เมื่อวันที่ 25 ต.ค.2566 ที่โรงแรมอิสติน นายปิยพงษ์  จิวัฒนกุลไพศาล รองอธิบดีกรมทางหลวง เปิดเผยภายหลังเป็นประธานเปิดการประชุมรับฟังความคิดเห็นภาคเอกชน (Market Sounding) สำหรับให้เอกชนร่วมลงทุนในการพัฒนาและบริหารจัดการ โครงการที่พักริมทางบนทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองหมายเลข 6 สายบางปะอิน-นครราชสีมา และหมายเลข 81 สายบางใหญ่-กาญจนบุรี ว่า การจัดประชุมรับฟังความคิดเห็นเอกชนครั้งนี้ มีเอกชนให้ความสนใจลงทะเบียนเข้าร่วมกว่า 200 ราย ทั้งนี้รูปแบบการลงทุนทั้ง 2 สายทาง เป็น PPP Net Cost โดยกรมทางหลวง จัดหาที่ดินส่งมอบให้เอกชน เพื่อออกแบบ จัดหาการลงทุน และก่อสร้าง ใช้เวลา 2 ปี และบริหารจัดการโครงการระยะเวลา 30 ปี ทั้งนี้ กรมทางหลวงจะเป็นผู้กำหนดกรอบการก่อสร้างและการพัฒนา โดยเน้นนำสิ่งที่จะมาเป็นองค์ประกอบการ เช่น สถานีชาร์จไฟ สำหรับรถยนต์ไฟฟ้า ปั๊มน้ำมัน และการนำพลังงานทางเลือกมาใช้ เป็นต้น สำหรับข้อมูลโครงการ M6 (สายบางปะอิน-นครราชสีมา) 15 แห่ง แบ่งออกเป็น 2 สัญญา สัญญาที่ 1 มี 8 แห่ง ได้แก่ 1.จุดพักรถวังน้อย ทั้งสองฝั่ง 2.จุดพักรถหนองแค ทั้งสองฝั่ง 3.สถานบริการทางหลวงสระบุรี ทั้งสองฝั่ง 4.จุดพักรถทับกวาง ฝั่งขาเข้า และ 5.ศูนย์บริการทางหลวงปากช่อง ฝั่งขาเข้า สัญญาที่ 2 มี 7 แห่ง ได้แก่ 1.จุดพักรถทับกวาง ฝั่งขาออก 2.ศูนย์บริการทางหลวงปากช่อง ฝั่งขาออก 3.จุดพักรถลำตะคอง ฝั่งขาออก 4.สถานที่บริการทางหลวงสีคิ้ว ทั้งสองฝั่ง และ 5.จุดพักรถขามทะเลสอ ทั้งสองฝั่ง มูลค่าลงทุนเบื้องต้นประมาณ 2,000 ล้านบาท คาดการณ์ปริมาณจราจรที่ผ่านพื้นที่โครงการรวมสองทิศทาง ทั้ง 2 สัญญา ปีที่ 1 เท่ากับ 50,300 คันต่อวัน และปีที่ 30 เท่ากับ 86,000 คันต่อวัน

ส่วน M81 (สายบางใหญ่-กาญจนบุรี) มี 1 สัญญา 6 แห่ง ได้แก่ 1.ท่ามะกา ทั้งสองฝั่ง 2.นครปฐม ทั้งสองฝั่ง และ 3.นครชัยศรี ทั้งสองฝั่ง มูลค่าลงทุนประมาณ 1,300 ล้านบาท คาดการณ์ปริมาณจราจรที่ผ่านพื้นที่โครงการรวมทั้งสองทิศทาง ปีที่ 1 เท่ากับ 56,000 คันต่อวัน และปีที่ 30 เท่ากับ 127,355 คันต่อวัน คาดว่าจะประกาศเชิญชวนเอกชนลงทุนปลายปีนี้ หรืออย่างช้าต้นปี 2567 ได้ตัวเอกชนร่วมลงทุน ลงนามสัญญาและก่อสร้างได้ปลายปี 2567 คาดว่าเปิดให้บริการบางส่วนได้ปี 2568 และเปิดเต็มระบบปี 2569.

...

อ่าน "คอลัมน์หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ" ทั้งหมดที่นี่