“การแก้ไขปัญหาอาชญากรรมในกรุงเทพฯในยุค 5G ต้องลงมือทำจริง โดยมีการวางแผนการทำงานอย่างเป็นระบบ เพื่อสามารถวิเคราะห์อาชญากรรมให้แม่นยำ นำไปสู่การป้องกันไม่ให้มีเหตุ และหากมีเหตุเกิดขึ้นงานด้านการสืบสวนต้องมีความเข้มแข็ง ทั้งสืบนครบาล และสืบ น.1–9 มีศักยภาพในการบูรณาการทำงานเพื่อให้เมืองหลวงปลอดภัย” เป็นสิ่งที่ “บิ๊กจ้าว” พล.ต.ท.ธิติ แสงสว่าง ผบช.น. คิดแผนและวางระบบการทำงานของกองบัญชาการตำรวจนครบาลในอนาคต ก้าวข้ามขีดจำกัดจาก “กระดานสู่ระบบ”
กว่า 1 ปีทุ่มแก้ไขปัญหาอาชญากรรมพื้นฐาน “Street crimes” ในยุค 5G อัปสกิลตำรวจเมืองหลวง นำร่องพัฒนาระบบ “รายงานวิเคราะห์เหตุอาชญากรรม” ยกระดับศักยภาพการทำงานผ่านการรับแจ้ง “สายด่วน 191” จากเดิมที่เคยทำงานผ่านหน้ากระดาน เมื่อนำลงระบบออนไลน์ ที่ข้อมูลครอบคลุมทั่วทั้งกรุงเทพฯมองเห็นภาพเป็นแบบวงกว้าง ทำให้วางแผนได้อย่างมีประสิทธิภาพ แม่นยำ นำไปสู่การป้องกันเหตุ
...
เหตุอาชญากรรมที่เกิดขึ้นมีความหลากหลายทางพื้นที่ทั้งแบบวงกว้างและแบบพื้นที่ใกล้เคียง ซึ่งแตกต่างกันออกไป ข้อมูลเหล่านั้นไม่ว่าจะเป็นรูปแบบของการกระทำความผิด ทั้งบุคคล สถานที่ หรือช่วงเวลาที่เกิดเหตุ หากวิเคราะห์ผ่านกระดานจะยุ่งยาก ล่าช้า สิ้นเปลืองทรัพยากร และอาจทำให้ข้อมูลคลาดเคลื่อน
“บิ๊กจ้าว” เล็งเห็นปัญหาที่เกิดขึ้น นำเอาเทคโนโลยีที่มีอยู่มาพัฒนาให้สอดคล้องกับข้อมูล ผ่านการพัฒนาระบบที่สร้างขึ้นโดยเฉพาะ ระบบจะนำเหตุที่รับแจ้งจากประชาชนมากำหนดจุด ระบุพิกัดลงในพื้นที่ แต่ละเหตุจะมีสีที่แตกต่างกัน แต่ละจุดบ่งบอกชนิดเหตุว่าเป็นเหตุอาชญากรรมใด เกิดขึ้นพื้นที่ไหนและเกิดขึ้นเวลาใด
ข้อมูลที่ได้จะอัปเดตเป็นปัจจุบันที่สุด นำไปเปรียบเทียบกับเหตุที่เกิดขึ้นในช่วงเดือนก่อนหน้า เพื่อนำมาใช้ในการสืบสวนขยายผลวิเคราะห์แผนประทุษกรรมของคนร้าย และติดตามจับกุมนำมาดำเนินคดีในที่สุด
กรณีรับแจ้งเหตุตรวจสอบจากข้อมูลได้ว่า จับกุมได้หรือไม่ เชื่อมโยงคดีชีวิตร่างกายสัมพันธ์กันหรือไม่ และตรวจสอบเหตุที่เกิดขึ้นพื้นที่รอบข้างได้ บางครั้งเหตุที่เกิดใกล้เคียงกัน ต่างท้องที่รับผิดชอบ เดิมจำเป็นต้องใช้การติดต่อสื่อสารซึ่งอาจทำให้ล่าช้า พล.ต.ท.ธิติ ได้พัฒนาระบบ “โปรแกรม 191” เข้ามาช่วยให้มองเห็นคดีที่เกิดขึ้นในมุมกว้าง สะดวก และรวดเร็ว ให้ตำรวจแต่ละ สน.เข้าถึงระบบดูเหตุในแต่ละวัน นำมาวิเคราะห์เหตุที่เกิดขึ้น เจ้าของพื้นที่ใช้ระบบเพื่อตรวจสอบ ทำให้คาด การณ์เพื่อจัดวงรอบสายตรวจที่จะส่งผลต่อการป้องกันปราบปรามได้ผลดีที่สุด
ตัวอย่างคดี สน.คลองตัน จับแก๊งลักรถ จยย.ได้ผ่านการใช้ระบบวิเคราะห์ โดยตรวจสอบเหตุ ลักรถจักรยานยนต์ในกรุงเทพฯพบว่าในพื้นที่คลองตันเกิดเหตุลักรถจักรยานยนต์มากที่สุด วิเคราะห์เชิงลึกด้วยระบบทำให้เห็นช่วงเวลาที่ เกิดเหตุและสถานที่เกิดเหตุอยู่ใกล้เคียงกัน ทำให้ประมาณการเหตุที่คาดว่าจะเกิดอีกครั้ง หลังการวิเคราะห์ส่งสายตรวจและฝ่ายสืบสวนซุ่มโป่งบริเวณใกล้เคียงสถานที่เคยเกิดเหตุจับกุมแก๊งลัก จยย.ได้ทั้งหมด
คดีรับแจ้งเบาะแสยาเสพติดใช้โปรแกรมวิเคราะห์ข้อมูลรับแจ้งที่ผ่านมา ทำให้มองเห็นบริเวณที่แจ้งยาเสพติดมากที่สุด จัดตำรวจเข้าไปตรวจสอบ ตามยุทธวิธี Stop walk and talk ทำให้ทราบข้อมูลเกี่ยวกับรถต้องสงสัยที่จอดไว้ในลานจอดรถภายใน ซ.พหลโยธิน 53 ตำรวจ 191 ตรวจสอบสถานที่พบยาบ้าซุกซ่อนล้านเม็ด
ระบบ “รายงานวิเคราะห์เหตุอาชญากรรม” นำมาใช้ในการสืบสวนขยายผลเพิ่มเติม ผ่านการวิเคราะห์แผนประทุษกรรมของคนร้ายทำให้ติดตามจับกุมได้ในที่สุด คดีลักไฟท้ายรถยนต์พื้นที่ สน.คันนายาวใช้ระบบตรวจสอบช่วงเวลาที่เกิดเหตุ ทำให้เห็นว่าสถานที่เกิดเหตุที่เกิดขึ้นช่วงเวลาใกล้เคียงกัน คล้ายกับพื้นที่ของ สน.อื่นๆ นำไปสู่การบูรณาการสายตรวจแต่ละพื้นที่ตรวจเยี่ยมประชาชน หยุด เดิน พูดคุยประชาสัมพันธ์กับประชาชน
หยุด คือ ขับรถตรวจและหยุดตามจุดเสี่ยงต่างๆ เดินคือ เดินประชาสัมพันธ์ใกล้เคียงจุดที่หยุด พูดคุยคือ ประชาสัมพันธ์และตรวจเยี่ยมประชาชน สร้างมนุษยสัมพันธ์ที่ดีและเพื่อเป็นประโยชน์ต่อสังคมและประชาชน
ตามโครงการ “stop walk and talk” เพื่อสร้างภาพลักษณ์ที่ดีต่อกันระหว่างตำรวจกับประชาชน ประชาสัมพันธ์หากมีสิ่งใดที่จะให้ตำรวจช่วยเหลือโทร.หาได้ทันที และให้ช่วยสังเกตบุคคล ยานพาหนะหรือวัตถุต้องสงสัยที่อาจจะก่อเหตุอาชญากรรมในเขตพื้นที่หรือมีพฤติกรรมผิดปกติ รีบแจ้งตำรวจตรวจสอบทันที
...
การป้องกันปราบปราม ดำเนินการตามโครงการ “Cyber Vaccine” ของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ให้ตำรวจประชาสัมพันธ์ ให้ความรู้ประชาชนตระหนักถึง “ภัยออนไลน์” ในรูปแบบต่างๆ หากประชาชนรู้เท่าทันป้องกันตัวเองไม่ตกเป็นเหยื่อของมิจฉาชีพ ทำให้ลดการเกิดอาชญากรรมทางเทคโนโลยีและสถิติคดีออนไลน์ต่างๆ
เป็นส่วนหนึ่งการขับเคลื่อนนโยบายของ พล.ต.ท.ธิติ แสงสว่าง ผบช.น. วางระบบเทคโนโลยี สนับสนุนงานของสายตรวจและสืบสวนก้าวข้ามขีดจำกัด นำประสบการณ์ที่ผ่านตำรวจโรงพัก ตำรวจทางหลวง ตำรวจภูธร ทำให้มองเห็นภาพรวมปัญหาในแต่ละพื้นที่พัฒนาระบบ “รายงานวิเคราะห์เหตุอาชญากรรม”
จากเดิมที่เคยทำงาน ผ่านหน้ากระดาน นำลงระบบออนไลน์ ทำให้ได้ข้อมูลครอบคลุมทั่วทั้งกรุงเทพฯ ตำรวจมองเห็นภาพคดีอาชญากรรมเป็นแบบวงกว้างนำไปสู่การวางแผนป้องกันเหตุคดีอาชญากรรม
พล.ต.ท.ธิติ แสงสว่าง ผบช.น. กล่าวว่า “การปฏิบัติงานบนความคาดหวังของประชาชน การต่อสู้กับอาชญากรหลากหลายรูปแบบ สิ่งที่ตำรวจเรามุ่งหวังคือ “การสร้างแนวร่วมป้องกันอาชญากรรม เพื่อความปลอดภัยในชีวิต และทรัพย์สินของประชาชน” การนำข้อมูลความเดือดร้อนของประชาชน มาวิเคราะห์ วางแผน ป้องกันการเกิดเหตุซ้ำ ลดอัตราการเกิดเหตุ การสร้างความตระหนักรู้ถึงภัยต่างๆของโลกออนไลน์ นับว่าเป็นสิ่งที่ท้าทายกับการปฏิบัติงานเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันปราบ ปรามอาชญากรรมในพื้นที่ เพื่อให้ประชาชนมีความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินเพิ่มมากขึ้น สิ่งที่คาดหวังจากการลงพื้นที่คือเพื่อเฝ้าระวังเหตุ street crime ทั่วไป ลักทรัพย์ วิ่งราวทรัพย์ ชิงทรัพย์ ปล้นทรัพย์ แต่ผลพลอยได้คือ ได้รับการตอบรับจากประชาชนในพื้นที่นำไปสู่การช่วยเหลือเหยื่อจากกระบวน การค้ามนุษย์”
...
ไม่ถึงปีที่ พล.ต.ท.ธิติ แสงสว่าง เป็น ผบช.น. นำเทคโนโลยีมาพัฒนาระบบ “รายงานวิเคราะห์เหตุอาชญากรรม” นำมาสู่การป้องกันไม่ให้มีเหตุและสืบสวนจับกุมคนร้ายได้รวดเร็วขึ้น
เปลี่ยนแปลงหน้าตาของตำรวจนครบาลอย่างสิ้นเชิง.
ทีมข่าวอาชญากรรม
คลิกอ่านคอลัมน์ "แกะรอยสัปดาห์" เพิ่มเติม