ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 3 ส.ค.66 นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าฯ กทม. พร้อมด้วยนายวิศณุ ทรัพย์สมพล รองผู้ว่าฯ กทม.และนายสุรัช ติระกุล ผอ.สำนักงานควบคุมอาคาร ร่วมกันแถลงแนวทางดำเนินการโครงการแอชตัน อโศก

โดยนายชัชชาติ กล่าวว่า กทม.น้อมรับคำสั่งของคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุด โดยศาลปกครองสูงสุดพิพากษาเพิกถอนใบรับแจ้งความประสงค์ก่อสร้าง แต่ไม่ได้ระบุเรื่องการรื้อถอนอาคาร ดังนั้น การดำเนินการต้องพิจารณาไปตามกฎหมายอย่างรอบคอบ ตามอำนาจหน้าที่ที่ กทม.ทำได้ โดยให้เวลาแก้ไขไม่น้อยกว่า 30 วัน นับจากทำหนังสือแจ้ง หากยังแก้ไขไม่ได้ สามารถขอขยายเวลาออกไปได้ โดยมีเหตุผลความจำเป็นรองรับ ทั้งนี้ มีผู้รับผลกระทบมากกว่า 500 ราย นายชัชชาติ กล่าวว่า ตนเข้าใจผู้ออกใบอนุญาตในขณะนั้นว่า เมื่อโครงการดำเนินการตามระเบียบครบถ้วนแล้ว กทม.ไม่มีสิทธิที่จะไม่ออกใบอนุญาตให้ เพราะอาจผิดมาตรา 157 ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ เนื่องจากเวลานั้นยังไม่มีคำสั่งศาลออกมา เจ้าหน้าที่ต้องทำตามขั้นตอน โดยมีเงื่อนไขในใบรับรองการก่อสร้างและดัดแปลงอาคาร (แบบ อ.6) ลงวันที่ 11 มิ.ย.61 ระบุชัดเจนว่า เรื่องที่ดินที่ตั้งโครงการ อยู่ระหว่างกระบวนการของศาลปกครองกลาง ที่มีผู้ฟ้องคดีกรณีโครงการใช้ที่ดินของการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ผ่านเข้าออกโครงการสู่ซอยสุขุมวิท 21 นั้น หากศาลมีคำพิพากษาเป็นที่สิ้นสุดแล้ว ผลทำให้อาคารโครงการขัดกฎหมายว่าด้วยการควบคุมอาคาร ผู้ได้รับใบรับรองต้องรับผิดชอบต่อความเสียหายที่เกิดขึ้นต่อตนเองและผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งหมด รวมทั้งต้องแก้ไขอาคารให้ถูกต้องตามกฎหมายควบคุมอาคาร ซึ่งขณะนี้ กทม.ได้ตั้งคณะทำงานแก้ไขปัญหาแล้ว

นายวิศณุ กล่าวว่า กทม.มีหนังสือรับทราบแบบแปลน และออกหนังสือทักท้วงไปแล้ว เเต่มีประเด็นที่ศาล เนื่องจากบริษัทอุทธรณ์ว่าเป็นคำสั่งไม่ชอบด้วยกฎหมาย สำนักการโยธา (สนย.) จึงออกใบรับแจ้งความประสงค์จะก่อสร้างอาคารให้เเบบมีเงื่อนไข รวมถึงปัญหาทางแพ่งที่ผู้ก่อสร้างต้องพิจารณาระบุไว้ในเงื่อนไขใบอนุญาตก่อสร้าง ตั้งแต่ปี 2558 และ 2560 ทั้งนี้ กทม.ไม่มีเหตุผลในการระงับโครงการแอชตัน อโศก เพราะกฎหมายให้แก้ไขได้ และปัจจุบันทางเข้าออกของโครงการ รถดับเพลิงยังสามารถเข้าได้ตามปกติ

...

บริษัท อนันดา เอ็มเอฟ เอเชีย อโศก จำกัด ชี้แจงความคืบหน้าแนวทางแก้ไข ดังนี้ 1.บริษัทกำลังเร่งแก้ไข กรณีใบอนุญาตก่อสร้างมีหลายแนวทางคือ 1.1 ยื่นขอใบอนุญาตก่อสร้างใหม่ โดยซื้อหรือหาที่ดินเพิ่ม 1.2 เสนอให้หน่วยงานรัฐแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้องผ่านสำนักการโยธา กทม. ไปยังกรมโยธาธิการและผังเมือง กระทรวงมหาดไทย ไปยังคณะรัฐมนตรี (ครม.) 1.3 เสนอให้หน่วยงานรัฐแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้องผ่าน รฟม.เสนอผ่านกระทรวงคมนาคม ไปยัง ครม. 1.4 ประสานเจ้าของเดิมให้ยื่นทบทวนสิทธิที่ดินทางเข้า-ออก ก่อนเวนคืน จาก รฟม. โดยควรให้สิทธิทางเข้า-ออกอย่างน้อย 12-13 เมตร เพื่อให้สามารถขึ้นอาคารสูงได้ 1.5 ยื่นคำร้องต่อศาลปกครอง ขอให้พิจารณาคดีใหม่ เนื่องจากมีพยานหลักฐานใหม่ ทำให้ข้อเท็จจริงเปลี่ยนไป

2.แนวทางช่วยเหลือเรื่องการผ่อนชำระสินเชื่อของเจ้าของร่วม ดังนี้ 2.1 ขอให้สถาบันการเงินพิจารณาแนวทางการผ่อนชำระในอัตราดอกเบี้ยพิเศษ 2.2 ขอให้สถาบันการเงินลดภาระการผ่อนชำระอื่นๆ 3.ประเด็นชี้แจงอื่นๆ ได้แก่ 3.1 การออกใบอนุญาตเปิดใช้อาคารแบบมีเงื่อนไข ที่ กทม.กำหนดว่าบริษัทต้องรับผิดชอบต่อความเสียหายที่เกิดขึ้นต่อบริษัท และผู้ที่เกี่ยวข้อง หากคำตัดสินของศาลปกครองเป็นที่สุดว่า โครงการขัดต่อกฎหมายควบคุมอาคาร ซึ่งข้อเท็จจริงนี้ปรากฏอยู่เพียงในใบรับรองการก่อสร้าง (อ.6) ซึ่ง กทม.ออกให้บริษัทหลังโครงการก่อสร้างแล้วเสร็จและได้ขายให้ลูกค้าแล้ว ส่วนใบอนุญาตอื่น ที่ กทม.ออกให้บริษัทก่อนหน้านี้ ไม่เคยมีข้อความทำนองนี้ปรากฏอยู่ในใบอนุญาตแต่อย่างใด และบริษัทมีความตั้งใจที่จะร่วมแก้ ปัญหาไปพร้อมกับ กทม.

3.2 บริษัทได้แจ้งเรื่องของคดีที่อยู่ในศาลปกครองให้แก่ลูกค้า มาตามลำดับพร้อมเสนอแนวทาง 3 ข้อให้พิจารณา คือ 1.การยกเลิกสัญญาและคืนเงิน 2.การย้ายโครงการตามที่บริษัทกำหนดไว้ 3.หากถือสัญญาไว้ต่อจนครบกำหนดการขยายเวลา (26 มี.ค.62) จะได้ส่วนลด ณ วันโอน 7.5% ต่อปีของเงินที่ชำระมาแล้วทั้งหมด โดยลูกค้าที่เลือกรับโอนกรรมสิทธิ์ (จากลูกค้าจอง 766 ราย ยกเลิกสัญญา 244 ราย, ย้ายโครงการ 4 รายและรอโอนกรรมสิทธิ์ 518 ราย)