อุบัติเหตุที่เกิดจากรถไฟฟ้า ตั้งแต่การก่อสร้างไปจนถึงการทดลองการเดินรถเกิดขึ้นหลายครั้งหลายหน มีคนงานเสียชีวิต ทรัพย์สินของประชาชนได้รับความเสียหาย แต่ไม่มีผลกระทบต่อผู้รับเหมาก่อสร้าง ผู้รับสัมปทานและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง แต่อย่างใด

รถไฟฟ้าสายสีเหลือง สายสีชมพู เป็นข่าวประจำ ล้อหลุดตกลงมาใส่รถแท็กซี่ ผู้รับสัมปทานคือ บริษัท อีสเทิร์น บางกอกโมโนเรล หรือ EBM ออกมาให้ข่าวว่า สาเหตุเกิดจากเบ้าลูกปืนของล้อประคองเสียหาย รถที่ประสบอุบัติเหตุเป็นรถขบวนใหม่ ซึ่งมีการตรวจสอบและซ่อมบำรุงตามรอบปกติ ขอไปตรวจสอบสาเหตุที่ละเอียดอีกที

ขออภัยในความไม่สะดวก ว่าแล้วก็เปิดให้วิ่งตามปกติ

คนที่รับผิดชอบระดับกระทรวง สุรพงษ์ ปิยะโชติ รมช.คมนาคม อ้างว่า เป็นผลจากการดึงเข็มพืดเหล็กของโครงการระบบสาธารณูปโภคบริเวณด้านล่างของ โครงการรถไฟฟ้าสีชมพู มากระทบกับรางจ่ายกระแสไฟฟ้า ไม่ได้กระทบกับขบวนรถไฟฟ้า ทำให้รางนำไฟฟ้าอยู่ในตำแหน่งที่ไม่ถูกต้อง ส่งผลให้ตัวรับกระแสไฟฟ้าที่ติดกับตัวรถที่กำลังเคลื่อนที่เกิดการกระแทก ทำให้เกิดการขยับตัวของรางนำไฟฟ้าออกจากจุดยึดแล้วร่วงลงมาด้านล่างที่สูงประมาณ 300 เมตร

ส่วน รถไฟฟ้าสายสีเหลือง ที่ล้อหลุดลงมา สาเหตุจากเบ้าลูกปืน ของล้อประคองเสียหายทำให้ล้อหลุดลงมา ก็ได้คำตอบเพียงแค่นี้ ชาวบ้านคงไม่ไปเรียนรู้ระบบการเดินรถเพื่อที่จะโดยสารรถไฟฟ้า ให้ปลอดภัย แต่อยากรู้ว่าทำไมการเดินรถไฟฟ้า โมโนเรล ในประเทศไทยถึงไม่ปลอดภัย

จะต้องกลับมาทบทวนหรือไม่ว่า โมโนเรล เหมาะกับประเทศไทยหรือไม่

เพราะถ้ามองด้วยตาเปล่าจากข้างล่างไปข้างบนจะเห็นว่า มีแต่รางกับขบวนรถ ไม่มีอะไรกั้นทั้งด้านล่างและด้านข้าง สภาพไม่ต่างจากรถไฟเหาะตีลังกาในสวนสนุก แต่มีระดับที่สูงกว่ามาก

...

เหตุการณ์นี้ คีรี กาญจนพาสน์ ประธาน บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ ผู้รับสัมปทานเดินรถไฟฟ้าสายสีชมพูและสายสีเหลืองออกมาระบุ จะทำอย่างไรให้ประชาชนผู้โดยสารมั่นใจว่า ใช้โมโนเรลแล้วปลอดภัย เพราะในโลกมีการใช้กันมาก ผลิตที่ญี่ปุ่น ฝรั่งเศสและจีน โมโนเรลมีข้อดีโดยเฉพาะมุมโค้งการไต่ระดับที่ระบบอื่นทำไม่ได้

โมโนเรลสองสายแรกของไทยเป็นระบบรถไฟฟ้า คร่อมราง มีล้อยางรับน้ำหนักอยู่ตรงกลางด้านในโบกี้ละ 2 ล้อ ล้่อประคองด้านข้างทั้งสองฝั่งของคานโบกี้ละ 6 ล้อ ขบวนรถดังกล่าวผลิตโดยบริษัทจากโรงงานในประเทศจีน ให้ความเร็วสูงสุด 80 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ใช้ระบบการควบคุมรถอัตโนมัติ

ปัญหาในขณะนี้ไม่ได้อยู่ที่ความมั่นใจในการใช้รถโมโนเรลครั้งแรกในประเทศไทย แต่ต้องดูปัญหาตั้งแต่เริ่มต้นของโครงการนี้ ตั้งแต่การสัมปทาน การก่อสร้าง ไปจนถึงการเดินรถ โปร่งใสแค่ไหนและเมื่อเกิดปัญหาขึ้นมาแล้วมีความรับผิดชอบระหว่างผู้รับสัมปทานกับรัฐบาลแค่ไหน อะไรที่ซุกอยู่ใต้พรมโครงการรถไฟฟ้าในบ้านเราก็รู้ๆกันอยู่.

หมัดเหล็ก
mudlek@thairath.co.th

คลิกอ่านคอลัมน์ "คาบลูกคาบดอก" เพิ่มเติม