นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรมว.สาธารณสุข (สธ.) เปิดเผยว่า ในการประชุมผู้บริหารระดับสูง สธ. เมื่อวันที่ 9 ส.ค.ที่ผ่านมา ได้ติดตามเรื่องวัคซีนโควิด- 19 ขององค์การเภสัชกรรม (อภ.) ที่พัฒนาและกำลังนำผลไปขึ้นทะเบียนกับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) และมีข่าวดีคือ อภ.กำลังร่วมมือกับสถาบันวิชาการด้านวัคซีนจากสหรัฐอเมริกา ที่จะให้ประเทศไทย โดยโรงงานผลิตวัคซีนของ อภ.เป็นผู้ผลิตวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอนด้วย ถือเป็นความร่วมมือที่เกิดจากสถาบันวัคซีนแห่งชาติได้ประสานภาคีเครือข่ายในต่างประเทศและมาให้ อภ.ใช้องคาพยพต่างๆที่มีอยู่ให้เกิดประโยชน์สูงสุด

ด้าน พญ.มิ่งขวัญ สุพรรณพงศ์ ผอ.องค์การเภสัชกรรม กล่าวว่า วัคซีนโควิด-19 ของ อภ.ที่จะขึ้นทะเบียนกับ อย. คือ วัคซีน HXP-GPOVac ซึ่งเทคโนโลยีการผลิตต่างจากการผลิตวัคซีนเชื้อตายอย่างซิโนแวค แต่เป็นการนำสไปค์โปรตีนของโควิดมาเลี้ยงกับ Newcastle disease virus (NDV) ซึ่งก่อเชื้อในสัตว์ปีก ไม่ก่อเชื้อในคน แล้วนำไปเลี้ยงในไข่ จะได้ตัวเชื้อมาแล้วทำให้ตาย จะไม่มีเชื้อโควิด มีแต่ตัวสไปค์โปรตีนของโควิดและ NDV แล้วมาฉีดเป็นวัคซีน ในการผลิตนั้นสถาบันเมาท์ไซนาย สหรัฐอเมริกา มอบเชื้อมาให้ผลิตใน 3 ประเทศ คือ ไทย เวียดนาม และบราซิล แต่ที่ทำสำเร็จดีที่สุดและเร็วที่สุดคือ ประเทศไทยเลี้ยงเชื้อได้ดีและทำผลิตวัคซีนได้ โดยการทดลองวัคซีนในเฟส 1 และเฟส 2 ประสิทธิภาพ ประสิทธิผล และความปลอดภัยเรียบร้อยแล้ว ส่วนเฟส 3 พบว่า มีความปลอดภัยเหลือเรื่องประสิทธิภาพ ผลไม่เป็นทางการคือผ่านแล้ว ต้องรอผลอย่างเป็นทางการ ซึ่งเราส่งทั้งแล็บในประเทศและต่างประเทศ ทางแล็บสัญญาว่าจะส่งรายงานทางการมาวันที่ 8 ก.ย.นี้ จึงคาดว่าภายใน ก.ย.นี้ก็น่าจะขึ้นทะเบียนกับ อย.ในส่วนของวัคซีนโควิดสายพันธุ์อู่ฮั่นสำเร็จ

...

พญ.มิ่งขวัญกล่าวด้วยว่า หลังจากนั้นจะเปลี่ยนจากสายพันธุ์อู่ฮั่นเป็นสายพันธุ์โอมิครอนต่อ โดยทำเป็นแบ็กอัปไว้ หากมีการระบาดสายพันธุ์อื่นจะได้มีความเชี่ยวชาญในการผลิตเร็วขึ้น ซึ่งเมื่อมีการเปลี่ยนสายพันธุ์ก็ไม่ยากเพราะถ้าไม่ต้องทดสอบกระบวนการผลิตก็น่าจะผลิตได้ภายใน 2 เดือน กระบวนการขึ้นทะเบียนปกติที่เปลี่ยนสายพันธุ์ 4 เดือน จะใช้เวลา 6 เดือน เหมือนเป็นแค่เปลี่ยนทะเบียนยาโดยเพิ่มสายพันธุ์ ทั้งนี้ การทำวัคซีนสายพันธุ์โอมิครอนมีการตกลงกับเมาท์ไซนาย 2 อย่าง คือ ส่งเชื้อตัวใหม่โอมิครอนมาให้เราผลิต และอีกส่วนคือจ้างเราผลิตสายพันธุ์โอมิครอน ซึ่งขณะนี้กำลังอยู่ระหว่างเจรจาเรื่องราคา.