สทน. จับมือ อพวช. ลงนามบันทึกความเข้าใจทางวิชาการ พัฒนาบุคลากรและแหล่งเรียนรู้ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เพื่อมุ่งหวังไว้สร้างแรงบันดาลใจให้เยาวชนเกิดการพัฒนาด้านวิทยาศาสตร์

 

เมื่อวันที่ 4 ต.ค. 66 ที่สถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) ได้มีพิธีลงนามในการทำบันทึกความเข้าใจทางวิชาการระหว่างสถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ สทน. กับ องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ หรือ อพวช. เพื่อส่งเสริมการดำเนินงานตามภารกิจให้เกิดประสิทธิภาพ โดยยึดประโยชน์ของทั้งสองหน่วยงาน ด้วยการพัฒนาองค์ความรู้ทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และการให้บริการแก่ประชาชน โดยมี รศ.ดร.ธวัชชัย อ่อนจันทร์ ผอ.สทน. และ ผช. ดร.รวิน ระวิวงศ์ ผอ.อพวช. เป็นผู้ลงนาม

 

รศ.ดร.ธวัชชัย กล่าวว่า สถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ ในฐานะเป็นสถาบันในการวิจัยและพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีนิวเคลียร์ เพื่อนำไปใช้ประโยชน์ในการพัฒนา และแก้ไขปัญหาของประเทศอย่างยั่งยืน สนับสนุนให้มีการถ่ายทอดเทคโนโลยีเพื่อนำไปใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์ และการสนับสนุนงานทางด้านวิชาการแก่ภาคส่วนต่างๆ ที่ให้ความสนใจ สทน. และ อพวช. มีความเห็นพ้องกันว่า เพื่อร่วมกันใช้ทรัพยากรและความสามารถดำเนินการตามภารกิจหลักทั้งของ สทน. และ อพวช. ให้เกิดประโยชน์สูงสุดทั้งในด้านการส่งเสริมการเรียนรู้ความเข้าใจด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี นวัตกรรมและสิ่งแวดล้อม แก่เยาวชนและประชาชน และร่วมพัฒนาศักยภาพบุคลากรของหน่วยงานทั้งสอง ด้านการศึกษาวิจัย การพัฒนากิจกรรม การจัดการแหล่งเรียนรู้ การถ่ายทอดความรู้ทางด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี นวัตกรรมสิ่งแวดล้อม รวมถึงการร่วมส่งเสริมการประชาสัมพันธ์ของทั้งสองหน่วยงานในการจัดกิจกรรม หรือนิทรรศการในด้านต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง

...

 

ดังนั้น สทน. และ อพวช. จึงได้ร่วมลงนามในบันทึกความเข้าใจทางวิชาการ โดยกำหนดกรอบและแนวทางความร่วมมือไว้ดังนี้ คือ 1.การศึกษาวิจัยและแลกเปลี่ยนวัสดุอุเทศ ข้อมูลทางวิชาการด้านวิทยาศาสตร์การศึกษา การสื่อสารทางวิทยาศาสตร์ และวิทยาศาสตร์สาขาอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง 2.การพัฒนาบุคลากรด้านการศึกษาวิจัย การจัดแหล่งเรียนรู้/พิพิธภัณฑ์ การสื่อสารทางวิทยาศาสตร์และการผลิตสื่อการเรียนรู้ 3.การจัดกิจกรรม สนับสนุน ส่งเสริมการจัดกิจกรรม/นิทรรศการ เพื่อถ่ายทอดองค์ความรู้ และสร้างความตระหนักด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี นวัตกรรมและสิ่งแวดล้อม 4.การพัฒนาและการจัดการแหล่งเรียนรู้ด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี นวัตกรรมและสิ่งแวดล้อม บันทึกความเข้าใจนี้มีผลบังคับใช้เป็นระยะเวลา 5 ปี นับตั้งแต่วันที่หน่วยงานทั้งสองลงนามในบันทึกความเข้าใจ

 

ด้าน ผศ.ดร.รวิน กล่าวว่า อพวช. มีภารกิจในการส่งเสริมสังคมไทยให้เห็นความสำคัญของวิทยาศาสตร์ที่มีต่อการพัฒนาประเทศ พร้อมปลูกฝังและถ่ายทอดองค์ความรู้ให้แก่เยาวชน และประชาชนในสังคมให้มีทัศนคติที่ดีต่อวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม โดยการจัดแสดงนิทรรศการ และกิจกรรมด้านวิทยาศาสตร์ต่างๆ ผ่านแหล่งเรียนรู้ตลอดชีวิตในรูปแบบพิพิธภัณฑ์ พร้อมสร้างแรงบันดาลใจให้ทุกคนได้สนุกกับการค้นพบ และการเรียนรู้ตลอดชีวิตด้วยความมหัศจรรย์ของวิทยาศาสตร์ 

 

การสื่อสารวิทยาศาสตร์ถือเป็นการสร้างประสบการณ์ให้เยาวชนมีส่วนร่วมในวิทยาศาสตร์ ซึ่งปัจจุบัน อพวช. มีพิพิธภัณฑ์และแหล่งเรียนรู้ตามภูมิภาคต่างๆ ได้แก่ พิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์ พิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยา พิพิธภัณฑ์เทคโนโลยีสารสนเทศ และพิพิธภัณฑ์พระรามเก้า อยู่ภายในพื้นที่ ต.คลองห้า อ.คลองหลวง จ.ปทุมธานี นอกจากนี้ อพวช. ยังมีแหล่งเรียนรู้ในระดับภูมิภาคอีก 3 แห่ง ได้แก่ "จัตุรัสวิทยาศาสตร์ อพวช. ณ เดอะ สตรีท รัชดา", "จัตุรัสวิทยาศาสตร์ อพวช. เชียงใหม่" และ "จัตุรัสวิทยาศาสตร์ อพวช. โคราช" ถือเป็นการขยายโอกาสการเรียนรู้ และลดความเหลื่อมล้ำให้กับเยาวชนตามภูมิภาคต่างๆ ทั่วประเทศได้มากยิ่งขึ้น ทั้งนี้ยังมีแพลตฟอร์มออนไลน์ อาทิ รายการ Science Delivery และพิพิธภัณฑ์เสมือนจริง และเร็วๆ นี้จะมี Metaverse เพิ่มขึ้นอีกด้วย

 

อพวช. ยังมีส่วนร่วมกับเครือข่ายพันธมิตรที่มาช่วยผลักดันกิจกรรมในด้านการสร้างความตระหนักด้านวิทยาศาสตร์ ซึ่งมีการผนึกกำลังกับหน่วยงานทั้งรัฐ เอกชน และองค์การอิสระต่างๆ เกิดขึ้น เพื่อการสร้างสังคมที่ตระหนักถึงความสำคัญของวิทยาศาสตร์ ในวันนี้ อพวช. จึงมีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้ร่วมมือกับ สถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) ที่จะร่วมกันเป็นกำลังสำคัญในการสื่อสารและสร้างทัศนคติเชิงบวกกับวิทยาศาสตร์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องเทคโนโลยีนิวเคลียร์ฟิวชัน เครื่องโทคาแมค ซึ่งเป็นเทคโนโลยีพลังงานทางเลือกที่มีความสำคัญกับคุณภาพชีวิตและเศรษฐกิจของประเทศ

...

 

โดยหวังว่าความร่วมมือของทั้งสองหน่วยงานที่เกิดขึ้นในวันนี้จะสำเร็จตามวัตถุประสงค์ และเจตนารมณ์ตามที่มุ่งหวังไว้ เพื่อสร้างแรงบันดาลใจในด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี นวัตกรรม และสิ่งแวดล้อมให้แก่เยาวชนและประชาชนของประเทศ อันจะก่อให้เกิดการพัฒนากำลังคนด้านวิทยาศาสตร์ให้กับประเทศต่อไปตามภารกิจหลักของทั้งสองหน่วยงาน เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่เยาวชนและประชาชนของประเทศในอนาคตต่อไป.