นายสุรเชษฐ์ เหล่าพูลสุข ผู้ว่าการการทางพิเศษแห่งประเทศไทย กทพ.กล่าวว่า ตามเงื่อนไขข้อตกลงกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานเพื่ออนาคตประเทศไทย หรือ TFF กำหนดให้มีการปรับค่าผ่านทาง ทางพิเศษบูรพาวิถี และทางพิเศษฉลองรัช ทุก 5 ปี ซึ่งตรงกับวันที่ 1 ก.ย.2566 โดยคำนวณตามดัชนีผู้บริโภค ปรากฏว่า ปรับขึ้นประมาณ 10% หรือปรับขึ้นค่าผ่านทาง 5 บาท กทพ.จึงได้เสนอบอร์ด กทพ. พิจารณาเมื่อวันที่ 20 มิ.ย.ที่ผ่านมา แต่บอร์ดยังไม่ได้อนุมัติโดยมอบให้ กทพ.ไปเจรจา ผู้จัดการกองทุน TFF ซึ่ง กทพ.ได้เจรจากับผู้จัดการกองทุน TFF คือ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน กรุงไทยจำกัด (มหาชน) หรือ KTAM และบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนเอ็มเอฟซี จำกัด (มหาชน) เรียบร้อยแล้ว ทางกองทุน TFF ยืนยันให้ กทพ.ดำเนินการปรับขึ้นค่าผ่านทางตามเงื่อนไขสัญญา และเป็นการทำตามขั้นตอนของกฎหมาย โดยกองทุนฯมีหน้าที่ต้องดูแลผลประโยชน์ของผู้ถือหน่วยลงทุนด้วย

นายสุรเชษฐ์กล่าวว่า กทพ.จะสรุปผลการเจรจาและนำรายงานต่อที่ประชุมบอร์ด กทพ.ในวันที่ 25 ก.ค.นี้ หากบอร์ดไม่ขึ้นค่าผ่านทางด่วน 2 สายดังกล่าว ยังมีแนวทางที่สามารถพิจารณาได้ เช่น ลดสัดส่วนรายได้ของ กทพ.ที่นำส่งคลังมาจ่ายชดเชยให้กองทุน TFF เป็นต้น โดยตามเงื่อนไข กทพ.จะต้องโอนรายได้ค่าผ่านทาง 2 โครงการ คือ ทางพิเศษฉลองรัช และทางพิเศษบูรพาวิถีในสัดส่วน 45% ของรายได้ให้กองทุน TFF เป็นระยะเวลา 30 ปี รายได้อีก 55% เป็นของ กทพ. ทั้งนี้กองทุน TFF มีสัญญาที่ต้องปฏิบัติตาม หากไม่ปรับค่าผ่านทางตามเงื่อนไขจะเข้าข่ายทำผิดสัญญาได้

สำหรับทางพิเศษกาญจนาภิเษกซึ่ง กทพ.ดำเนินการเอง ได้เสนอบอร์ด กทพ. เพื่อขอปรับขึ้นค่าผ่านทางด้วยเช่นกัน เนื่องจากสายทางนี้ไม่ได้ปรับขึ้นค่าผ่านทางมานานกว่า 10 ปีแล้ว ประกอบกับ พิจารณาตัวเลขดัชนีผู้บริโภคเพิ่มขึ้นประมาณ 10% ซึ่งที่ผ่านมา กทพ. มแบกรับต้นทุนค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นตามดัชนีผู้บริโภค จึงขอบอร์ดปรับขึ้นเพื่อให้มีรายได้เพิ่มสอดคล้องกับค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้น

...

รายงานข่าวแจ้งว่า ปัจจุบันทางพิเศษกาญจนาภิเษก อัตราค่าผ่านทาง รถ 4 ล้อ 15-55 บาท รถ 6 ล้อ 25-105 บาท รถ 8-10 ล้อ 35-115 บาท และรถมากกว่า 10 ล้อขึ้นไป 35-160 บาท ปี 2565 มีปริมาณการจราจรเฉลี่ย 218,082 คัน/วัน ส่วนทางพิเศษบูรพาวิถี มีอัตราค่าผ่านทาง รถ 4 ล้อ 20-55 บาท รถ 6-10 ล้อ 50-145 บาท และรถมากกว่า 10 ล้อขึ้นไป 75-220 บาท ปี 2565 มีปริมาณการจราจรเฉลี่ย 128,219 คัน/วัน ขณะที่ทางพิเศษฉลองรัช อัตราค่าผ่านทาง รถ 4 ล้อ 40 บาท รถ 6-10 ล้อ 60 บาท และมากกว่า 10 ล้อขึ้นไป 80 บาท ปี 2565 มีปริมาณการจราจรเฉลี่ย 193,150 คัน/วัน.