สำนักงานคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สดช.) เปิดตัวโครงการส่งเสริมการถ่ายทอดมรดกทางวัฒนธรรมของชาติสู่รูปแบบดิจิทัล หรือ Digital Cultural Heritage ระยะที่ 2 และกิจกรรมแข่งขันเชิงสร้างสรรค์ "Hackulture 2023 illuminate Thai อัปเวลแฟชั่นไทย ด้วยดิจิทัล" เชิญชวนเยาวชนและประชาชนทั่วไป ประชันไอเดีย แฮกแฟชั่นไทยด้วยวัฒนธรรมและดิจิทัลคอนเทนต์ ปลุกพลัง Soft Power ไทย ชิงเงินรางวัลรวมกว่า 400,000 บาท

เมื่อวันที่ 17 ส.ค. 66 นายภุชพงค์ โนดไธสง เลขาธิการคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ กล่าวว่า มรดกทางวัฒนธรรมไทยมีมานานแล้ว ทั้งที่จับต้องได้ และเป็นพฤติกรรมหรือประเพณีที่สืบทอดกันมา ต้องช่วยกันอนุรักษ์ไว้สู่รุ่นลูกรุ่นหลาน ถ้าเก็บรักษาไว้ในรูปแบบดิจิทัล ก็จะเก็บไว้ได้นาน เผยแพร่ได้เร็ว หลากหลายรูปแบบและน่าสนใจยิ่งขึ้น สดช. จึงได้จัดทำโครงการนี้ขึ้นมา โดยระยะที่ 1 ได้รับการตอบรับอย่างดีแม้จะอยู่ในช่วงการระบาดของโควิด-19 ในปีนี้จึงสานต่อระยะที่ 2 เน้นเรื่อง 5 F ที่เป็น Soft Power ของไทย เพื่อสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจและสังคมให้กับประเทศ ต้องช่วยกันทำให้ทั่วโลกรู้จัก 5 F Soft Power ของไทยให้มากยิ่งขึ้น

ภารกิจหลักของโครงการนี้มี 2 ส่วนคือ กิจกรรมแข่งขันเชิงสร้างสรรค์ หรือ Hackathon ซึ่งปีนี้ใช้ชื่อว่า Hackulture 2023 illuminate Thai อัปเวลแฟชั่นไทย ด้วยดิจิทัล เป็นเวทีประชันความสามารถของมนุษย์ยุคดิจิทัล ให้ใช้ทักษะความสามารถและความคิดสร้างสรรค์ ในการถ่ายทอดมรดกทางวัฒนธรรม และยกระดับอุตสาหกรรมแฟชั่นไทย ไม่ว่าจะเป็นสิ่งทอ เครื่องแต่งกาย เครื่องหนัง เครื่องประดับและธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับแฟชั่นไทย ผ่านเทคโนโลยีดิจิทัลและดิจิทัลแพลตฟอร์มต่างๆ ที่เลือก F-Fashion มาเป็นหัวข้อการแข่งขัน เพราะแฟชั่นไทยมีเสน่ห์ มีเรื่องเล่า แฝงด้วยวัฒนธรรมที่น่าสนใจ สามารถนำสตอรี่มาสร้างรายได้และเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจ

...

มีการจัดแข่ง 2 ระดับ ได้แก่ ระดับนักเรียน นิสิต นักศึกษา (มัธยม / ปวช. / ปวส. / ปริญญาตรี) และระดับประชาชนทั่วไป (ประชาชนทั่วไป / ปริญญาโท / ปริญญาเอก) โดยรวมกลุ่ม 4-6 คน และมีการแข่งขัน 2 สาขา ได้แก่ 1. สาขาเทคโนโลยีดิจิทัล: คิดค้น สร้างสรรค์นวัตกรรมหรือปรับปรุงชิ้นงานกระบวนการที่มีอยู่เดิมให้ก้าวหน้ายิ่งขึ้น หรือเพิ่มมูลค่าเชิงการตลาด เช่น Application Game นวัตกรรมที่ใช้ใน Platform ที่มีอยู่เดิม AR VR นวัตกรรมที่ใช้การ Coding เทคโนโลยีบล็อกเชน ฯลฯ 2. สาขาสื่อมัลติมีเดีย: สร้างสรรค์ชิ้นงานที่สามารถเปลี่ยนแปลงความคิดเดิมๆ เพื่อนำไปสู่การสร้างกรอบความคิดใหม่ นำเสนอผลงานในรูปแบบภาพเคลื่อนไหว ภาพนิ่ง อาทิ แอนิเมชัน โมชันกราฟิก 2D 3D Motion ภาพยนตร์สั้นที่มีการใช้ Computer Graphic เป็นองค์ประกอบในการนำเสนอ เปิดรับผลงานถึงวันที่ 30 ก.ย. 66 สมัครได้ที่ www.hackulture.com

ด้านนายพัชรพงษ์ วชิรพันธุ์ Headmaster Hackathon กล่าวว่า โครงการนี้สำหรับคนที่มีไอเดียสร้างสรรค์ มาร่วมกันพัฒนาแฟชั่นไทยด้วยเทคโนโลยี เก่งด้านแฟชั่น เขียนโปรแกรมเก่ง นำเสนอเก่ง เขียน Business Model เก่ง หาเงินเก่ง ก็รวมทีมกันมาได้เลย เป็นโอกาสที่จะได้ลอง ในช่วง Boot Camp จะมีผู้เชี่ยวชาญแต่ละสาขามาช่วยปั้นไอเดีย ปั้นผลงาน ถ้าทุกคนทำตรงนั้นอย่างเต็มที่ อย่างน้อยก็ไม่ปล่อยโอกาสของตัวเองให้หายไป รอบแรกนำเสนอแค่ไอเดียว่าอยากจะทำอะไร ทีมงานคือใคร ใช้ความสามารถด้านไหน ขอเพียงเป็นไอเดียที่สามารถพัฒนาแฟชั่นไทยให้ก้าวไประดับโลกได้จริงๆ

เลขาฯ สดช. กล่าวถึงเกณฑ์การคัดเลือก 40 ทีมในรอบแรกว่า อันดับแรกพิจารณาจากต้นทุนทางวัฒนธรรมที่เลือกมาแข่งขันว่าน่าสนใจขนาดไหน สองคือเทคโนโลยีที่เลือกมาใช้กับการนำเสนอต้นทุนทางวัฒนธรรมนั้นๆ ว่าเหมาะสมหรือไม่ สามคือแนวคิดสร้างสรรค์ และสี่ สิ่งที่คิดขึ้นมานั้นสามารถต่อยอดทางเศรษฐกิจหรือสังคมได้อย่างไร

ขณะที่ นายปราโมทย์ โชคศิริกุลชัย รองประธานสภาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งประเทศไทย กล่าวว่า การสร้าง Soft Power ด้านแฟชั่นของไทย หน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรมีการบูรณาการร่วมกันเพื่อส่งเสริมให้เกิดการนำดิจิทัลมาขับเคลื่อนมรดกไทย ควรสร้าง Big Data ด้านแฟชั่น ด้วยการทำความเข้าใจ นำข้อมูล และเรื่องราวทั้งหมด เช่น เก็บรวบรวมอัตลักษณ์ของท้องถิ่นนั้นๆ มาเล่าเรื่อง นำ Story Telling มาสร้างเป็น ดิจิทัล คอนเทนต์ เพื่อเข้าสู่แพลตฟอร์มการทำตลาดต่อไป

...

ส่วนภารกิจที่สองของโครงการนี้ ได้แก่ การจัดประชุมเชิงปฏิบัติการโดยผ่านกระบวนการห้องปฏิบัติการนโยบายสาธารณะ หรือ Policy Lab เปิดโอกาสให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียและผู้ที่เกี่ยวข้องกับมรดกทางวัฒนธรรมแต่ละด้าน มีส่วนร่วมในการออกแบบนโยบายสาธารณะเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด ทั้งเจ้าของมรดกวัฒนธรรม เจ้าของแพลตฟอร์ม บริษัทชั้นนำด้านเทคโนโลยี และหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง ซึ่ง Cultural Content ซึ่งเป็นรากฐานของ Soft Power ไทย ต้องถูกนำมาใช้และสร้างรายได้เข้าประเทศ ผ่านยุทธศาสตร์ 5 แนวทาง ได้แก่ ศึกษารวบรวม อนุรักษ์ พัฒนาทักษะ ต่อยอด และเผยแพร่เนื้อหาวัฒนธรรมด้วยดิจิทัลเทคโนโลยี