กทม. เตรียมคุย "อนันดาฯ" แก้ทางเข้า-ออก "แอชตัน อโศก" เผยตามกฎหมายให้กรอบเวลาไม่เกิน 30 วัน "ชัชชาติ" ยันไม่เอื้อประโยชน์ แต่จะให้โอกาสในการยื่นขอใบอนุญาตใหม่ เพื่อความเป็นธรรมของทุกฝ่าย นํากรณีดังกล่าวเป็นกรณีศึกษาการก่อสร้างคอนโดมิเนียมในอนาคต

เมื่อวันที่ 3 ส.ค. 66 นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร พร้อมด้วย นายวิศณุ ทรัพย์สมพล รองผู้ว่าฯ และนายสุรัช ติระกุล ผอ.สํานักงานควบคุมอาคาร ร่วมกันแถลงข่าวชี้แจงแนวทางการดำเนินการกับแอชตันคอนโด กรณีศาลมีคําสั่งเพิกถอนใบอนุญาตการก่อสร้าง

นายวิศณุ กล่าวว่า โครงการแอชตัน แบ่งออกเป็น 2 ช่วง คือ เรื่องการยื่นแจ้งเพื่อขอการก่อสร้าง โดยบริษัทอนันดาเจ้าของโครงการแอชตัน ยื่นครั้งแรกเมื่อปี 58 ซึ่ง กทม. ก็มีหนังสือทักท้วงไป และมีการยื่นต่อมาอีกรวม 3 ครั้ง ซึ่ง กทม. ก็มีหนังสือทักท้วงไปตลอด จนกระทั่งมีการฟ้องเป็นคดีกันในปี 58 และหลังก่อสร้างเสร็จก็จะต้องมีการยื่นขอเปิดอาคาร ซึ่งทางบริษัทฯ ก็ได้ทําการยื่นขอมาในเมื่อปี 60 ซึ่ง กทม. ก็ทักท้วงไปเนื่องจากยังมีคดีเรื่องทางเข้าออกที่ไม่ได้ตามที่กฎหมายกําหนดอยู่ โดยแอชตันได้ยื่นอุทธรณ์ไปที่กรรมการควบคุมอาคาร จนกรรมการอุทธรณ์ พิจารณาเห็นว่า กทม. ควรออกใบอนุญาตให้ ซึ่งทางสํานักการโยธา จึงออกใบอนุญาตให้แบบมีเงื่อนไข

โดยระบุว่า "เรื่องที่ดินที่ตั้งโครงการซึ่งอยู่ระหว่างกระบวนการพิจารณาของศาลปกครองกลาง ที่มีผู้ฟ้องคดีกรณีโครงการใช้ที่ดินของ รฟม. ผ่านเข้า-ออก นั้น หากศาลมีคําพิพากษาสิ้นสุดแล้ว ผลพิจารณาทําให้อาคารดังกล่าวขัดต่อกฎหมาย ผู้ได้ใบรับรองจะต้องรับผิดชอบต่อความเสียหายที่เกิดขึ้นต่อตนเองและผู้เกี่ยวข้องทั้งหมด รวมทั้งต้องดําเนินการแก้ไขอาคารให้ถูกต้องตามกฎหมายว่าด้วยการควบคุมอาคารต่อไป" 

...

ด้านนายชัชชาติ กล่าวว่า กฎหมายมาตรา 41 ระบุชัดถึงเจตนารมณ์ว่า สามารถแก้ไขปรับเปลี่ยนอาคารให้ถูกต้องตามกฎหมายได้ โดยให้ระยะเวลา 30 วัน ซึ่งทาง กทม. จะต้องเชิญทางบริษัทอนันดา เจ้าของโครงการแอชตันและผู้เกี่ยวข้องมาร่วมหารือว่าสามารถปรับปรุงและแก้ไขตามที่กฎหมายกําหนดได้หรือไม่ หากไม่ได้ทาง กทม. อาจจะขยายระยะเวลาให้ได้ตามเหตุอันสมควร และขอยืนยันว่า กทม. ไม่ได้เอื้อประโยชน์แก่ผู้ใดทั้งสิ้น แต่คําพิพากษาของศาลตัดสินให้เพิกถอนใบอนุญาต ไม่ใช่การรื้อถอน ดั้งนั้น กทม. จึงต้องให้โอกาสในการยื่นขอใบอนุญาตใหม่ เพื่อความเป็นธรรมของทุกฝ่าย

ส่วนลูกบ้านก็ยังสามารถใช้ทางเข้า-ออกของคอนโดฯ ได้ตามปกติ เพราะตัวอาคารไม่มีปัญหาเรื่องความปลอดภัย เนื่องจากหากเกิดเหตุเพลิงไหม้ รถดับเพลิงก็ยังสามารถเข้าไประงับเหตุผ่านทางเข้า-ออกปัจจุบันได้ จึงไม่จําเป็นจะต้องสั่งปิดอาคาร 

ทั้งนี้นายชัชชาติ ระบุด้วยว่า หลังจากนี้จะต้องนํากรณีดังกล่าวเป็นกรณีศึกษาการก่อสร้างคอนโดมิเนียมในอนาคตรอบสถานีรถไฟฟ้า เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดเหตุซํ้ารอยแบบนี้ขึ้นอีก.