เมื่อวันที่ 31 ก.ค.66 ที่ศาลาว่าการ กทม. นายวิศณุ ทรัพย์สมพล รองผู้ว่าฯ กทม. กล่าวถึงกรณีศาลปกครองสูงสุดมีคำพิพากษาเพิกถอนใบอนุญาตก่อสร้างอาคาร โครงการแอชตัน อโศก เนื่องจากไม่เป็นไปตามข้อกำหนด พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร พ.ศ.2522 ว่า ภายหลังศาลมีคำพิพากษา กทม.จะดำเนินการตามคำพิพากษาของศาล โดย กทม.มีกฎหมายที่เกี่ยวข้อง 3 มาตรา ตาม พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร พ.ศ 2522 หมวด 4 อำนาจหน้าที่ของเจ้าพนักงานท้องถิ่น ได้แก่ 1.มาตรา 40 ในกรณีที่มีการก่อสร้างดัดแปลงรื้อถอนหรือเคลื่อนย้ายอาคารโดยฝ่าฝืนบทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัตินี้ กฎกระทรวง หรือข้อบัญญัติท้องถิ่นที่ออกตามพระราชบัญญัตินี้ หรือกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง ให้เจ้าพนักงานท้องถิ่นมีอำนาจดำเนินการดังนี้ (1) มีคำสั่งให้เจ้าของหรือผู้ครอบครองอาคาร ผู้ควบคุมงาน ผู้ดำเนินการลูกจ้างหรือบริวารของบุคคลดังกล่าวระงับการกระทำดังกล่าว (2) มีคำสั่งมิให้บุคคลใดใช้หรือเข้าไปในส่วนใดๆของอาคารหรือบริเวณที่มีการกระทำดังกล่าวและจัดให้มีเครื่องหมายแสดงการห้ามนั้นไว้ในที่เปิดเผยและเห็นได้ง่าย ณ อาคารหรือบริเวณดังกล่าว และ (3) พิจารณามีคำสั่งตามมาตรา 41 หรือมาตรา 42 แล้วแต่กรณีภายใน 30 วันนับแต่วันที่ได้มีคำสั่งตาม (1)

2.มาตรา 41 ถ้าการกระทำตามมาตรา 40 เป็นกรณีที่สามารถแก้ไขเปลี่ยนแปลงให้ถูกต้องได้ ให้เจ้าพนักงานท้องถิ่นมีอำนาจสั่งให้เจ้าของอาคารยื่นคำขออนุญาตหรือดำเนินการแจ้งตามมาตรา 39 ทวิ หรือดำเนินการแก้ไขเปลี่ยนแปลงให้ถูกต้องภายในระยะเวลาที่กำหนด แต่ต้องไม่น้อยกว่า 30 วัน ในกรณีที่มีเหตุอันสมควร เจ้าพนักงานท้องถิ่นจะขยายเวลาดังกล่าวออกไปอีกก็ได้ และให้นำมาตรา 27 มาใช้บังคับโดยอนุโลม และ 3.มาตรา 42 ถ้าการกระทำตามมาตรา 40 เป็นกรณีที่ไม่สามารถแก้ไขเปลี่ยนแปลงให้ถูกต้องได้ หรือเจ้าของอาคารมิได้ปฏิบัติตามคำสั่งของเจ้าพนักงานท้องถิ่นตามมาตรา 41 ให้เจ้าพนักงานท้องถิ่นมีอำนาจสั่งให้เจ้าของหรือผู้ครอบครองอาคาร ผู้ควบคุมงาน หรือผู้ดำเนินการรื้อถอนอาคารนั้นทั้งหมดหรือบางส่วนได้ภายในระยะเวลาที่กำหนดแต่ต้องไม่น้อยกว่า 30 วัน

...

นายวิศณุกล่าวว่า ขณะนี้สำนักการโยธาจะมีหนังสือแจ้งสำนักงานเขตวัฒนา พิจารณาออกคำสั่งให้เจ้าของอาคารดำเนินการแก้ไขอาคารให้ถูกต้องตามกฎหมายควบคุมอาคาร โดยใช้อำนาจตามมาตรา 40 มาตรา 41 และมาตรา 42 พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร พ.ศ.2522 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2535 แล้วแต่กรณี แม้จะมีคำพิพากษาการเพิกถอนใบอนุญาตการก่อสร้างดังกล่าว ไม่ได้หมายความว่าอาคารชุดแอชตัน อโศก จะต้องรื้อถอนอาคาร แต่บริษัทผู้เป็นเจ้าของโครงการ สามารถยื่นขอใบอนุญาตก่อสร้างใหม่ได้ที่สำนักการโยธา โดยบริษัทจะต้องแก้ไขเปลี่ยนแปลงตามที่ศาลสั่ง ซึ่งก็คือเพิ่มทางเข้า-ออกโครงการให้มีความกว้างของถนน 12 เมตร และอยู่ติดกับถนนสาธารณะที่มีความกว้าง 18 เมตร ซึ่งเป็นไปตามที่กฎหมายควบคุมอาคารและกฎหมายผังเมืองกำหนด หากบริษัทเจ้าของโครงการสามารถปรับปรุงแก้ไขเปลี่ยนแปลงทางเข้า-ออกแล้วเสร็จ ก็สามารถยื่นขอใบแจ้งก่อสร้างได้ แต่หากบริษัทเจ้าของโครงการดังกล่าวไม่สามารถทำตามมาตรา 41 ได้ ต้องดำเนินการตามมาตรา 42 อย่างไรก็ตาม กทม.จะมีการแถลงข่าวเพื่อชี้แจงรายละเอียดของการดำเนินการตามคำพิพากษาของศาลปกครองในวันที่ 3 ส.ค.นี้.