ปัญหาฝุ่นควันพิษ PM 2.5 กลายเป็นปัญหาประจำถิ่นประจำฤดูของประเทศไทยและภูมิภาคนี้ไปแล้ว

เข้าช่วงหน้าแล้งทุกปี ชาวไร่ ชาวนา ชาวเขา ทั้งในเมียนมา ลาว กัมพูชา เวียดนาม และไทยแลนด์ ต่างเฮโลสาระพาเผาทำลายวัชพืช ปรับพื้นที่เตรียมไว้ทำการเกษตรในช่วงฤดูเพาะปลูก

เคราะห์หามยามร้าย ไฟลามเข้าพื้นที่ป่าไม้ กลายเป็นไฟป่า โหมไหม้กระจายเป็นวงกว้างควันโขมง

ถือเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้เกิดวิกฤติฝุ่นควันพิษ PM 2.5 ขนานแท้

ล่าสุด สถานการณ์ฝุ่นควัน ไฟป่า ทั้งภาคเหนือตอนบน ภาคอีสานบางจังหวัด ยังหนักหนาสาหัส ข้อมูลดาวเทียมจากสนง.พัฒนาเทคโนโลยีอวกาศฯ GISTDA พบว่า ในประเทศไทยพบจุดความร้อน 5,396 จุด เมียนมา 6,877 จุด สปป.ลาว 4,066 จุด กัมพูชา 739 จุด และเวียดนาม 62 จุด

โดยจุดความร้อนในไทย ส่วนใหญ่พบในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ 3,024 จุด พื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ 1,790 จุด พื้นที่เกษตร 251 จุด พื้นที่ชุมชนอื่นๆ 167 จุด พื้นที่ ส.ป.ก.157 จุด และพื้นที่ริมทางหลวง 7 จุด

จังหวัดที่พบจุดความร้อนมากที่สุด คือ จ.น่าน 555 จุด แม่ฮ่องสอน 429 จุด และอุตรดิตถ์ 382 จุด

สรุปว่าสถานการณ์ไฟป่าและฝุ่นควันกำลังวิกฤติอย่างสุดๆเลยนะโยม!!!

ล่าสุด พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม ย้ำถึงการแก้ปัญหาฝุ่นควัน PM 2.5 จากการเผาวัชพืชและไฟป่า ว่าได้กำชับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแก้ปัญหาทั้งระดับพื้นที่ ส่วนกลาง และระดับประเทศ

เพราะจุดความร้อนเกิดขึ้นหลายพื้นที่ โดยเฉพาะภาคเหนือต้องขอความร่วมมือจากประเทศเพื่อนบ้าน เรื่องลดการเผาวัชพืช และต้องเสนอเป็นวาระอาเซียน ขณะที่เกษตรกรไทยก็ต้องช่วยกัน ไม่เช่นนั้นผลกระทบจะมากขึ้น

วิงวอนประเทศเพื่อนบ้านและคนไทยช่วยลดการเผา ว่างั้นเหอะท่านมหา!!!

...

ขณะที่ อนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกฯ และ รมว.สาธารณสุข สำทับเรื่องการดูแลรักษาประชาชนจากฝุ่น PM 2.5 ว่ากระทรวงสาธารณสุขมีความพร้อมทั้งยา เวชภัณฑ์ และโรงพยาบาล โดยขณะนี้ผู้ป่วยในพื้นที่ภาคเหนือมีประมาณ 4,000 รายต่อสัปดาห์

โรงพยาบาลยังสามารถให้บริการผู้ป่วยได้ ส.บ.ม.สบายมาก!!!

แต่ที่น่าต๊กกะใจก็คือ การที่ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย ระบุว่ากรณีปัญหาฝุ่น PM 2.5 ได้สั่งการให้ผู้ว่าราชการจังหวัดและผู้ว่าฯกทม. ทำไปตามกรอบของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

ถ้ามีเหตุวิกฤติในพื้นที่ใดก็จะแจ้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้พิจารณาว่าจะประกาศเป็นพื้นที่ประสบภัยหรือไม่

แต่ฝุ่นควัน PM 2.5 ไม่เหมือนภัยแล้ง ภัยหนาว ไม่รู้ว่าจะกำหนดด้วยอะไร และต้องดูแลประชาชนอย่างไร

เพราะยังไม่มีระเบียบเกี่ยวกับภัยพิบัติจากฝุ่นควัน PM 2.5 ออกมา มันจึงยาก และอาจกระทบการท่องเที่ยว เพราะเมื่อประกาศสถานการณ์ภัยพิบัติแล้ว จะมีเรื่องของค่าประกันภัยการท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นมา

สรุปคือ ยังไม่มีระเบียบว่าด้วยการประกาศภัยพิบัติจากฝุ่นควัน จะประกาศอย่างไร ยังหารือกันอยู่???

ทำงานอืดเป็นเรือเกลือแบบนี้ เดี๋ยวชาวบ้านก็เป็นโรคปอดกันทั้งประเทศ ซิทั่นพระครู!!!

“พ่อลูกอิน”