ผมรู้มาก่อน คุณก่อศักดิ์ ไชยรัศมีศักดิ์ ประธานฯซีพีออลล์ เล่นหมากล้อม หรือโกะเก่ง อันดับ “ดั้ง 7” เพิ่งมารู้ต่อจากการคุยกันว่า “ดั้ง 7” เป็นอันดับกิตติมศักดิ์ที่วงการโกะโลก ยกย่อง

ว่ากันด้วยฝีมือการแข่งขันจริงๆ คุณก่อศักดิ์ อยู่ที่อันดับ “ดั้ง 5”

ฝีมืออันดับนี้ วงการหมากล้อมรู้กัน แค่ไหน ยังไง ในไทยดูเหมือนว่าจะมีหนึ่งเดียว เมื่อคุณก่อบอก ไปบรรยายเรื่องหมากล้อมเป็นภาษาจีน และอังกฤษ ในงานประชุมโกะโลกมา

ในบรรยากาศของโลกที่รุ่มร้อนด้วยฟอนไฟสงครามไปแทบทุกหย่อมหญ้า...ผมนับถือศาสตร์หมากล้อมมานาน วิทยายุทธ์หมากล้อม เป็นวิทยายุทธ์ฝ่ายเย็น เป็นเรื่องแปลก ที่มีกลยุทธ์เอาชนะได้ด้วยการเล่นแบบไม่หวังชนะ

จึงออกปากอยากฟังบ้าง คุณก่อก็กรุณาส่งมาให้...ลองอ่านกันดู

00000

หมากล้อม ถือกำเนิดมายาวนานสามพันกว่าปี จึงมีคุณค่ามากกว่าเกมการแข่งขัน ที่มุ่งเน้นผลแพ้ชนะ เพียงเท่านั้น

ในฐานะของรองประธาน IGF (INTERNATIONAL GO FEDERAL) อยากจะเชิญชวนให้ตระหนักในคุณค่าที่สำคัญมากๆของหมากล้อม คือ EDUCATION VALUE ซึ่งเน้นคุณค่าด้านการเรียนรู้ และพัฒนาตนเองของมนุษยชาติ

ขนาดของกระดานหมากล้อม ใหญ่เท่ากับ 6 เท่าของกระดานหมากรุก ขณะเล่นจึงเหมือนการทำศึกพร้อมๆกันอยู่ 6-10 สนามรบ

ผู้เล่นจะต้องใช้ความสามารถในการดูแลทุกสมรภูมิไม่ให้ เกิดปัญหา

เช่นเดียวกับในชีวิตจริงทุกวันของทุกคน ก็จะมีเรื่องราวมากมายให้ดูแล ทั้งการงาน ครอบครัว สุขภาพ เพื่อนฝูง ชื่อเสียง การศึกษาเพิ่มเติม ฯลฯ

แต่เราล้วนมีทรัพยากรอันจำกัด คือมีเวลาเพียง 24 ชั่วโมงต่อ 1 วัน เราจึงอาจจัดการได้ไม่ครบทุกเรื่อง

...

เหมือนในเกมหมากล้อม ที่เราสามารถวางหมากเพียงครั้งละ 1 เม็ด

ถ้าเราจัดการเรื่องต่างๆในชีวิตได้ดี ก็จะมีความเจริญก้าวหน้าไปเรื่อยๆ แต่ถ้าจัดการได้ไม่ดี ก็จะเกิดปัญหาใหญ่ เช่น ทุ่มเทเวลาเพื่อหาเงินมากเกินไป

ก็อาจจะเกิดปัญหาสุขภาพ หรือสูญเสียความสัมพันธ์ที่ดี กับคนในครอบครัว เป็นต้น

ดังนั้น การฝึกฝนหมากล้อม จึงเป็นการฝึกฝนวิธีคิด วิธีการตัดสินใจในการดูแลสิ่งต่างๆในชีวิต ที่เราต้องเผชิญอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน

ในการเล่นหมากล้อม เกมที่ชนะจะทำให้เราดีใจได้แค่ไม่กี่ชั่วโมง

แต่เกมที่แพ้เราจะได้เรียนรู้ว่า ทำไมเราจึงแพ้ อาจจะเพราะเราจัดการทรัพยากรต่างๆ อย่างขาดความสมดุล หรืออาจจะโลภมาก อยากเอาชนะในบางสมรภูมิ

แต่ทำให้เราต้องพ่ายแพ้ในสงครามใหญ่

บทเรียนจากการพ่ายแพ้ จะช่วยปรับปรุงวิธีการเล่น และเท่ากับปรับปรุงฝึกฝน ในการบริหารชีวิตให้ดียิ่งขึ้น จากการเล่นหมากล้อม สู่การพัฒนากลยุทธ์ จนถึงจุดที่สามารถแก้ไขวิกฤติในชีวิตและการงาน

ทำให้เกิดสโลแกนที่เราใช้เผยแพร่ในประเทศไทยว่า “เล่นโกะ เก่งงาน รู้จัดการชีวิต”.

กิเลน ประลองเชิง

คลิกอ่านคอลัมน์ “ชักธงรบ” เพิ่มเติม