั้นในการบริหารจัดการจ่ายชดเชย สปสช. จึงใช้รูปแบบเหมาจ่ายรายปีจำนวน 50 ล้านบาท ให้แก่ศูนย์โปรตอนสมเด็จพระเทพฯ

พร้อมให้มีการจัดระบบการส่งต่อ ประสานงาน เพื่อจัดบริการให้แก่ผู้ป่วยทุกวันตลอด 24 ชั่วโมง ซึ่งในกรณีการนำส่งผู้ป่วยสามารถเบิกจ่ายค่าพาหนะรับส่งผู้ป่วยอัตราเฉลี่ย 2,300 บาทต่อครั้ง

นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ บอกว่า หลังจากบอร์ด สปสช.เห็นชอบแล้ว จากนี้ สปสช. จะออกประกาศหลักเกณฑ์รองรับการจ่ายชดเชยค่าบริการ พร้อมดำเนินการตามที่บอร์ด สปสช.มอบหมาย ทั้งการกำกับติดตามประเมินผลการเข้าถึงบริการ

นับรวมไปถึงการประสานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการประเมินประสิทธิภาพประสิทธิผลการรักษา รวมทั้งจัดระบบส่งต่อผู้ป่วย เพื่อความสะดวกในการเข้ารับบริการอย่างเท่าเทียมกันทุกสิทธิ

นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี
นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี

รายงานต่อคณะทำงานยกระดับความเป็นเลิศด้านการแพทย์ขั้นสูงสุดฯทุก 4 เดือนและคณะอนุกรรมการกำหนดหลักเกณฑ์การดำเนินงานและบริหารจัดการกองทุนฯ

นอกจากนี้จะประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการสนับสนุนค่าใช้จ่ายอื่นที่นอกเหนือจากทางการแพทย์ เพื่อสนับสนุนบริการและการดูแลผู้ป่วย เช่น กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์

นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ในฐานะประธานกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เสริมว่า รัฐบาลโดยกระทรวงสาธารณสุข มีนโยบาย “มะเร็งครบวงจร” เพื่อดูแลผู้ป่วยมะเร็งให้เข้าถึงการรักษาและมีคุณภาพชีวิตที่ดี ซึ่งการพัฒนาชุดสิทธิประโยชน์ที่เป็นการยกระดับ...บัตรทองอัปเกรด

...เป็นส่วนสนับสนุนที่สำคัญทำให้นโยบายนี้บรรลุเป้าหมายได้ และเพื่อให้เกิดความครอบคลุมการรักษาที่ดียิ่งขึ้น ซึ่งการรักษามะเร็งด้วยอนุภาคโปรตอนในระบบบัตรทอง เป็นวิธีการฉายรังสีด้วยอนุภาคโปรตอนที่เป็นเทคนิคการฉายรังสีสมัยใหม่ มีประสิทธิภาพในการรักษาผู้ป่วยมะเร็งและมีผลข้างเคียงลดน้อยลง

นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว
นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว

...

“มติบอร์ดนี้เป็นประโยชน์ต่อผู้ป่วยมะเร็งอย่างมาก ช่วยให้เข้าถึงการรักษาที่มีประสิทธิภาพและประสิทธิผล ข้อมูลในระบบ สปสช. พบว่ามีผู้ป่วยมะเร็งที่ได้รับรังสีรักษาเข้าข่ายที่จะรับบริการฉายรังสีด้วยอนุภาคโปรตอนนี้ได้ประมาณ 32,000 รายต่อปี...ในปี 2565 ใช้งบประมาณอยู่ที่ 50 ล้านบาทในการดูแลผู้ป่วย”

นอกจากนี้แล้ว ยังมีมติรับทราบแนวทางดำเนินการดูแลผู้ป่วยมะเร็งสิทธิบัตรทองและสนับสนุนการพัฒนาต่อยอด เข้าถึงนวัตกรรมบริการการแพทย์ขั้นสูง “บริการผ่าตัดด้วยหุ่นยนต์” ครอบคลุมให้การรักษา...ผู้ป่วยมะเร็งต่อมลูกหมาก มะเร็งลำไส้ใหญ่และลำไส้ตรง มะเร็งตับ ตับอ่อน และท่อน้ำดี

ภายใต้นโยบาย “30 บาทอัปเกรด” นำร่องให้บริการผู้ป่วยมะเร็ง 3 กลุ่ม ได้แก่ 1.มะเร็งต่อมลูกหมาก 2.มะเร็งลำไส้ใหญ่และลำไส้ตรง (ในกลุ่ม CA rectum, CA Anal Canal) 3.มะเร็งตับ ตับอ่อน และท่อน้ำดี (เริ่มในบริการ Whipple Operation)

คาดการณ์ว่า...จะมีกลุ่มเป้าหมายที่เป็น ผู้ป่วยมะเร็งต่อมลูกหมาก ประมาณ 500 ราย ผู้ป่วยมะเร็งลำไส้ใหญ่และลำไส้ตรง ประมาณ 50 รายและผู้ป่วย มะเร็งตับ ตับอ่อนและท่อน้ำดี อีกประมาณ 50 ราย

รวมผู้ป่วยที่เป็นกลุ่มเป้าหมายในการรับบริการทั้งหมดจำนวน 600 ราย

...

ประมาณการค่าใช้จ่ายชุดอุปกรณ์ในการผ่าตัดหุ่นยนต์อยู่ที่ 100,000 บาทต่อราย รวมเป็นเงินงบประมาณทั้งหมดจำนวน 60 ล้านบาท

นพ.จเด็จ ย้ำว่า...หน่วยบริการที่จะร่วมให้บริการผ่าตัดด้วยหุ่นยนต์ในระบบบัตรทองฯนี้ จะต้องผ่านการประเมินศักยภาพจากคณะกรรมการการพัฒนา ระบบบริการผ่าตัดแผลเล็ก (MIS : Minimal Invasive Surgery) ที่กระทรวงสาธารณสุขแต่งตั้ง หรือคณะกรรมการอื่นตามที่ สปสช.กำหนด

ส่วนหน่วยบริการภาครัฐ 7 แห่ง ที่ให้บริการผ่าตัดด้วยหุ่นยนต์อยู่แล้วในปัจจุบัน สามารถให้บริการต่อเนื่องและถือว่าผ่านการประเมินแล้ว

“การผ่าตัดด้วยหุ่นยนต์” เป็นเทคโนโลยีและนวัตกรรมทางการแพทย์ที่ทันสมัย มีความแม่นยำในการผ่าตัด โดยเฉพาะตำแหน่งที่เข้าถึงได้ยาก ช่วยลดภาวะแทรกซ้อนในการผ่าตัดได้ ทำให้ผู้ป่วยมีความปลอดภัยในการรักษามากขึ้น มีระยะเวลาในการฟื้นตัวเร็วขึ้น ทำให้พักรักษาตัวในโรงพยาบาลสั้นลง

ที่สำคัญ...ลดการสัมผัสระหว่าง “ผู้ป่วย” และ “แพทย์ผู้ผ่าตัด” ช่วยเพิ่มคุณภาพบริการและความปลอดภัยในการผ่าตัดให้กับประชาชน สิทธิประโยชน์นี้จึงนับเป็นประโยชน์ต่อประชาชนอย่างยิ่ง

“สปสช.ได้ร่วมกับคณะกรรมการการพัฒนาระบบบริการ การผ่าตัดแบบวันเดียวกลับ (OneDay Surgery) และการผ่าตัดแผลเล็ก (Minimally Invasive Surgery) ผู้เชี่ยวชาญจากราชวิทยาลัยศัลยแพทย์แห่งประเทศไทย กรมบัญชีกลาง สำนักงานประกันสังคมและสำนักพัฒนากลุ่มโรคร่วมไทย

...หารือแนวทางการให้บริการผ่าตัดด้วยหุ่นยนต์ ให้สอดคล้องกันทั้ง 3 กองทุน และจะหารือร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อกำหนดเงื่อนไข ข้อบ่งชี้ อัตราจ่าย และแนวทางการติดตามประเมินผลต่อไป”

...

อีกสิทธิสุดท้ายที่ต้องกล่าวถึงคือการขยายขอบเขตการรักษาเนื้องอกในลูกตาด้วยการ “วางแร่ที่ตา (eye–plaque brachytherapy)” รักษาผู้ป่วยที่มีเนื้องอกในลูกตา มีภาวะเสี่ยงที่จะเป็น “โรคมะเร็งที่ตา”

แม้ว่าโรคนี้จะพบได้ไม่บ่อย...อุบัติการณ์การเกิดโดยเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 5-6 คนต่อ 1 ล้านประชากร แต่ก็เป็นทางเลือกในการรักษาที่ได้ประโยชน์กับผู้ป่วย ช่วยลดการสูญเสียดวงตาและการมองเห็น

ทั้งหมดเหล่านี้คือการเพิ่มสิทธิ “บัตรทอง 30 บาท” เดินหน้านโยบาย “มะเร็งครบวงจร” เพิ่มการเข้าถึง...รักษาอย่างมีประสิทธิผล เติมเต็มระบบ “หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ” ที่มั่นคง ยั่งยืน.

คลิกอ่านคอลัมน์ “สกู๊ปหน้า 1” เพิ่มเติม