นายสุรเชษฐ์ เหล่าพูลสุข ผู้ว่าการการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) เปิดเผยว่า ขณะนี้ได้จัดทำร่างขอบเขตของงาน (TOR) ประกวด ราคาโครงการทางพิเศษฉลองรัช ช่วงจตุโชติ-ลำลูกกา ระยะทาง 16.2 กม. เสร็จเรียบร้อยแล้ว โดยคณะกรรมการร่างทีโออาร์ฯได้กำหนดรูปแบบงานก่อสร้างโยธา 1 สัญญา โดยคาดว่าจะนำร่าง TOR ลงประกาศในเว็บไซต์ เพื่อรับฟังคำวิจารณ์ได้ภายในสัปดาห์นี้ หรืออย่างช้าไม่เกินต้นเดือน ม.ค.2567 โดยตามขั้นตอนที่วางไว้ คาดว่าจะประกาศขายเอกสารประกวดราคาได้ไม่เกินเดือน มี.ค.2567 ได้ตัวผู้รับจ้างประมาณเดือน ก.ค.2567 เริ่มก่อสร้างภายในปี 2567 แล้วเสร็จเปิดให้บริการปี 2570 สำหรับงานติดตั้งระบบและบริหารจัดการจราจร 1 สัญญา คาดว่าจะประกาศประกวดราคา ภายใน 1 ปี หลังจากประมูลงานโยธาไปแล้ว

นายสุรเชษฐ์ กล่าวว่า เดิมมีแนวคิดแบ่งงานโยธา เป็น 4 สัญญา แต่เมื่อได้พิจารณาปัญหาในการก่อสร้างโครงการที่ผ่านมา เช่น ทางพิเศษสายพระราม 3-ดาวคะนอง-วงแหวนรอบนอกฯ ที่แบ่งงานโยธาออกเป็น 4 สัญญา พบว่า แต่ละสัญญาเสร็จไม่พร้อมกัน แม้มี บางสัญญาเสร็จก่อน แต่ยังเปิดให้บริการไม่ได้ การแบ่งหลายสัญญาจึงมีความเสี่ยงที่จะกระทบความสำเร็จของทั้งโครงการและเปิดบริการไม่ได้ตามกำหนด ทั้งนี้ การรวมงานโยธาเป็นสัญญาเดียว นอกจากทำให้ได้ผู้รับเหมาที่มีศักยภาพ มีความพร้อมในการก่อสร้างงานขนาดใหญ่และง่ายต่อการกำกับดูแลแล้ว ทางด่วนสายนี้จะมีจุดก่อสร้างสำคัญที่ค่อนข้างยาก คือ ช่วงข้ามมอเตอร์เวย์ ช่องจราจรกว่า 10 เลน และมีรถสัญจรหนาแน่น ดังนั้นในระหว่างก่อสร้างจึงต้องมีการดูแลความปลอดภัยสูง สำหรับเงินลงทุนโครงการ ประมาณ 24,060 ล้านบาท ประกอบด้วย ค่าเวนคืน 3,726 ล้านบาท ค่าก่อสร้างงานโยธาประมาณ 19,000 ล้านบาท ค่างานระบบประมาณ 1,000 ล้านบาท โดยงานระบบฯจะรอประเมินผลการใช้งานของระบบ M-Flow บนทางด่วน ซึ่งจะเริ่มให้บริการ 3 ด่านแรก บนทางพิเศษฉลองรัช ในเดือน เม.ย.2567 ก่อน จากนั้นจึงจะกำหนดรายละเอียดเพื่อเปิดประมูลต่อไป

...

สำหรับเงินลงทุนโครงการจะมาจาก 2 ส่วน ส่วนแรกใช้เงินจากกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานเพื่ออนาคตประเทศไทย (TFFIF) ที่ยังเหลืออยู่ประมาณ 14,000 ล้านบาท ส่วนที่เหลือ อีก 5,000 ล้านบาท จะใช้เงิน กทพ.มาลงทุน สำหรับพระราชกฤษฎีกา (พ.ร.ฎ.) กำหนดเขตเวนคืนที่ดิน คาดว่าจะประกาศใช้ประมาณเดือน มี.ค.2567 จะสอดคล้องกับการประมูลหาตัวผู้รับจ้าง.

อ่าน "คอลัมน์หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ" ทั้งหมดที่นี่