ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง พิพากษาจำคุก 20 ปี “วรุธ สุวกร” อดีตกรรมการผู้จัด การใหญ่ทีโอทีพร้อมชดใช้คืนเงินกว่า 1,000 ล้านบาทบวกดอกเบี้ย กรณีอนุมัติจ่ายเงินให้บริษัทสามารถไอ-โมบาย จำกัด (มหาชน) ทั้งที่เกินอำนาจและถูกคัดค้าน ก่อนถูกคุมตัวไปขังที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ เพื่อรอผลคำสั่งปล่อยตัวชั่วคราวจากศาลอุทธรณ์

ที่ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง เมื่อวันที่ 16 มี.ค. ศาลนัดฟังคำพิพากษา คดีหมายเลขดำที่ อท 139/2565 ที่อัยการสูงสุดยื่นฟ้องนายวรุธ สุวกร อดีตกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัททีโอที จำกัด (มหาชน) เป็นจำเลย ความผิดต่อ พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ

คดีนี้โจทก์ฟ้องว่าจำเลยรักษาการกรรมการผู้จัดการใหญ่ ต่อมาได้รับแต่งตั้งให้เป็นกรรมการผู้จัดการใหญ่บริษัททีโอที จำกัด (มหาชน) เมื่อวันที่ 14 ม.ค.63 ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบให้บริษัททีโอที จำกัด (มหาชน) และบริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) ควบรวมกิจการเป็นบริษัทเดียวตาม พ.ร.บ.บริษัทมหาชน จำกัด พ.ศ.2535 ภายใต้ชื่อบริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) หรือเอ็นที มีกระทรวงการคลังเป็นผู้ถือหุ้นทั้งหมด บริษัท โทรคมนาคม แห่งชาติ จำกัด (มหาชน) หรือเอ็นที มีหน้าที่รับไปทั้งทรัพย์สิน หนี้ สิทธิ หน้าที่ และความรับผิดชอบของบริษัททีโอที จำกัด (มหาชน) ทั้งหมด ระหว่างวันที่ 30 เม.ย.-13 ต.ค.51 เวลากลางวันต่อเนื่องและเกี่ยวพันกัน จำเลยรับมอบหมายจากคณะกรรมการบริษัททีโอที จำกัด (มหาชน) ให้ไปเจรจากับบริษัทสามารถไอ-โมบาย จำกัด (มหาชน) หลังบริษัททีโอที จำกัด (มหาชน) ถูกบริษัทดังกล่าวฟ้องเป็นคดีต่อศาลแพ่ง เรื่องผิดสัญญาและเรียกร้องเงินจำนวน 2,648,771,009 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินนับถัดจากวันฟ้อง จำเลยเป็นพนักงานที่มีหน้าที่ซื้อ ทำ จัดการและรักษาทรัพย์ของบริษัททีโอที จำกัด (มหาชน) ใช้อำนาจหน้าที่โดยทุจริต ด้วยการอนุมัติจ่ายเงินให้แก่บริษัทสามารถ ไอ-โมบาย จำกัด (มหาชน) เกินกว่าวงเงิน 10 ล้านบาท ที่จำเลยมีอำนาจอนุมัติ ทั้งไม่เข้าข้อยกเว้นตามคำสั่งคณะกรรมการบริษัททีโอที จำกัด (มหาชน) และจำเลยมิได้ขออนุมัติการจ่ายเงินดังกล่าวจากที่ประชุมคณะกรรมการ ทำให้บริษัทสามารถ ไอ-โมบาย จำกัด (มหาชน) ได้รับชำระเงินไปเป็นจำนวนเกินกว่าที่บริษัททีโอที จำกัด (มหาชน) ควรต้องจ่าย สร้างความเสียหายเป็นเงิน 525,370,000 บาท

...

จำเลยให้การปฏิเสธ อ้างว่าอนุมัติจ่ายเงินให้แก่บริษัทสามารถไอ-โมบาย จำกัด (มหาชน) เป็นไปตามผลการเจรจาของคณะกรรมการเพื่อพิจารณาและกำหนดแนวทางที่นำเสนอมาและมติที่ประชุมของคณะกรรมการบริษัททีโอที จำกัด (มหาชน) ครั้งที่ 19/2551 ให้อำนาจจำเลยอนุมัติจ่ายเงินตามฟ้องได้ เนื่องจากเป็นเรื่องการบริหารจัดการสัญญาของฝ่ายบริหาร ทั้งเป็นการปฏิบัติตามสัญญาที่ยกเว้นให้จำเลยมีอำนาจอนุมัติจ่ายเงินได้เกินกว่า 10 ล้านบาท ตามคำสั่งคณะกรรมการที่ 29/2546 และจำเลยไม่ต้องให้ที่ประชุมคณะกรรมการพิจารณาอนุมัติจ่ายเงินจำนวนดังกล่าว เพราะตามมติที่ประชุมที่ 19/2551 ให้อำนาจจำเลยไว้แล้วตามคำสั่งที่ ส.10/ 2561 เรื่องผลการสอบสวนผู้รับผิดทางแพ่งสรุปว่า การจ่ายเงินตามฟ้อง จำเลยไม่มีความผิดทางแพ่ง

ทางไต่สวนพยานหลักฐานจากการพิจารณาของศาลประกอบรายงานการไต่สวน มีปัญหาต้องวินิจฉัยว่า การกระทำของจำเลยที่อนุมัติจ่ายเงินจำนวนดังกล่าวเป็นความผิดตามฟ้องหรือไม่ เมื่อข้อเท็จจริงตามฟ้องฟังได้ว่าจำเลยอนุมัติสั่งจ่ายเงินให้แก่บริษัทสามารถไอ-โมบาย จำกัด (มหาชน) เกินกว่า 10 ล้านบาท จำเลยต้องขอความเห็นชอบจากที่ประชุมคณะกรรมการบริษัททีโอที จำกัด (มหาชน) เสียก่อน เว้นแต่เป็นการปฏิบัติตามเงื่อนไขข้อผูกพันในสัญญาตามคำสั่งคณะกรรมการบริษัททีโอที จำกัด (มหาชน)

ทั้งนี้ การนํายอดเงินจํานวนเต็มตามฟ้อง ในคดีแพ่งมาเป็นหลักในการเจรจาต่อรองเท่ากับเป็นการยอมรับว่าบริษัททีโอที จํากัด (มหาชน) เป็นฝ่ายผิดสัญญาและยอมรับผิดเต็มตามฟ้อง นอกจากนี้ก่อนและหลังจำเลยอนุมัติให้จ่ายเงินแก่บริษัทสามารถไอ-โมบาย จำกัด (มหาชน) มีการคัดค้านจากบุคคลภายในหน่วยงานของจําเลยหลายครั้ง โดยเฉพาะมีการยกเลิกเช็คสั่งจ่ายเงินให้แก่บริษัทสามารถไอ-โมบาย จำกัด (มหาชน) เพราะฝ่ายการเงินและบัญชีคัดค้านเรื่องอำนาจจ่ายเงินของจำเลย แต่จำเลยก็ยังอนุมัติให้มีการจ่ายเงินจำนวนดังกล่าวโดยไม่หารือหรือขอความคิดเห็นจากหน่วยงานที่มีหน้าที่ตอบข้อหารือหรือนำเข้าที่ประชุมคณะกรรมการบริษัททีโอที จํากัด (มหาชน) การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดฐานเป็นพนักงานมีหน้าที่ซื้อ ทำ จัดการหรือรักษาทรัพย์ ได้ใช้อำนาจในหน้าที่โดยทุจริตอันเป็นการเสียหายแก่บริษัทโทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) กับเป็นพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่บริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) หรือโดยทุจริต

พยานหลักฐานโจทก์ที่นำสืบรับฟังได้ว่า จําเลยกระทําความผิดตามฟ้องและต้องรับผิดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่บริษัททีโอที จำกัด (มหาชน) หรือบริษัทโทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) ผู้ร้องพร้อมดอกเบี้ยตามคำร้องพิพากษาจำเลยมีความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2502 ม.8 จำคุก 20 ปี กับให้จำเลยใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่ผู้ร้องเป็นเงิน 1,062,147,006.16 บาทพร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 5 ต่อปี ของต้นเงิน 525,370,000 นับถัดจากวันที่ 15 ธ.ค.65

ภายหลังมีคำพิพากษานายวรุธ สุวกร อดีตกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัททีโอที จำกัด (มหาชน) จำเลยยื่นคำร้องขอปล่อยชั่วคราว ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลางพิจารณาเเล้วส่งคำร้องให้ศาลอุทธรณ์เป็นผู้พิจารณา คุมตัวจำเลยไปขังที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ เพื่อรอผลคำสั่งปล่อยตัวชั่วคราวจากศาลอุทธรณ์ต่อไป