กระทรวงคมนาคมเลื่อนปรับค่าทางด่วน 3 สาย ฉลองรัช-บูรพาวิถี-กาญจนาภิเษก 1 ก.ย.นี้ ออกไปอีก 6 เดือน อัตราใหม่เริ่มมีผล 1 มี.ค.67
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 9 ส.ค.2566 นายอธิรัฐ รัตนเศรษฐ รมช.คมนาคม รักษาราชการแทน รมว.คมนาคม ได้ลงนามเห็นชอบร่างประกาศกระทรวงคมนาคมกำหนดให้ทางพิเศษฉลองรัช (รามอินทรา-อาจณรงค์) และทางพิเศษบูรพาวิถี (บางนา-ชลบุรี) ชะลอการปรับค่าผ่านทางออกไปอีก 6 เดือน หรือไปมีผลวันที่ 1 มี.ค.67 ซึ่ง กทพ.จะจัดทำประชาสัมพันธ์เรื่องการให้ส่วนลดกับผู้ใช้ทางต่อไป สำหรับอัตราค่าผ่านทางใหม่ที่จะมีผลในวันที่ 1 มี.ค.2567 ทางพิเศษฉลองรัฐ รถ 4 ล้อ ปรับจาก 40 บาท เป็น 45 บาท รถ 6-10 ล้อ จาก 60 บาท เป็น 65 บาท รถมากกว่า 10 ล้อ จาก 80 บาท เป็น 90 บาท ทางพิเศษบูรพาวิถี รถ 4 ล้อ ปรับจาก 70 บาท เป็น 80 บาท รถ 6-10 ล้อ จาก 145 บาท เป็น 165 บาท รถมากกว่า 10 ล้อ จาก 220 บาท เป็น 245 บาท
รายงานข่าวแจ้งว่า การชะลอปรับขึ้นค่าผ่านทางดังกล่าวเป็นไปตามสัญญา RTA กับกองทุน TFF ในข้อ 4.4 การปรับค่าผ่านทางที่ระบุว่า เมื่อมีการพิจารณาตามข้อ 4.4 (ก) แล้วปรากฏว่า จะต้องปรับค่าผ่านทางเพิ่มขึ้น ทาง กทพ.จะต้องดำเนินการตามขั้นตอนและกระบวนการที่ระบุ ไว้ในกฎหมายที่ใช้บังคับในขณะนั้น เพื่อให้มีผลบังคับภายในวันที่ 1 ก.ย.ของปีเดียวกับที่ได้มีการพิจารณา ทั้งนี้ หาก กทพ.ได้ดำเนินการต่างๆครบถ้วนแล้ว แต่ไม่มีการปรับอัตราค่าผ่านทาง หรือไม่สามารถปรับอัตราค่าผ่านทางได้เต็มจำนวนที่คำนวณได้หรือมีการปรับอัตราค่าผ่านทางล่าช้ากว่าระยะเวลาที่กำหนดไว้ ให้ถือว่า กทพ.ได้ปฏิบัติหน้าที่ตามข้อนี้ครบถ้วนแล้ว และไม่ถือว่าเป็นเหตุให้ กทพ.ผิดข้อสัญญาหรือทำให้กองทุนฯมีสิทธิ์เรียกร้องค่าเสียหายค่าชดเชยหรือเงินเพิ่มใดๆจาก กทพ.
...
ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า สำหรับการปรับค่าผ่านทางพิเศษฉลองรัช และทางพิเศษบูรพาวิถี ระยะทาง 55 กม.นั้น เป็นไปตามเงื่อนไขสัญญากองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานเพื่ออนาคตประเทศไทย TFFIF โดยเริ่มพิจารณาปรับอัตราค่าผ่านทาง วันที่ 1 มี.ค.66 และ กทพ.จะต้องดำเนินการตามขั้นตอนให้มีผลบังคับใช้ภายในวันที่ 1 ก.ย.66 ทั้งนี้ ก่อนหน้านี้ กทพ.ได้แต่งตั้งคณะทำงานพิจารณาการปรับค่าผ่านทางตามสัญญาในส่วนที่เกี่ยวกับโครงการทางพิเศษฉลองรัชและทางพิเศษบูรพาวิถี (RTA) รวมถึงพิจารณาปรับค่าผ่านทางทางพิเศษกาญจนาภิเษก (บางพลี-สุขสวัสดิ์) ซึ่งครบรอบ 5 ปี โดยคำนวณตามดัชนีผู้บริโภค (CPI) จะปรับขึ้นประมาณ 10% หรือประมาณ 5 บาท แต่จะให้ส่วนลดสำหรับผู้ใช้บริการระบบเก็บค่าผ่านทางอัตโนมัติ (ETCS) หรือบัตร Easy Pass โดยยังคงจ่ายค่าผ่านทางอัตราเดิม เป็นระยะเวลา 6 เดือน (1 ก.ย.66-29 ก.พ.67) และจะปรับค่าผ่านทางเฉพาะผู้ที่ชำระด้วยเงินสด ส่วนทางพิเศษสายบางพลี-สุขสวัสดิ์ ซึ่งเป็นทางด่วนที่ กทพ.บริหารจัดการเอง ชะลอปรับค่าผ่านทางออกไป 6 เดือน (1 ก.ย.66-29 ก.พ.67) โดยถือเป็นงานด้านสังคม (CSR) ขององค์กร จนกระทั่งล่าสุดกระทรวงคมนาคมมีประกาศเลื่อนการปรับค่าผ่านทางดังกล่าวไปอีก 6 เดือน.