อธิบดีกรมศุลกากร เผยหลังหารือร่วมกับตัวแทนกลุ่มผู้เลี้ยงสุกร หลังพบช่องโหว่ในโหมด Green line ทำหมูเถื่อนทะลัก สั่งอุดช่องโหว่ให้อาหารแช่แข็งเข้า Red Line ย้ำโปร่งใส ส่งคดีต่อให้ บช.ก.สอบต่อ

จากกรณีที่ นายสุรชัย สุทธิธรรม นายกสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ ได้นัดเกษตรกรผู้เลี้ยงสุกรทั่วประเทศ นัดรวมตัวจำนวนกว่า 1,000 คน เข้ายื่นคำร้องต่อรัฐบาลที่ทำเนียบรัฐบาล เมื่อวันที่ 9 พ.ค. 2566 ที่ผ่านมา เพื่อเรียกร้องให้เร่งปราบปรามขบวนการหมูเถื่อน พร้อมเอาผู้กระทำความผิดมาลงโทษอย่างจริงจัง หลังต้องเผชิญกับปัญหาหมูเถื่อนกระจายอยู่ในท้องตลาดอย่างเปิดเผยมาอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ต้นปี 2565 จากนั้นได้มีการเดินทางไปยังกรมศุลกากร เพื่อเรียกร้องให้ดำเนินการอย่างจริงจังกับผู้นำเข้าที่เป็นเจ้าของสินค้าสุกรลักลอบ ที่มีตู้เย็นคอนเทนเนอร์ตกค้างถึง 161 ตู้ ที่ท่าเรือแหลมฉบัง และให้ดำเนินการในลักษณะเดียวกันกับท่าอื่นๆ พร้อมสืบค้นข้อมูลย้อนหลังของผู้นำเข้าที่มีประวัติการกระทำความผิด

ต่อมาในช่วง 15.00 น. วันที่ 9 พ.ค. 2566 นายพชร อนันตศิลป์ อธิบดีกรมศุลกากร ได้เชิญตัวแทนจากกลุ่มผู้เลี้ยงสุกรนับ 1,000 ราย นำโดย นายสุรชัย สุทธิธรรม นายกสมาคมกลุ่มผู้เลี้ยงสุกร และตัวแทนกลุ่มผู้เลี้ยงสุกรทั่วประเทศ โดยกลุ่มผู้เลี้ยงสุกรได้ยื่นหนังสือขอให้กรมศุลกากร ดำเนินการปราบปรามผู้นำเข้าหมูเถื่อนอย่างจริงจัง

...

ทั้งนี้ ผลการหารือมีข้อสรุปร่วมกันระหว่างกรมศุลกากรและสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ ดังนี้

กรมศุลกากรจะปรับปรุงกลุ่มอาหารแช่แข็งที่กำลังผ่านพิธีศุลกากร ให้เป็นระบบเรดไลน์ทั้งหมด โดยอาจจะยกเว้นผู้นำเข้าที่มีประวัตินำเข้าดีมายาวนาน ไม่เคยมีประวัติเสื่อมเสีย 

1. เนื่องจากปัญหาหมูเถื่อนสร้างความเสียหายมาก ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจของประเทศ และความเสียหายต่อเกษตรกรผู้เลี้ยงสุกรภายในประเทศ โดยนโยบายใหม่ของกรมศุลกากร คือ ทุกการกระทำความผิดและมีตู้ตกค้าง คดีจะไม่จบที่ศุลกากร แต่จะส่งต่อไป บช.ก.

2. ตู้เย็นคอนเทนเนอร์ตกค้างที่ท่าเรือแหลมฉบัง 161 ตู้ แยกเป็น 2 ส่วน กรณีที่ 1 เมื่อคดีสิ้นสุดแล้ว จะส่งของกลางให้กรมปศุสัตว์ทำลาย กรณีที่ 2 ตามนโยบายใหม่ ตู้ตกค้างจะถูกส่งให้กับพนักงานสืบสวนของตำรวจสอบสวนกลาง

3. อธิบดีกรมศุลกากร ขอยืนยันในเรื่องความโปร่งใส ขอให้สบายใจได้ ทุกตู้เย็นคอนเทนเนอร์สินค้าสุกรลักลอบตกค้าง จะมีสถานะเป็นของกลาง จะไม่มีการเล็ดลอดออกมา และเมื่อเป็นของกลางจึงหลุดรอดไปไม่ได้

4. การดำเนินการนำเข้าสินค้าแช่เย็น แช่แข็ง ในอนาคตต้องมีกระบวนการดำเนินการตาม SOP หรือ Standard Operation Procedures ใหม่ มีการรายงานข้อมูลเชิงสถิติในเว็บไซต์กรมศุลกากร เพื่อตรวจสอบได้แบบอัปเดต

5. ตั้งตัวแทนประสานงานร่วมกัน โดยคณะทำงานจากสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ ตัวแทนกรมศุลกากร ตัวแทนกรมปศุสัตว์ ตัวแทนกรมการค้าภายใน และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ มีฮอตไลน์ประสานติดต่อกันโดยตรงภายใน เพื่อการประสานงานฉับพลันต่อเนื่อง

6. กลุ่มสินค้าแช่แข็ง (Frozen Foods) ต่อจากนี้ ต้องผ่านระบบ Red Line เท่านั้นไม่ผ่าน Green Line เพื่อลดโอกาสหลุดรอด หรือทุจริต

7. การประสานงานต่อจากนี้ เรื่องนี้ยกระดับขึ้นเป็นระดับกรมต่อกรมโดยตรง โดยคณะทำงานชุดนี้จะไม่ใช่แค่ระดับจังหวัด หรือระดับด่านแบบที่ผ่านมา

8. ทุกตู้สินค้าที่อายัดไว้ สามารถดำเนินการตรวจสอบได้ โดยคณะกรรมการสมาคมฯ และกรมศุลกากรส่วนกลาง 

9. รายชื่อผู้ที่เป็นคดีความ กรมไม่สามารถเปิดเผยรายชื่อได้ เนื่องจากกรมจะส่งคดีไปที่กรมสอบสวนกลาง การจะเปิดเผยได้หรือไม่ อยู่ที่พนักงานสอบสวน ตำรวจสอบสวนกลาง

ส่วนการประชุมที่ทำเนียบรัฐบาล ตามที่มีข้อเรียกร้อง 2 ข้อ ได้แก่ 1. การเร่งปราบปรามหมูเถื่อน ก็จะยึดตามการประชุมร่วมกับอธิบดีกรมศุลกากรเป็นหลัก 2. การเร่งแก้ปัญหาราคาวัตถุดิบอาหารสัตว์ ทั้ง 3 ประกาศ ทางกลุ่มผู้เลี้ยงสุกรขอให้กระทรวงพาณิชย์ให้คำตอบภายในสิ้นเดือน พ.ค. 2566 ประกอบด้วย

...

1. แก้ราคาข้าวโพดเลี้ยงสัตว์หน้าโรงงาน และราคากากถั่วเหลืองเมล็ดนำเข้า ที่มีราคาสูงเกินจริง

2. ยกเลิกการนำเข้ากากถั่วเหลือง จาก 2% เป็น 0% เพื่อความเสมอภาคกับผู้นำเข้าเมล็ดถั่วเหลือง ที่มีอากรขาเข้า 0% 

3. ยกเลิกระเบียบกระทรวงพาณิชย์ ว่าด้วยหลักเกณฑ์และเงื่อนไขในการขออนุญาต และการอนุญาตให้นำเข้าข้าวสาลีเข้ามาในราชอาณาจักร ฉบับที่ 3 พ.ศ.2565 เนื่องจากเป็นระเบียบที่สร้างความได้เปรียบเกินควร ส่อว่าจะมีการใช้อำนาจหน้าที่โดยมิชอบในคณะที่เคยมีผู้ส่งออกข้าวสาลีในต่างประเทศ ร้อง WTO ว่าเป็นมาตรการกีดกันทางการค้าระหว่างประเทศ.