ก.ต.ช.ผู้แทนภาค ปชช. ตีแผ่นโยบายรัฐ หวังให้ยกระดับความปลอดภัยทางไซเบอร์เป็นวาระแห่งชาติ ชี้ปมปัญหาดังกล่าวอาจสั่นคลอนความมั่นคงชาติ และประชาชน กระทบความเชื่อมั่นประเทศ

เมื่อวันที่ 7 ต.ค. 2566 ผศ.ดร.นพดล กรรณิกา กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ นโยบายตำรวจแห่งชาติ (ก.ต.ช.) ผู้แทนภาคประชาชนและศิษย์เก่าด้านความปลอดภัยทางไซเบอร์ มหาวิทยาลัยจอร์จ ทาวน์ วอชิงตัน ดีซี เปิดเผยว่า จากแนวนโยบายของรัฐบาลโดย นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการนโยบายตำรวจแห่งชาติ (ก.ต.ช.) และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) โดย พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ สุขวิมล ผบ.ตร. ต้องการให้ประชาชนมีความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินทุกมิติครอบคลุมทุกกลุ่มเป้าหมายทันการเปลี่ยนแปลงของโลกยุคดิจิทัล ที่มุ่งเน้นการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยีนั้นเป็นนโยบายที่ดีและมีหลายประเด็นที่น่าพิจารณา


ก.ต.ช.ผู้ทรงคุณวุฒิผู้แทนภาคประชาชน กล่าวต่อว่า ข้อเท็จจริงความไม่ปลอดภัยทางไซเบอร์มีประเด็นสำคัญที่น่าพิจารณาดังนี้ 1. มีผู้เสียหายเกี่ยวข้องเป็นคดีความในโลกไซเบอร์ที่เป็นยอดภูเขาน้ำแข็งปรากฏขึ้นมาให้เห็นประมาณ 3 หมื่นรายทั่วประเทศ แต่จำนวนประชาชนที่ได้รับความเสียหายด้านข้อมูลละเอียดอ่อนส่วนตัวตกไปอยู่ในการครอบครองของขบวนการนิรนามไม่น้อยกว่า 50 ล้านคน ที่ปล่อยข้อมูลละเอียดอ่อนส่วนตัวของประชาชนเกือบ 40 ล้านคนรั่วไหลออกมาในโลกออนไลน์


2. ในช่วงเวลาประมาณ 5 ปีที่ผ่านมา มีอุบัติการณ์ (Incidents) ด้วยการใช้ AI และ Bot สั่นคลอนความมั่นคงชาติ เสาหลักของชาติ และความแตกแยกของคนในชาติด้วยการแบ่งขั้วแบ่งข้างในสื่อโซเชียล ปั่นกระแสสร้างความแตกแยกของคนในชาติที่ปั่นมาจากต่างชาติไม่ต่ำกว่า 2 ล้านบัญชีทำความเชื่อมั่นศรัทธาของคนในชาติต่อเสาหลักของชาติแกว่งตัว

...


3. มีอุบัติการณ์เชิงธุรกิจสีเทา สีดำ ทำลายระบบความปลอดภัยทางไซเบอร์ เข้าถึงจุดอ่อนที่สุดในระบบไซเบอร์คือ กลุ่มประชาชนผู้ใช้เครื่องมืออุปกรณ์ในโลกออนไลน์ตกเป็นเหยื่อ เกิดความไม่ปลอดภัยต่อข้อมูลละเอียดอ่อนส่วนตัวของประชาชนจำนวนมากรั่วไหลในโลกออนไลน์ ทำให้ประชาชนไม่ปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินทั้งผู้ที่ตกเป็นเหยื่อของขบวนการมิจฉาชีพและผู้เสียหาย

4. จากรายงานผลการศึกษาพบว่า ข้อมูลของคนไทย 61.2 ล้านคนอยู่ในโลกอินเทอร์เน็ตและกว่า 52.25 ล้านคนอยู่ในโลกโซเชียล มีการเชื่อมโยงการใช้มือถือกว่า 101.2 ล้านเครื่องเครือข่ายโทรศัพท์มือถือที่ยังถูกใช้งานอยู่ในเวลานี้

อุบัติการณ์ที่เกิดขึ้นต่อความไม่ปลอดภัยของประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศ ที่โดนกันแบบซ้ำซาก เช่น การโจรกรรมข้อมูล การถูกล่อลวงด้วยลิงก์ล่อเหยื่อ การล่อลวงด้วยวิธีผสมผสาน และข้อมูลละเอียดอ่อนส่วนบุคคลของประชาชนหลุดรั่วจนก่อผลกระทบทำให้เกิดความไม่ปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน และความไม่มั่นคงของชาติ รัฐบาลและสำนักงานตำรวจแห่งชาติจึงควรจะมีเรื่องความปลอดภัยทางไซเบอร์อยู่ในนโยบายนำ (Leading Policy) ให้ปรากฏเป็นเรื่องสำคัญเร่งด่วนอย่างชัดเจน

"อย่างไรก็ตาม ขณะนี้นโยบายรัฐบาลของ นายกรัฐมนตรี ที่แถลงต่อรัฐสภานี้ไม่มีอะไรใหม่ในหมวดความปลอดภัยของพี่น้องประชาชน และความมั่นคงของชาติ ตามที่ตนเคยออกมาพูดก่อนหน้านี้ไปแล้ว จึงเสนอให้รัฐบาลยกระดับ ความปลอดภัยทางไซเบอร์เป็นวาระแห่งชาติ และนำนโยบายรัฐบาลด้านความปลอดภัยทางไซเบอร์เชื่อมโยงกับข้อมูลที่ทันสมัย และยุทธศาสตร์ชาติ มาช่วยป้องกันแก้ไขความทุกข์ยากเดือดร้อนของประชาชน และความไม่มั่นคงของชาติ จึงมีความจำเป็นต้องปฏิรูปกฎหมายที่เกี่ยวข้อง มีระบบราชการที่ดี และมีมาตรฐานสากลของความปลอดภัยทางไซเบอร์ ที่นานาประเทศพัฒนาแล้วด้านไซเบอร์เขามีมาตรฐานกลางโดยมีหน่วยงานรัฐและภาคเอกชนร่วมเป็นเจ้าภาพและสนับสนุนให้มาตรฐานกลางความปลอดภัยทางไซเบอร์มีประสิทธิภาพเกิดประสิทธิผล" ผศ.ดร.นพดล กล่าว


ผศ.ดร.นพดล กล่าวต่อว่า ที่น่าเป็นห่วงมีอย่างน้อยสองประเด็นในเวลานี้ คือ 1. ยังไม่พบกฎหมายที่ครอบคลุมทุกมิติในเรื่องความปลอดภัยทางไซเบอร์และความมั่นคงของชาติตั้งแต่ต้นน้ำคือ กฎหมายที่ทำให้เกิดการเฝ้าระวังรักษาความปลอดภัยทางไซเบอร์ การเกาะติดอุบัติการณ์ การสื่อสาร การตอบสนองต่ออุบัติการณ์และปลายน้ำคือการฟื้นฟูเยียวยาความเสียหายที่เกิดขึ้นกับทุกกลุ่มเป้าหมายอันจะช่วยรักษาความมั่นคงของชาติ ระบบเศรษฐกิจของประเทศ และประชาชน

2. การใช้และจะใช้บริษัทความปลอดภัยทางไซเบอร์ข้ามชาติมาปฏิบัติการด้านความปลอดภัยทางไซเบอร์ให้ประเทศไทยและหน่วยงานของรัฐที่อาจจะทำให้ความมั่นคงชาติ ระบบเศรษฐกิจของประเทศและความปลอดภัยของประชาชนตกอยู่ในวิกฤตหนักลงไปอีกจากที่เวลานี้ก็เกิดอุบัติการณ์ความไม่ปลอดภัยทางไซเบอร์ของประชาชนจำนวนมากและการโจมตีหน่วยงานรัฐและเอกชนทางไซเบอร์ให้เห็นอยู่อย่างต่อเนื่อง จึงขอให้รัฐบาลและสำนักงานตำรวจแห่งชาติรวมถึงหน่วยงานความมั่นคงพิจารณาอย่างถี่ถ้วนรอบด้าน เพราะเคยเกิดขึ้นในสหรัฐอเมริกาประเทศมหาอำนาจมาแล้ว เพียงแค่ไม่สบายใจเรื่องความมั่นคงของชาติเขาก็ใช้กฎหมายสั่งให้ถอดถอนระบบความปลอดภัยทางไซเบอร์ต่างชาติที่ถูกใช้งานในหน่วยงานต่างๆ ออกไปโดยสิ้นเชิงเพราะ ความมั่นคงชาติ ต้องมาก่อน.