เมื่อวันที่ 9 ม.ค. ที่ศาลาว่าการ กทม. นายวิศณุ ทรัพย์สมพล รองผู้ว่าฯ กทม. แถลงข่าวความคืบหน้า เรื่องผังเมืองรวมกรุงเทพมหานคร (ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 4) ว่า การตั้งโต๊ะแถลงข่าวในครั้งนี้ เนื่องจากมีผู้สื่อข่าวหลายสำนักตั้งคำถามมายัง กทม. ถึงเรื่องผังเมืองรวมกรุงเทพมหานคร (ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 4) ว่า กทม. เอื้อนายทุนจริงหรือไม่ ทั้งนี้ผังเมืองรวมของ กทม. ฉบับปัจจุบันที่ใช้กันอยู่คือของปี 2556 ซึ่งใช้มานานร่วม 10 ปีแล้ว และตามหลักของการพัฒนาเมือง จะต้องมีการทบทวนวางผังเมืองใหม่ทุกๆ 5 ปี ซึ่งปัจจุบันล่วงเลยมาเป็น 10 ปีแล้ว โดยผังใหม่นี้จะปรับให้ใช้ประโยชน์พื้นที่สีเขียว และพื้นที่สาธารณะได้เต็มที่ และอัปเดตให้เป็นปัจจุบันมากขึ้น เน้นให้เกิดประโยชน์ทางเศรษฐกิจ และรองรับการอยู่อาศัยของประชากรเมืองที่ขยายตัวเพิ่มขึ้น เช่น พื้นที่ชานเมือง ส่วนพื้นที่หลักๆที่จะเปลี่ยนไป เช่น พื้นที่ศรีนครินทร์ จะปรับจากที่ดินประเภทที่อยู่อาศัยหนาแน่นน้อย เป็นที่อยู่อาศัยหนาแน่นปานกลาง เนื่องจากมีเส้นทางรถไฟฟ้าสายสีเขียว สายสีแดง และสายสีเหลือง ซึ่งเปิดให้บริการแล้ว รวมทั้งทางน้ำหลาก (ฟลัดเวย์) ด้านตะวันออกที่เขตมีนบุรี หนอกจอก คลองสามวา และลาดกระบัง เดิมเป็นพื้นที่สีเขียวเกษตรกรรม ซึ่งใช้เป็นฟลัดเวย์หรือพื้นที่รองรับน้ำหลากขนาด 250 ตารางกิโลเมตร จะถูกปรับเปลี่ยนให้เหลือเพียง 50 ตารางกิโลเมตร เพื่อลดภาระประชาชนในพื้นที่ดังกล่าว แต่ทางแก้ของผังรวมใหม่จะพัฒนาระบบคลองแนวเหนือ-ใต้อย่างเป็นระบบ มีการขยายคลองเพิ่มเพื่อแก้ไขปัญหาน้ำท่วม ไม่ให้ประชาชนได้รับผลกระทบ
รองผู้ว่าฯ กทม. กล่าวว่า กระบวนการทำผังเมืองมีการเปิดรับฟังความคิดเห็นของประชาชน มาแล้ว 7 ครั้ง และล่าสุดเมื่อวันที่ 6 ม.ค.ที่ผ่านมา มีการรับฟังความคิดเห็นครั้งใหญ่ ส่วนใหญ่มีความกังวลเรื่องแนวเขตทาง จากผังเมืองที่มีการขีดเส้นระบุความกว้างถนน ประชาชนจึงกลัวว่าจะถูกเวนคืนพื้นที่อาศัย จึงขอชี้แจงว่าไม่มีการเวนคืน แต่การขีดเส้นระบุแนวความกว้างของถนนเพื่อให้การก่อสร้างใหม่ในอนาคตไม่รุกล้ำแนวเส้น ต้องถอยร่นเปิดพื้นที่ความกว้างของถนนที่กำหนดไว้ “ส่วนกรณีมีผู้ตั้งคำถามว่า กทม.จัดทำร่างผังเมืองเอื้อประโยชน์ต่อนายทุนหรือไม่ กทม.ยืนยันว่าไม่มีการจัดทำร่างผังเมืองเพื่อเอื้อนายทุน เนื่องจากในการปรับผังใหม่ ระบุว่า เจ้าของที่ดินผู้ได้ประโยชน์จากการปรับผังที่ดินต้องปันประโยชน์ให้แก่สาธารณะด้วย เช่น ให้พื้นที่สีเขียวที่ประชาชนเข้าถึงได้ หรืออนุญาตให้จัดตั้งระบบสาธารณูปโภค ทางเท้า เสาสะพานทางเดินลอยฟ้าในที่ดินของตนเอง เป็นต้น ถือว่าได้ประโยชน์ร่วมกัน” รองผู้ว่าฯ กทม.ระบุ
...
นายวิศณุกล่าวต่อว่า ปัจจุบันมีประชาชนเข้ามาแสดงความคิดเห็นจำนวนมาก เดิม กทม. จะเปิดรับความคิดเห็นถึงวันที่ 22 ม.ค.นี้ จึงได้ขยายเวลาออกไปอีกจนถึงสิ้นเดือน ก.พ. จากนั้นจะนำเข้าสู่การพิจารณาพร้อมปรับแก้ไขร่าง ก่อนจะนำเสนอให้คณะกรรมการของ กทม. กรมการโยธาธิการ และกระทรวง หลังจากนั้นจะมีการเปิดรับฟังความคิดเห็นอีก 1 ครั้ง เพื่อให้ผู้ได้รับผลกระทบสามารถคัดค้านและแสดงความเห็นได้ ประชาชนสามารถตรวจสอบได้ที่เว็บไซต์สำนักการวางผังและพัฒนาเมืองกรุงเทพมหานคร https://cpudapp.bangkok.go.th/cityplandraft4/
อ่าน "คอลัมน์หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ" ทั้งหมดที่นี่