เมื่อวันที่ 24 ต.ค. นายวิศณุ ทรัพย์สมพล รองผู้ว่าฯ กทม. เปิดเผยถึงความคืบหน้าการแก้ไขปัญหาหนี้รถไฟฟ้าสายสีเขียว ว่า กทม.โดยสำนักการจราจรและขนส่ง (สจส.) ได้ร่างหนังสือรายงานผลดำเนินการแก้ไขปัญหาหนี้รถไฟฟ้าสายสีเขียว ส่วนต่อขยาย 2 ช่วงหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต และช่วงแบริ่ง-สมุทรปราการ เพื่อส่งให้กระทรวงมหาดไทยก่อนเสนอ ครม.พิจารณาเสร็จเรียบร้อยแล้ว ขณะนี้อยู่ระหว่างเสนอ นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าฯ กทม.ลงนามเอกสาร คาดว่าจะส่งให้กระทรวงมหาดไทยได้ภายในสัปดาห์นี้

ทั้งนี้ กทม.ได้รายงานผลดำเนินการตามมติ ครม. วันที่ 5 ก.ค.2566 ที่มอบหมายให้ กทม. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปพิจารณาโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว ส่วนต่อขยาย ให้เกิดความชัดเจนในประเด็นต่างๆเพิ่มเติม อาทิ การหารือร่วมกับกระทรวงคมนาคมของระบบตั๋วร่วม การกำหนดอัตราค่าโดยสาร การเชื่อมโยงโครงข่ายการเดินทางและรายละเอียดอื่นๆ ตามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือในส่วนที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งความพร้อมของ กทม.ในการรับมอบโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว ส่วนต่อขยาย ตามมติเมื่อเดือน พ.ย.2561 รวมทั้งอัปเดตสถานะหนี้โครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว ส่วนต่อขยาย โดยแบ่งออกเป็น 2 ส่วน ได้แก่ ส่วนแรก มูลหนี้โครงสร้างพื้นฐาน (งานโยธา) ที่รับโอนจากการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) โดยประสานกับสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ ตรวจสอบและสรุปมูลหนี้เงินต้นและดอกเบี้ยประมาณ 60,000 ล้านบาท ส่วนที่ 2 มูลหนี้ค่างานติดตั้งระบบการเดินรถ (E&M) และมูลหนี้ค่าระบบงานเดินรถและซ่อมบำรุง (O&M) โดยบริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด หรือเคที ได้ประชุมหารือกับ บมจ.ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ บีทีเอสซี สรุปยอดมูลค่าหนี้ E&M เงินต้นและดอกเบี้ยที่จะต้องชำระ ณ วันที่ 9 ต.ค.2566 เป็นจำนวนกว่า 23,000 ล้านบาท ส่วนมูลหนี้ O&M เคทีรายงานล่าสุด จนถึงเดือน ส.ค.2566 แยกเป็นหนี้ ส่วนต่อขยาย 1 ช่วงอ่อนนุช-แบริ่ง และตากสิน-บางหว้า ประมาณ 5,500 ล้านบาท ส่วนต่อขยาย 2 หมอชิต-สะพานใหม่-คูคต และแบริ่ง-สมุทรปราการ ประมาณ 21,000 ล้านบาท

...

รองผู้ว่าฯ กทม. กล่าวว่า กทม.จะขอรัฐบาลสนับสนุนในส่วนของมูลหนี้โครงสร้างพื้นฐานที่รับโอนจาก รฟม. และหนี้ E&M เท่านั้น ในส่วนของหนี้ E&M หากรัฐบาลไม่เห็นชอบ กทม.จะนำเรื่องกลับมาเพื่อเสนอขออนุมัติงบจากสภา กทม.แทน สำหรับหนี้ O&M อยู่ในกระบวนการชั้นศาล ยังไม่สามารถจ่ายได้ต้องรอให้คดีสิ้นสุดก่อน อย่างไรก็ตาม หากรัฐบาล เห็นชอบตามเงื่อนไขให้มีการขยายสัมปทานกับเอกชนเพื่อแลกหนี้ทั้งหมด ถือว่าเป็นที่ยุติ กทม.ไม่ต้องจ่ายหนี้ดังกล่าวให้กับเอกชน.

อ่าน "คอลัมน์หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ" ทั้งหมดที่นี่