กรณีมีการแชร์และส่งต่อข้อมูลในโซเชียลมีเดียว่าเตรียมพร้อมรับมือ “โควิด-19” ระลอกใหม่สายพันธุ์ XBB.1.16* “อาร์คตูรุส” อาการใหม่...ไม่มีไข้ ตาแดง มีผื่นขึ้น หรือน้ำมูกไหล

จากผลการวิเคราะห์ข้อมูล “สายพันธุ์” ของ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ระหว่างเดือนกันยายนถึงพฤศจิกายน 2566 พบเป็นสายพันธุ์ XBB.1.16* จำนวน 83 ราย หรือคิดเป็นร้อยละ 16.4

จากการตรวจสอบข้อเท็จจริง และข้อมูลลักษณะอาการทางคลินิกจากประวัติที่ผู้ติดเชื้อ SARS-CoV-2 สายพันธุ์ XBB.1.16* พบว่า ส่วนใหญ่กว่าร้อยละ 90 มีอาการไข้ ไอ เจ็บคอ น้ำมูก เสมหะ ปวดเมื่อย บางรายประมาณร้อยละ 10 มีอาการอ่อนเพลีย เหนื่อย...หอบร่วมด้วย

ไม่พบลักษณะอาการตาแดง มีผื่นขึ้น หรือน้ำมูกไหล...ข่าวลือข้างต้นนี้จึงไม่เป็นความจริง

น่าสนใจว่าช่วงนี้มีจำนวน “ผู้ป่วย” เพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อนๆเล็กน้อย เนื่องจากเริ่มเข้าสู่ฤดูหนาว ซึ่งเป็นช่วงที่จะพบผู้ป่วยโรคทางเดินหายใจเพิ่มขึ้น ซึ่งการสวมหน้ากากอนามัย ล้างมือบ่อยๆ ยังคงเป็นมาตรการการป้องกันที่ได้ผลดี

...

การเฝ้าระวังสายพันธุ์โควิด-19 และสายพันธุ์ที่เฝ้าติดตามในประเทศไทย ระหว่างวันที่ 1 ตุลาคม 2566 ถึง 2 ธันวาคม 2566 จากการถอดรหัสพันธุกรรมเชื้อก่อโรคโควิด-19 จำนวน 253 ราย พบสายพันธุ์ XBB.1.9.2* มีสัดส่วนมากที่สุด คิดเป็น 24.5%

ถัดมาคือ EG.5*, XBB.1.16* และ XBB.2.3 พบสัดส่วน 23.3%, 17.80% และ 11.90% ตามลำดับ

สำหรับสถานการณ์โดยรวมของประเทศไทยในปัจจุบัน พบว่า สัดส่วนของสายพันธุ์ EG.5* และ XBB.1.92* มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ในขณะที่สัดส่วนของสายพันธุ์ XBB.1.16* กับ XBB.2.3* มีแนวโน้มลดลง เมื่อเทียบกับช่วงสองเดือนก่อนหน้า

อีกข้อมูลสำคัญที่ไม่ใช่ข่าวลือข่าวลวง แต่เป็นพิษภัยที่เกี่ยวกับ “บุหรี่ไฟฟ้า”

เมื่อไม่นานมานี้ กรมควบคุมโรค รายงานพบสารพิษในน้ำยา “บุหรี่ไฟฟ้า” เป็นอันตรายต่อระบบทางเดินหายใจ มีผลทำลายปอด ประชาสัมพันธ์เตือนประชาชนควรเลิกสูบบุหรี่ไฟฟ้า

พุ่งเป้าไปที่สารปรุงแต่งกลิ่นและรสในน้ำยาบุหรี่ไฟฟ้ามีมากถึง 16,000 รสชาติ เช่น กลิ่นผลไม้ ขนมหวาน ลูกอม เพื่อสร้างแรงดึงดูดและเย้ายวนใจให้นักสูบหน้าใหม่ เด็กและเยาวชน ชื่นชอบ

ผลการศึกษาในสหรัฐอเมริกา ตรวจพบสารพิษในสารปรุงแต่งกลิ่นข้างต้นที่เป็นอันตรายต่อระบบทางเดินหายใจและปอด โดยเฉพาะ “สารไดอะซิทิล (Diacetyl)” ที่อยู่ในน้ำยาบุหรี่ไฟฟ้า ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดอาการหลอดลมฝอยอักเสบ

นอกจากนี้ สารกลุ่มฟอร์มาลดีไฮด์ซึ่งพบมากในยาฆ่าแมลง เมื่อเข้าสู่ร่างกายจะส่งผลให้เกิดพิษต่อเซลล์ เกิดความผิดปกติในเยื่อบุผิว...ส่งผลให้เกิดการอักเสบของระบบทางเดินหายใจและปอดได้

“ขอเตือนประชาชนที่สูบบุหรี่ไฟฟ้า ควรเลิกการสูบบุหรี่ไฟฟ้า เนื่องจากเป็นสินค้าเสพติดทำลายสุขภาพ มีสารพิษ ก่อให้เกิดโรคอันตรายร้ายแรงทั้งต่อตนเองและคนใกล้ชิด”

รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์
รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์

รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ โพสต์ในเฟซบุ๊กส่วนตัว “Thira Woratanarat (ป๊ามี้คีน)” บอกว่า “บุหรี่ไฟฟ้า อันตราย...แม้ไร้ควัน” เพราะมีสารเคมีอื่นอีกหลายชนิดที่อันตรายต่อสุขภาพ

“น้ำยาในบุหรี่ไฟฟ้า” ประกอบด้วย...นิโคติน ทำให้เสพติดการสูบ, โพรพิลีนไกลคอล ระคายเคืองตา ทางเดินหายใจ ทำให้ไอ ปวดหัว คลื่นไส้อาเจียน, กลีเซอรีน เมื่อผสมกับโพรพิลีนไกลคอล ยิ่งทำให้ไอ หลอดลมตีบ หอบเหนื่อย, สารประกอบอันตราย เช่น สารหนู โลหะหนัก ฟอร์มัลดีไฮด์ เบนซีน ซึ่งอาจก่อมะเร็ง

นอกจากนี้ สารปรุงแต่งกลิ่น รส และอื่นๆบางตัวอาจทำให้ปอดอักเสบรุนแรง อาทิ วิตามินอี อะซีเตท

“ไอระเหยจากบุหรี่ไฟฟ้ามีขนาดเล็กกว่าบุหรี่ธรรมดาจึงถูกสูดเข้าไปในปอดได้ลึกกว่า จับเนื้อเยื่อปอด และดูดซึมเข้ากระแสเลือดได้เร็ว ยากที่ร่างกายจะขับออกมาได้หมด”

...

การสูบบุหรี่ไฟฟ้า ทำให้เสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด มะเร็ง และส่งผลต่อพัฒนาการของสมองทั้งต่อทารกในครรภ์ เด็ก และวัยรุ่น

หลายปีที่ผ่านมา สหรัฐอเมริกาพบผู้ป่วยปอดอักเสบรุนแรงหลังสูบบุหรี่ไฟฟ้าจำนวนมาก ทั้งเด็ก...ผู้ใหญ่ และทำให้เสียชีวิตได้ ดังนั้น...จึงควรรู้เท่าทัน ไม่เสพบุหรี่ทุกประเภท

เพื่อตัวคุณเอง และคนที่คุณรัก

ปัจจุบันมีบุหรี่ไฟฟ้ากลาดเกลื่อนสังคม เด็กๆในโรงเรียนตกเป็นเหยื่อได้ง่าย เพราะมีการผลิตออกมาในรูปแบบที่ดึงดูดใจ มีการปรับแต่งกลิ่นนานาชนิด นอกจากนี้ยังมีการผสมส่วนประกอบอื่นๆ รวมถึง “น้ำมันกัญชา” ก็ยิ่งทำให้เสี่ยงต่อการเสพติดมากขึ้นได้

“การรับมือภัยบุหรี่ไฟฟ้าจึงยากขึ้นเป็นทวีคูณ ทุกคนคงต้องช่วยกันครับ”

“บุหรี่ไฟฟ้า” เป็นอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์สำหรับการสูบบุหรี่ สร้าง... “ความร้อน” และ “ไอน้ำ” ด้วยแบตเตอรี่จึงไม่มีควันจากกระบวนการเผาไหม้

...

ส่วนประกอบสำคัญคือ “น้ำยาบุหรี่ไฟฟ้า” ที่มีส่วนผสมหลัก คือ “นิโคติน” ที่เป็นพิษร้ายต่อร่างกาย ทำให้หัวใจเต้นเร็ว ความดันโลหิตสูง หลอดเลือดหดตัว เหนื่อยง่าย ระดับน้ำตาลเพิ่มขึ้นเสี่ยงต่อการเป็นโรคเบาหวานชนิดที่ 2 ทั้งยังสามารถทำให้เกิดมะเร็งปอด รวมไปถึงโรคระบบทางเดินหายใจอื่นๆด้วย

นอกจากนี้ยังมีสารโพรไพลีนไกลคอล และสาร Glycerol/Glycerin และสารประกอบอีกมากมายในไอของบุหรี่ไฟฟ้า เช่น โลหะหนัก สารหนู

จึงกล่าวได้ว่าการสูบ “บุหรี่มวน” และ “บุหรี่ไฟฟ้า” ล้วนมีสารพิษที่ให้โทษต่อร่างกาย

สำหรับแนวทางการลด ละ เลิก สิ่งที่สําคัญที่สุดในการเลิกบุหรี่ คือ ตัวผู้สูบเอง ด้วยการตั้งเป้าหมาย เช่น การลดปริมาณการสูบบุหรี่ให้น้อยลง ปฏิเสธเมื่อถูกชวน

หากมีอาการอยากสูบสิ่งที่ต้องทำคือเบี่ยงเบนความสนใจ เพื่อไม่ให้มีการหยิบบุหรี่ขึ้นมาสูบ เช่น การหักดิบ ออกกำลังกาย เล่นกีฬาหรือหากิจกรรมอื่นๆทำ ขณะที่สภาพแวดล้อมก็มีส่วนต่อการช่วยให้เลิกสูบบุหรี่ประสบความสำเร็จ รวมไปถึงกำลังใจจากคนในครอบครัวและคนรอบข้าง

สถาบันโรคทรวงอก ย้ำเตือนทิ้งท้ายว่า “บุหรี่ไฟฟ้า” นอกจากจะทำลายสุขภาพ ยังเป็นสาเหตุสำคัญของการเกิดโรคต่างๆอันตรายไม่น้อยไปกว่าการดูด “บุหรี่มวน”

ตอกย้ำความเชื่อผิดๆที่ว่า...บุหรี่ไฟฟ้าจะช่วยลดอัตราการสูบบุหรี่ธรรมดา ปลอดภัย...อันตรายต่อสุขภาพน้อยกว่าการสูบบุหรี่แบบเดิมๆ เพราะความจริงแล้วสารประกอบในน้ำยา “บุหรี่ไฟฟ้า” มีสารพิษที่อันตรายไม่ต่างกัน แถมมีสารนิโคตินเหลวเข้มข้นมากกว่า “บุหรี่มวน” เสียอีก.

...

คลิกอ่านคอลัมน์ “สกู๊ปหน้า 1” เพิ่มเติม