“การเจ็บป่วยไข้ไม่สบายในสิ่งมีชีวิตที่มีลมหายใจทั้งสัตว์ รวมถึงคนมนุษย์เรา ย่อมจักเป็นปรากฏการณ์ธรรมชาติหนึ่งของชีวิตที่เกิดขึ้น...มีมาตั้งแต่ครั้งอดีตจนกระทั่งถึงปัจจุบัน”

เฉลิมพล พลมุข รองประธานมูลนิธิธรรมรักษ์ บอกอีกว่า การป่วยไข้ก็มีเหตุอันเนื่องมาจากเหตุปัจจัยหลากหลายประการ อาทิ กรรมพันธุ์ การรับสารพิษ อุบัติเหตุ สงคราม สิ่งแวดล้อม เชื้อโรคต่างๆ

เชื้อโรค “HIV+” เอชไอวี...ก่อกำเนิดเมื่อต้นศตวรรษที่ 20 (ค.ศ.1915-1941) นักวิจัยด้านเอชไอวีเชื่อว่า...เชื้อไวรัสมาจากภูมิคุ้มกันเสื่อมที่ก่อเกิดจากลิง...“เอดส์” หรือ “อาการภูมิคุ้มกันบกพร่อง” เป็นโรคของ ระบบภูมิคุ้มกันที่เกิดจากการติดเชื้อไวรัสเอชไอวีที่เสี่ยงต่อการติดเชื้อฉวยโอกาส และการเกิดเนื้องอกบางชนิด

“เชื้อไวรัสนี้ติดต่อผ่านการสัมผัสของเยื่อเมือก การมีเพศสัมพันธ์ การรับเลือด การใช้เข็มฉีดยาร่วมกัน จากมารดาสู่ทารก ในช่วงแรกของการระบาดได้สร้างความตื่นตระหนกกลัวในแวดวงสาธารณสุข...การแพทย์ต้องปรับการดูแลรักษา การป้องกันทั้งระดับนโยบายและปฏิบัติการช่วยเหลือชีวิตเขาเหล่านั้น”

...

องค์การอนามัยโลกประมาณการผู้ติดเชื้อเอชไอวีปี 2552 มีผู้ติดเชื้อ ผู้ป่วยเอดส์ 33.3 ล้านคนทั่วโลก โดยแต่ละปีมีผู้ติดเชื้อเอชไอวีรายใหม่ 2.6 ล้านคน...มีผู้เสียชีวิตจากเอดส์ปีละ 1.8 ล้านคน อีกข้อมูลหนึ่ง UNAIDS ได้ระบุถึงพบผู้ติดเชื้อทั่วโลกแล้ว 60 ล้านคน เสียชีวิต 25 ล้านคน โดยเฉพาะเด็กในแอฟริกาใต้...

...มีเด็กกำพร้าที่พ่อแม่เสียชีวิตถึง 14 ล้านคน

เหลียวมอง “เมืองไทย” บ้านเราพบผู้ติดเชื้อเอชไอวี ผู้ป่วยครั้งแรก ในปี พ.ศ.2527 ในครั้งนั้นแวดวงทางการแพทย์ ประชาชนชาวบ้านทั่วไป ยังมิได้มีการเตรียมการหรือตั้งรับกับการป่วยด้วยโรคร้ายนี้

การตื่นตระหนกกลัว ปฏิเสธ รังเกียจ รวมทั้งการอยู่ร่วมกับผู้ป่วยก็เกิดวิกฤติในด้านความสัมพันธ์ของครอบครัว ชุมชน ข่าวที่ถูกนำเสนอในสื่อต่างๆในช่วงนั้นก็คือ การนำผู้ป่วยไปทิ้งตามถนนหนทาง วัด หรือสถานที่อื่นๆที่ผู้คนทั่วไปจะให้การช่วยเหลือได้

“รัฐบาลไทยได้ให้ความสำคัญกับปัญหาเอดส์เป็นวาระแห่งชาติ นายกรัฐมนตรีเป็นประธานกรรมการเอดส์ชาติโดยตำแหน่งในการแก้ปัญหาเอดส์ทั้งระดับนโยบาย งบประมาณ แผนปฏิบัติราชการ ทั้งระบบการดูแล รักษาผู้ติดเชื้อเอชไอวี ผู้ป่วยเอดส์ งานสร้างทัศนคติการอยู่ร่วมกันทั้งในระดับครอบครัว ชุมชน”

งานสัมมนาเอดส์ระดับชาติได้จัดขึ้นบ่อยครั้ง ผู้เข้าร่วมมีทั้งแพทย์ พยาบาล นักจิตวิทยา ระบาดวิทยา ไวรัสวิทยา นักสังคมสงเคราะห์ นักบวชในศาสนาต่างๆ รวมทั้งบุคลากรที่ต้องทำงานร่วมกัน

สถานการณ์ผู้ติดเชื้อเอชไอวี ผู้ป่วยเอดส์ในสังคมไทยเราผ่านกาลเวลามาเกือบ 40 ปี วันเวลานี้สังคมไทยเราและสังคมโลกก็ยังคงมีผู้ติดเชื้อเอชไอวี ผู้ป่วยเอดส์อย่างเสมอมาเพียงแต่ว่าข่าวหรือข้อมูลที่เกี่ยวเนื่องกับการเจ็บป่วยดังกล่าวรวมถึงชีวิตความเป็นอยู่ของเขาเหล่านั้น ถูกละเลยไปด้วยกระแสอื่นๆของสังคม

ทั้งการเมือง เศรษฐกิจ สังคม อาชญากรรมรายวัน จนกระทั่งเราๆท่านๆ จะได้ยินหรือได้ฟังอีกครั้งก็ถึง “วันเอดส์โลก 1 ธันวาคม” ของทุกๆปี

“วัดพระบาทน้ำพุ” เปิดรับดูแลผู้ติดเชื้อเอชไอวี ผู้ป่วยเอดส์มาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2535 การทำงานที่ผ่านมา 31 ปี มีเรื่องราวปัญหาอุปสรรคนานัปการ สิ่งหนึ่งที่คนไทยทั้งประเทศต่างเชื่อมั่นก็คือความมั่นคงศรัทธา แน่วแน่ต่อการทำงานเพื่อคุณภาพชีวิตเขาเหล่านั้น รวมถึงสภาพปัญหาที่พ่วงมาด้วยก็คือญาติพี่น้องของผู้ป่วย

“ผู้สูงอายุคนชรา คนพิการแขนขาตาหู สุนัข แมว วัวควาย การ ขอความอนุเคราะห์จากทางวัดทั้งผู้ป่วยติดเตียง ผู้พิการทั้งภายในจังหวัดลพบุรีและจังหวัดใกล้เคียง...

...

กุฏิพระสงฆ์ที่เป็นผู้ติดเชื้อเอชไอวี หอผู้ป่วยเอดส์รวม บ้านพักผู้ติดเชื้อ ห้องน้ำรวม อาคารใช้สอยส่วนรวมชำรุดทรุดโทรมจากปัญหาลิงที่อพยพย้ายถิ่นเข้าไปในวัดพระบาทน้ำพุ”

เคาะตัวเลขผู้ติดเชื้อเอชไอวี ผู้ป่วยเอดส์ในวันนี้ ปี 2565 พบว่ามีผู้ติดเชื้อที่มีชีวิตอยู่ 561,578 คน กำลังรับยาต้านไวรัส 457,113 คน เสียชีวิต จากเป็นผู้ป่วยเอดส์ 10,972 คน พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ 9,230 คน

อีกข้อมูลน่าสนใจ พบว่าการรับเชื้อจากเพศสัมพันธ์ชายกับชายอยู่ที่ 68% พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ใน 15 จังหวัดถึง 60% พบเยาวชนอายุ 15-24 ปี เป็นโรคซิฟิลิส 59 ต่อประชากรแสนคน โรคหนองใน 41.9 ต่อประชากรแสนคน...เกินกว่าเป้าหมายปี พ.ศ.2573 ที่กำหนดในโรคดังกล่าวไม่เกิน 1 ต่อประชากรแสนคน

เฉลิมพล บอกว่า ในจำนวนผู้ติดเชื้อเอชไอวีกว่าสี่แสนคนทั่วเมืองไทยเราต้องรับยาต้านไวรัสที่สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติต้องรับผิดชอบงบประมาณปี พ.ศ.2566 เป็นเงิน 3,978,478 ล้านบาท ในบริการการรักษา ป้องกัน การตรวจชันสูตรทางห้องปฏิบัติการ รวมถึงการบริการต่างๆที่เกี่ยวข้อง

...

ผู้ติดเชื้อยังคงต้องเข้ารับยาต้านไวรัสอย่างสม่ำเสมอต่อเนื่องมาเป็นเวลามากกว่าสองทศวรรษ พวกเขาเหล่านั้นเป็นกำลังแรงงานสำคัญของชาติ ผู้นำของรัฐบาลได้มองเห็นถึงชีวิตของเขาเหล่านั้นด้วยหรือไม่?

ประสบการณ์อยู่ในแวดวงของผู้ติดเชื้อเอชไอวี ผู้ป่วยเอดส์เกือบสี่ทศวรรษได้พบเห็นข้อเท็จจริงในมิติของผู้ติดเชื้อ ผู้ป่วยเอดส์ งานบริการ ทางการแพทย์ รัฐธรรมนูญของประเทศ กฎหมายระเบียบข้อบังคับหลักที่ต้องใช้กับการบริการชีวิตเขาเหล่านั้น นับรวมไปถึง...ทัศนคติของประชาชนชาวบ้านกับผู้ติดเชื้อ

องค์กรเอกชนที่ทำงานด้านเอดส์ ความไม่เท่าเทียม การเลือกปฏิบัติ การละเมิดสิทธิ การละเมิดข้อกฎหมาย จริยธรรมในการวิจัยด้านเอดส์ รวมถึงการตายของผู้ป่วยเอดส์ที่ไร้การดูแลแม้กระทั่งหลังความตาย

คำถามสำคัญมีว่า...อะไร? สิ่งใด? ที่เรียกว่า “คุณภาพชีวิต” ที่ดี ในชีวิต

ขอฝากความหวังไว้กับรัฐบาลชุดนี้...สภาพของผู้ติดเชื้อเอชไอวี ผู้ป่วย เอดส์ในสังคมไทยเรา ยังคงมีปัญหาที่สลับซับซ้อนหลากหลายมิติ ข้อเท็จจริงหนึ่งก็คือชีวิตเขาเหล่านั้นทั้งประเทศต้องรับยาต้านไวรัสตลอดชีวิต หลายคนสภาพร่างกายแข็งแรงแต่ยังคงได้รับการปฏิเสธการอยู่ร่วมกันกับครอบครัว ชุมชนสังคม

...

เด็กเล็กๆที่เกิดจากผู้ติดเชื้อเอชไอวีต้องการการเลี้ยงดู ให้การศึกษา ระบบการเงินที่ต้องใช้ในชีวิตประจำวันเขาเหล่านั้นมีความจำเป็นมิได้ต่างจากผู้คนปกติทั่วไป รัฐเข้าถึงข้อมูลเหล่านั้นอย่างเท่าเทียมหรือไม่

พวกเรายังคงเฝ้าติดตามนโยบายที่นำไปสู่การทำงานเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดี อาทิ รัฐมีความจริงจังหรือจริงใจต่อเขาเหล่านั้นหรือไม่ โรงเรียนหรือสถาบันการศึกษาที่เด็กเยาวชนผู้ติดเชื้อเอชไอวีกำลังศึกษาเล่าเรียนเขาเหล่านั้นมีคุณภาพอยู่ในระดับดีเฉกเช่นเด็กเยาวชนทั่วไปหรือไม่...การตีตรา ปฏิเสธ เลือกปฏิบัติในบริบทต่างๆ

เหล่านี้คือสภาพปัญหาที่มีมาอย่างต่อเนื่อง มิอาจจักรวมถึงพฤติกรรมเสี่ยงที่หลากหลายสลับซับซ้อนต่อการกลายเป็นผู้ติดเชื้อรายใหม่ รัฐมีความพร้อมเฝ้าระวัง รณรงค์ในการป้องกันดีแล้วหรือไม่...อย่างไร

ทุกๆวันที่ 1 ธันวาคมของทุกปี องค์การอนามัยโลกได้จัดให้เป็นวันเอดส์โลกในปีนี้ กำหนดหลักการในการรณรงค์ให้ความรู้นำไปสู่การปฏิบัติ “ทุกภาคส่วน ร่วมกัน ยุติเอดส์ : Let Communities Lead”

โดยมีเป้าหมายปี 2573 “ผู้ติดเชื้อรายใหม่”...ปีละไม่เกิน 1,000 ราย “เสียชีวิต”...ปีละไม่เกิน 4,000 ราย ลดการตีตรา เลือกปฏิบัติ และเพศภาวะลงปีละไม่เกินร้อยละ 10 โดยรณรงค์ในการพกถุงยางอนามัยตรวจหาเชื้อเอชไอวี หากเป็นผู้ติดเชื้อรีบเข้ารักษากินยาต้านไวรัส...

“เอดส์”...ยังไม่หมดไปจากโลกนี้ ยังมีความเสี่ยงและอันตรายอยู่รอบตัวเราทุกๆคน.

คลิกอ่านคอลัมน์ “สกู๊ปหน้า 1” เพิ่มเติม