ส.ป.ก.มุ่งพัฒนาศักยภาพพื้นที่ พร้อมยกระดับ "ผลิตภัณฑ์เด่น" ของเกษตรกรในเขตปฏิรูปที่ดินให้เป็นชุมชนต้นแบบ ในการสร้างภาพลักษณ์และทัศนคติที่ดีต่อการเลือกบริโภคสินค้าเกษตร

เมื่อวันที่ 20 มี.ค. 2566 เวลา 09.00 น. นายวิณะโรจน์ ทรัพย์ส่งสุข เลขาธิการสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) เป็นประธานการประชุมคณะอนุกรรมการโครงการและการเงินกองทุนการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (อกก.คง.) ครั้งที่ 2/2566 ณ ห้องประชุมไชยยงค์ ชูชาติ ส.ป.ก. ถนนราชดำเนินนอก กรุงเทพฯ โดยมีวาระสำคัญในการพิจารณาอนุมัติค่าใช้จ่ายสำหรับพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานภายในแปลงเกษตรกรรม เกษตรกรสภาประชาชน 4 ภาค จ.เพชรบุรี รวมทั้งอนุมัติใช้เงินกองทุนการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมในการพัฒนาศักยภาพ บุคลากรและเกษตรกรในพื้นที่ ตลอดจนยกระดับผลิตภัณฑ์ของเกษตรกรในเขตปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม

เลขาธิการ ส.ป.ก. กล่าวว่า สำหรับโครงการที่ได้รับอนุมัติงบประมาณสนับสนุนเงินกองทุนการปฏิรูปที่ดินฯ นั้น เป็นโครงการพัฒนาโครงสร้างขั้นพื้นฐานภายในเขตปฏิรูปที่ดิน ซึ่งได้จัดเกษตรกรเข้าทำประโยชน์ในพื้นที่แล้ว นอกจากภารกิจหลักในการจัดที่ดิน ส.ป.ก. ยังมีอีกหนึ่งพันธกิจคือ เพิ่มศักยภาพให้กับพื้นที่เกษตรกรรม การสร้างความสามารถในการแข่งขัน มุ่งเน้นการยกระดับศักยภาพของประเทศในหลากหลายมิติ และในการประชุมครั้งนี้ คณะอนุกรรมการฯ ได้พิจารณาอนุมัติและเห็นชอบโครงการต่างๆ ได้แก่ 1. โครงการและใช้เงินกองทุนการปฏิรูปที่ดินฯ เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายตามโครงการก่อสร้างถนนสายหลักและสายซอยผิวจราจรหินคลุกในแปลงเกษตรกรรม เกษตรกรสภาประชาชน 4 ภาค ต.กลัดหลวง และ ต.เขากระปุก อ.ท่ายาง จ.เพชรบุรี เพื่อให้เกษตรกรมีเส้นทางในการคมนาคมที่สะดวกรวดเร็วและปลอดภัยมากขึ้น รวมถึงเพื่อเป็นการเพิ่มศักยภาพของพื้นที่และภาคการผลิต โดยก่อสร้างถนนสายหลัก จำนวน 1 สาย ระยะทางรวม 0.543 กิโลเมตร และถนนสายซอย จำนวน 7 สาย ระยะทางรวม 3.869 กิโลเมตร รวมเป็นเงิน 4,101,600 บาท

...

2. ขออนุมัติโครงการและใช้เงินกองทุนการปฏิรูปที่ดินฯ เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายตามโครงการผลิตและเผยแพร่สื่อ เพื่อส่งเสริมช่องทางการจำหน่ายสินค้าและผลิตภัณฑ์ของชุมชนต้นแบบในเขตปฏิรูปที่ดิน สร้างการรับรู้ให้แก่ผู้บริโภค ตลอดจนการสร้างภาพลักษณ์และทัศนคติที่ดีต่อการเลือกบริโภคสินค้าเกษตรในเขตปฏิรูปที่ดิน รวมทั้งสามารถยกระดับมูลค่าสินค้า และเพิ่มความสามารถในการผลิตของเกษตรกรในพื้นที่ เพื่อตอบสนองความต้องการของตลาด สร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจได้อย่างยั่งยืน

3. ขออนุมัติค่าใช้จ่ายและใช้เงินกองทุนการปฏิรูปที่ดินฯ เพื่อเพิ่มศักยภาพการดำเนินงานในโครงการต่างๆ ได้แก่ โครงการอบรมเชิงปฏิบัติการ หลักสูตร "การเพิ่มขีดความสามารถในการวิเคราะห์สินเชื่อเงินกองทุนการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม" โครงการพัฒนาบุคลากร เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินงานกองทุนฯ หลักสูตรฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการ "การบริหารจัดการทรัพย์สิน การประเมินมูลค่าทรัพย์สินและพัฒนารายได้จากที่ดินหรืออสังหาริมทรัพย์" รุ่นที่ 1 และ ขอความเห็นชอบแผนบริหารความเสี่ยงของกองทุนการปฏิรูปที่ดินฯ ประจำปีบัญชี 2566 และคู่มือบริหารความเสี่ยงกองทุนการปฏิรูปที่ดินฯ ประจำปีบัญชี 2566.