กรมชลฯ สั่งทุกโครงการชลประทานหาแหล่งน้ำสำรองรับแล้งปี 66 หลังคาดการณ์ 4 เขื่อนหลักลุ่มน้ำเจ้าพระยา มีน้ำใช้หน้าแล้ง 7 พันล้าน ลบ.ม.
เมื่อวันที่ 23 ส.ค. 66 นายประพิศ จันทร์มา อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า ได้สั่งการให้สำนักงานชลประทานทุกพื้นที่สำรวจและหาแหล่งสำรองน้ำเพื่อกักเก็บน้ำให้ได้มากที่สุด รองรับสถานการณ์ในฤดูแล้งปี 2566/67 และเตรียมความพร้อมเครื่องมือ เครื่องจักรเคลื่อนที่ เพื่อช่วยเหลือประชาชนในพื้นที่เสี่ยงน้ำน้อย เนื่องจากในการประชุมคณะอนุกรรมการติดตามและวิเคราะห์แนวโน้มสถานการณ์น้ำทางกรมอุตุนิยมวิทยา คาดการณ์สถานการณ์เอลนีโญว่ามีแนวโน้มจะทวีความรุนแรงขึ้น ส่งผลให้ในฤดูแล้งปีนี้ (1 พ.ย. 66 ถึง 30 เม.ย. 67) ลุ่มน้ำเจ้าพระยาจะมีปริมาณน้ำใช้การได้ใน 4 เขื่อนหลักรวมกันประมาณ 7,000 ล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) ซึ่งอยู่ในเกณฑ์ที่น้อยมาก เมื่อเทียบกับ 1 พ.ย. 65 มีน้ำใช้การได้ประมาณ 14,000 ล้าน ลบ.ม. จากปริมาณน้ำดังกล่าวจะเพียงพอเฉพาะการอุปโภคบริโภค และรักษาระบบนิเวศเท่านั้น ดังนั้นเพื่อเป็นการลดความเสี่ยงที่ผลผลิตทางการเกษตรเสียหาย กรมชลฯ จึงขอความร่วมมือเกษตรกรงดการทำนาปีต่อเนื่อง และเพาะปลูกพืชใช้น้ำน้อยในฤดูแล้ง ปี 2566/2567 ซึ่งกรมจะมีมาตรการช่วยเหลือด้านการจ้างงานในช่วงเวลาดังกล่าวอีกทางหนึ่ง
...
"การบริหารน้ำนั้น กรมชลฯ ได้วางแผนบริหารน้ำต่อเนื่อง 2 ปี โดยให้มีการกักเก็บน้ำในฤดูฝน ทั้งในอ่างเก็บน้ำ ห้วย หนอง คลอง บึง และแก้มลิง และการชะลอน้ำในลำน้ำธรรมชาติ รวมถึงการทำทำนบชั่วคราวบริเวณปากแม่น้ำก่อนลงแม่น้ำนานาชาติหรือทะเล เพื่อสะสมน้ำสำหรับฤดูแล้งให้ได้มากที่สุดจากภาวะเอลนีโญ ขณะที่เครื่องมือ เครื่องจักร ต้องพร้อมใช้งานสำหรับสนับสนุนช่วยเกษตรกรและประชาชนในทุกพื้นที่โครงการ" นายประพิศ กล่าว
ดร.ธเนศร์ สมบูรณ์ ผู้อำนวยการสำนักบริหารจัดการน้ำและอุทกวิทยา กล่าวว่า กรมอุตุฯ คาดว่าในเดือน ก.ย. จะเริ่มมีฝนตกต่อเนื่องมากขึ้น และจะมีพายุเข้ามาประมาณ 1-2 ลูกในช่วงเดือน ก.ย. และ ต.ค. แต่เพื่อความไม่ประมาทจากภาวะเอลนีโญที่จะส่งผลต่อปริมาณฝนตกน้อยกว่าค่าเฉลี่ย ดังนั้นจะมีการประชุมพิจารณาเพื่อปรับลดการระบายน้ำจาก 4 เขื่อนหลัก โดยให้เกษตรกรใช้น้ำฝนและน้ำท่าเป็นหลัก และหากสิ้นฤดูแล้ง ปริมาณน้ำไม่เพิ่มขึ้นจากที่คาดการณ์ หรือเพียงพอต่อการปลูกพืชฤดูแล้ง คงไม่มีน้ำสนับสนุนเพียงพอในการปลูกข้าวนาปรัง และต้องขอความร่วมมือกับประชาชนในการเพาะปลูกพืชใช้น้ำน้อยแทนการเพาะปลูกข้าวนาปรัง
ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 21 ส.ค. 66 ศูนย์ติดตามและแก้ไขปัญหาภัยพิบัติด้านการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ครั้งที่ 5/2566 ได้พิจารณาตามที่กรมอุตุนิยมวิทยาคาดการณ์ว่า ณ 1 พ.ย. 66 (กรณี One Map ข้อมูล ณ วันที่ 18 ส.ค. 66) กรมชลฯ ได้คาดว่าปริมาณน้ำใช้การได้ในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ 35 แห่งทั้งประเทศ มีน้ำใช้การรวม 22,825 ล้าน ลบ.ม. (48%) น้อยกว่าปี 2565 จำนวน 13,037 ล้าน ลบ.ม. สำหรับอ่างเก็บน้ำ 4 เขื่อนหลักลุ่มเจ้าพระยา คาดการณ์ปริมาณน้ำใช้การ 6,897 ล้าน ลบ.ม. (38%) น้อยกว่าปี 2565 จำนวน 7,177 ล้าน ลบ.ม.
ศูนย์ติดตามและแก้ไขปัญหาภัยพิบัติด้านการเกษตร ได้คาดการณ์พื้นที่เกษตรที่จะได้รับผลกระทบจากภัยแล้ง ปี 2566/67 รวมประมาณ 16.51 ล้านไร่ แบ่งเป็น ในเขตชลประทาน ลุ่มเจ้าพระยา รวม 22 จังหวัด พื้นที่ 7.34 ล้านไร่ และนอกเขตชลประทาน พื้นที่ที่มีโอกาสเกิดภัยแล้ง รวม 60 จังหวัด พื้นที่ 9.17 ล้านไร่ ซึ่งกระทรวงเกษตรฯ ได้มอบหมายหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมบูรณาการแผนการดำเนินงานเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรในช่วงฤดูแล้งที่จะมาถึงด้วย.
...