“กรมควบคุมโรค” ประกาศเรื่อง “การป้องกันโรคและภัยสุขภาพที่เกิดขึ้นในช่วงฤดูหนาวของประเทศไทย ปี 2566” พุ่งเป้าไปที่ “โรคติดต่อทางระบบหายใจ” สำคัญคือ...“โรคไข้หวัดใหญ่” และ “โรคปอดอักเสบ”

โรค “ไข้หวัดใหญ่” เกิดจากเชื้ออินฟลูเอนซาไวรัส มี 3 ชนิด คือ A B และ C สามารถแพร่กระจายเชื้อจากคนสู่คนได้ผ่านทางการหายใจ...สัมผัสละอองฝอยจากน้ำมูก น้ำลายที่ปนเปื้อนเชื้อ ผ่านการไอ จาม แล้วนำมาสัมผัสที่จมูก ตา หรือปาก

ผู้ป่วยมักจะมีอาการไข้สูงเฉียบพลัน ไอ หนาวสั่น ปวดศีรษะ ปวด เมื่อยกล้ามเนื้อ อ่อนเพลีย เจ็บคอ น้ำมูกไหล ตาแดง ตาแฉะ...ผู้ป่วยส่วนใหญ่จะหายได้เอง แต่จะมีบางกลุ่มที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะแทรกซ้อนและอาการรุนแรง เช่น ผู้มีโรคประจำตัว เด็กเล็กหรือผู้สูงอายุ

โรคไข้หวัดใหญ่พบได้ทุกกลุ่มอายุ แต่จะพบมากในเด็ก น่าสนใจว่า...อัตราการเสียชีวิตมักพบในผู้ที่มีอายุมากกว่า 90 ปี หรือ ผู้ที่มีโรคประจำตัว

พลิกแฟ้มกองระบาดวิทยา สถิติการเฝ้าระวังโรคในรอบ 5 ปี (ปี 2561-2565) พบว่า ในช่วงปี 2563-2564 พบผู้ป่วยลดน้อยลง เนื่องจากมีการระบาดของโควิด-19 ซึ่งเป็นโรคลักษณะเดียวกัน ทำให้มีการป้องกันอย่างเข้มข้น แต่...ระหว่างวันที่ 1 ม.ค.66 จนถึง 31 ต.ค.66 พบว่า มีการระบาดเพิ่มขึ้นมาก

...

พบผู้ป่วย 341,917 ราย อัตราป่วยอยู่ที่ 516.71 ต่อประชากรแสนคน และมีรายงานผู้เสียชีวิต 20 ราย สาเหตุหลักมาจากไวรัสไข้หวัดใหญ่... “ชนิด A”

ผู้ป่วยส่วนใหญ่อายุ 5-14 ปี รองลงมา อายุ 0-4 ปี และ 15-24 ปี ...ภาคที่มีอัตราป่วยสูงสุดคือ “ภาคกลาง” อัตราป่วย 622.11 ต่อประชากรแสนคน

ถัดมา...“โรคปอดอักเสบ” เกิดจากการติดเชื้อที่ถุงลมฝอย (Alveoli) ภายในเนื้อเยื่อปอด ซึ่งเชื้อก่อโรคส่วนใหญ่เป็นได้ทั้งเชื้อ “แบคทีเรีย” และเชื้อ “ไวรัส” เช่น มาจากอาการเชื้อไข้หวัดใหญ่, RSV, โควิด รวมถึง เชื้อไวรัสอีกหลายๆชนิด ทำให้ผู้ติดเชื้อดังกล่าวบางรายมีอาการของโรคปอดอักเสบ

หรือ...อาจทำให้เกิดภาวะระบบหายใจล้มเหลวและเสียชีวิตได้ นอกจากนี้โรคปอดอักเสบยังเกิดได้จากการติดเชื้อราบางชนิด โดย เฉพาะกลุ่มที่มีโรคภูมิคุ้มกันบกพร่อง

ผู้ป่วย...จะมีอาการไข้ ไอ หายใจหอบเหนื่อย มักเป็นเฉียบพลัน การ วินิจฉัยอาการทางคลินิกร่วมกับการพบภาพถ่ายรังสีเอกซเรย์ปอดผิดปกติ

สถิติช่วง 5 ปีที่ผ่านมา พบมีผู้ป่วยเฉลี่ยเดือนละ 20,000 รายจะมีแนวโน้มสูงในฤดูหนาว และจากข้อมูลระหว่างวันที่ 1 ม.ค.66 จนถึง 31 ต.ค.66 ได้รับรายงานผู้ป่วยโรคปอดอักเสบ 239,197 ราย อัตราเฉลี่ย 361.48 ต่อประชากรแสนคน...มีรายงานผู้เสียชีวิต 224 ราย และโรคนี้พบได้กับผู้ป่วยทุกกลุ่มอายุ

ย้อนไปเมื่อต้นเดือนที่ผ่านมาสถานการณ์ “โรคไข้หวัดใหญ่” ทั่วโลก มักพบการแพร่กระจายของโรคไข้หวัดใหญ่ในเขตซีกโลกเหนือระบาดมากในช่วงฤดูหนาว ส่วนซีกโลกใต้ระบาดมากในฤดูฝน พบไข้หวัดใหญ่ A (H3N2), A (H1N1) และ B เป็นสาเหตุของการระบาด ของโรคไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาล

จากผลการวิเคราะห์ลำดับพันธุกรรมของเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่จากทั่วโลก ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2566 จนถึงปัจจุบัน พบ A (H1N1) มีสัดส่วน 56.94% A (H3N2) 95.08% และ B 100%

สำหรับประเทศไทยการระบาดของเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ในปัจจุบันเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยพบไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ A (H3N2) มากที่สุดคิดเป็นสัดส่วน 66.42% รองลงมาคือสายพันธุ์ B 19.32% ในขณะที่สายพันธุ์ A/H1N1 มีสัดส่วน 14.26%

สำหรับสายพันธุ์ B ที่พบในประเทศไทยเป็นสายพันธุ์ Victoria ทั้งหมด เช่นเดียวกับที่พบทั่วโลกขณะนี้

ศูนย์ไข้หวัดใหญ่แห่งชาติ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ วิเคราะห์สายพันธุ์เชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ในประเทศไทย ด้วยการประยุกต์ใช้เทคนิค Whole genome sequencing (WGS) วิเคราะห์ลำดับพันธุกรรมทั้งจีโนม และประเมินความสอดคล้องกับสายพันธุ์วัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ที่กระทรวงสาธารณสุขฉีดให้กับประชาชน พบว่า

สายพันธุ์ไข้หวัดใหญ่ที่ตรวจพบในประเทศไทย มีความสอดคล้องกับสายพันธุ์วัคซีนที่ฉีดและสามารถป้องกันไข้หวัดใหญ่ได้ จากการประชุมคัดเลือกสายพันธุ์ไข้หวัดใหญ่ เพื่อนำไปใช้ผลิตวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ ประจำปี 2567 สำหรับประเทศทางซีกโลกใต้ ระหว่างวันที่ 25-28 กันยายน 2566 ณ กรุงเจนีวา สมาพันธรัฐสวิส

...

การคัดเลือกสายพันธุ์เชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ 3 สายพันธุ์ โดย 1 ใน 3 สายพันธุ์ เป็นเชื้อที่แยกได้จากระบบเฝ้าระวังเฉพาะพื้นที่ของประเทศไทย

นี่คือความร่วมมือของกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กรมควบคุมโรค โรงพยาบาลเครือข่ายและศูนย์ป้องกันและควบคุมโรคแห่งชาติสหรัฐอเมริกาที่ได้ดำเนินการเฝ้าระวังสายพันธุ์ การกลายพันธุ์ และการเปลี่ยนแปลงสายพันธุ์ที่ต่างไปจากเดิม การดื้อยาของเชื้อไข้หวัดใหญ่ ไข้หวัดนก...มาอย่างต่อเนื่อง

ความมั่นคงทางสุขภาพของประชากรโลกเป็นเป้าหมายสำคัญของระบบสาธารณสุข ที่ต้องการให้การ “ควบคุม” และ “ป้องกัน” โรคไข้หวัดใหญ่ และไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ชนิดต่างๆเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ สามารถควบคุมการแพร่ระบาดและลดอัตราการป่วย การเสียชีวิตของประชากรไทยและประชากรโลก

“คนที่ไม่สบาย เช่น ไข้ ไอ เจ็บคอ ปวดหัว ปวดกล้ามเนื้อ ที่สงสัยเป็นโรคติดเชื้อทางเดินหายใจ...ควรเลี่ยงไปร่วมกิจกรรมต่างๆที่มีคนหนาแน่น เพราะไม่ว่าจะเป็นจากไวรัสโควิด-19 หรือไข้หวัดใหญ่ หรือ RSV ก็ตาม คนที่ติดเชื้อไวรัสเหล่านี้ จะยังมีโอกาสแพร่เชื้อให้แก่ผู้อื่นได้”

ธีระ วรธนารัตน์
ธีระ วรธนารัตน์

...

รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ โพสต์ในเฟซบุ๊กส่วนตัว “Thira Wora tanarat (ป๊ามี้คีน)” ย้ำเตือนอีกว่า ไข้หวัดใหญ่นั้นแพร่ได้ตั้งแต่ที่คนติดเชื้อก่อนจะมีอาการ 1 วัน ไปจนถึง 24 ชั่วโมงหลังไข้ลง โดยมักมี อาการป่วยหลายวัน รวมแล้วระยะเวลาที่มีโอกาสแพร่ได้ราวสัปดาห์

“โควิด–19”...แพร่ได้ตั้งแต่ก่อนมีอาการ 2–3 วัน และสามารถแพร่ได้นานกว่าไข้หวัดใหญ่ ดังที่เคยนำเสนอไปหลายครั้งในช่วงปีที่ผ่านมา โดยมีโอกาส 5 วัน 50%, 7 วัน 25%, และ 10 วัน 10%

ในขณะที่ RSV นั้นก็สามารถแพร่ได้ถึง 3-8 วันหลังมีอาการป่วยเช่นกัน โดยในเด็กทารกบางรายก็เคยมีรายงานว่าสามารถแพร่ได้นานกว่านั้นหลายสัปดาห์แม้เป็นช่วงที่หายจากอาการป่วย

ยิ่งช่วงนี้เป็นช่วงที่มีจำนวนผู้ป่วยมากขึ้นในสังคม ดังนั้นจึงควรช่วยกันป้องกัน ทั้งตัวเรา และผู้อื่นรอบข้างนะครับ

ที่สำคัญและน่าสนใจยิ่ง ข่าวจาก “ProMED mail” จีนกำลังเผชิญกับการระบาดของ “ปอดอักเสบในเด็ก” ที่ยังไม่สามารถวินิจฉัยสาเหตุได้ ทั้งในเหลียวหนิง ปักกิ่ง และเมืองอื่นๆ แถบตอนเหนือของประเทศตอนนี้...ทั้งองค์การอนามัยโลก และทั่วโลกกำลังติดตามสถานการณ์

และแน่นอนว่า...เรา (ประเทศไทย) ก็ต้องไม่พลาดที่จะติดตามเรื่องนี้เช่นกัน.

คลิกอ่านคอลัมน์ “สกู๊ปหน้า 1” เพิ่มเติม