สุพริศร์ สุวรรณิก สถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์

เมื่อปลายเดือนที่ผ่านมาผู้เขียนเพิ่งมีโอกาสได้เดินทางไปเข้าร่วม Rebalancing for Executive Program เป็นเวลา 3 วัน 2 คืน ร่วมกับกัลยาณมิตร 2 ท่าน ได้แก่ ดร.อาร์ม ตั้งนิรันดร ผู้อำนวยการศูนย์จีนศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และคุณวิทวัส พันธ์พานิช ผู้บริหารโรงเรียน King’s College Bangkok ณ โรงแรม The Soul Resort อ.แก่งคอย จ.สระบุรี ซึ่งอาจถือเป็น Mindfulness Resort แห่งแรกของโลก นับเป็นประสบการณ์ที่หาได้ยากยิ่ง เพราะเป็นที่ซึ่งวิถีแห่งสติ สุขภาพ ความสมดุล ความสะดวกสบาย และการผ่อนคลายมาบรรจบกันในสถานที่ที่นับว่าเป็น Unseen ของเมืองไทยมากๆ เพราะแวดล้อมไปด้วยขุนเขาที่สวยงามอย่างน่าตกตะลึง ทำให้ชีวิตการทำงานอันยุ่งเหยิงของผู้เขียนได้กลับมามีสมดุลขึ้นได้บ้าง

ที่สำคัญ ผู้เขียนได้ทำความรู้จักกับ “Mindfulness” หรือ “การมีสติ” อย่างเข้าใจมากขึ้น เพราะได้เรียนรู้และฝึกฝนการมีสติด้วยการปฏิบัติจริง ทั้งการเดินอย่างมีสติด้วยเท้าเปล่าบนสนามหญ้า รู้การเคลื่อนไหวในทุกฝีก้าวของตน การรับประทานอาหารอย่างมีสติ รู้รสชาติอาหารในทุกคำที่ทานเข้าไป และการฝึกนั่งสมาธิเบื้องต้น เพื่อรับรู้ความเป็นไปของลมหายใจ ทั้งนี้ การฝึกสติต้องขอบอกว่าเป็น “วิถีสากล” และกำลังได้รับความนิยมในองค์กรและมหาวิทยาลัยทั่วโลก ไม่ได้จำกัดว่าเป็นหลักการของศาสนาใด หรือผู้ฝึกนั้นจะนับถือหรือไม่ได้นับถือศาสนาใด บางขุนพรหมชวนคิดวันนี้จึงขอชวนท่านผู้อ่านมาทำความรู้จักกับสติและประโยชน์ของการมีสติกันครับ

อะไรคือสติ? มีงานวิจัยในระดับสากล เช่น Brown & Ryan (2003) ที่ให้นิยามว่าเป็น “inherently a state of consciousness which involves consciously attending to one’s moment-to-moment experience” หรือเป็นสภาวะที่มีการระลึกรู้ตัวในปัจจุบัน สอดคล้องกับนิยามทางพุทธศาสนา ตามพระไตรปิฎกได้มีบันทึกไว้ว่า “สติ ตามระลึก ความหวนระลึก สติ กิริยาที่ระลึก ความทรงจำ ความไม่เลื่อนลอย ความไม่หลงลืม” (อภิ.สํ. ไทย 34/23/31) ขณะที่สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรสได้เคยให้คำจำกัดความไว้ว่า สติ คือ “ความระลึก” ซึ่งผู้เขียนขออนุญาตสรุปอย่างง่ายว่า สติคือความรู้ตัวในทุกๆขณะปัจจุบัน ระลึกได้ว่าตนเองกำลังทำอะไรอยู่ในขณะนั้นๆ เช่น เดินก็รู้ว่าเดิน นั่งก็รู้ว่านั่ง แปรงฟันก็รู้ว่าแปรงฟัน หรือแม้แต่รู้สึกนึกคิดอย่างไรในขณะนั้นๆ เช่น มีความสุขก็รู้ มีอารมณ์โกรธก็รู้ มีความคิดฟุ้งซ่านก็รู้

...

มีสติแล้วดีอย่างไร? งานวิจัยในระดับสากลและของไทยได้ชี้ให้เห็นประโยชน์ของการมีสติมากมาย ทั้งนี้ ผู้เขียนขอหยิบยกประโยชน์ของการมีสติที่สรุปไว้โดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ว่า มีทั้งในแง่ของ การทำงานของร่างกาย เช่น สมองส่วนต่างๆ สามารถติดต่อสื่อสารกันอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ร่างกายสามารถเคลื่อนไหวสอดประสานกันดีขึ้น ในแง่ของ การควบคุมอารมณ์ ซึ่งทำให้ประสิทธิภาพในการทำงานหรือความสัมพันธ์กับผู้อื่นดีขึ้น และในแง่ การพัฒนาคุณธรรม ซึ่งทำให้รู้จักยับยั้งชั่งใจ รู้ผิดชอบชั่วดี มีเมตตา โดยประสบการณ์ตรงของผู้เขียนที่เห็นได้ชัดจากการฝึกสติ คือ ทำให้ผู้เขียนมีพลังในการทำงานและตัดสินใจในการทำกิจกรรมต่างๆในชีวิตอย่างรอบคอบรอบด้านมากขึ้น

ดูเผินๆอาจเป็นเรื่องง่ายที่บางท่านอาจบอกว่า เราทุกคนก็มีสติดีอยู่แล้ว แต่ท่านผู้อ่านลองสำรวจตัวเองสิครับว่า แต่ละวัน เรามีสติระลึกรู้เท่าทันความนึกคิดและการกระทำของเรามากน้อยเพียงใด เช่น เวลาใครมาทำให้เราโกรธ เรารู้ตัวหรือไม่ว่าเรากำลังโกรธและทำอะไรต่อจากอารมณ์โกรธนั้น (ซึ่งมักจะทำให้เรื่องเล็กน้อยกลายเป็นเรื่องบานปลาย) ดังนั้น หากไม่ได้ฝึกสติ เหมือนนักกีฬาที่ต้องฝึกซ้อมทุกวัน เราจะมีสติได้อย่างไร?

ว่าแล้วผู้เขียนขอระลึกรู้ว่ากำลังเขียนบทความนี้อยู่ และขอตัวไปฝึกเดินอย่างมีสติต่อก่อนนะครับ.