นายกสมาคมเครือข่ายโรคไม่ติดต่อไทย ชี้ภาวะอ้วนรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ พบคนไทย 42% ลงพุง เส้นรอบเอวเกินค่ามาตรฐาน โดยเฉพาะคนกรุง ขณะที่ตัวเลขโรคเบาหวาน ขยับเข้าสู่คนวัยทำงานแล้ว จากเดิมอยู่ในกลุ่มผู้สูงอายุ หนุนรัฐเดินหน้า เก็บภาษีน้ำตาลระยะ 3 เมษาฯ นี้ ยันทำต่อเนื่อง เป็นการแสดงความรักอย่างจริงใจของรัฐบาลที่มีต่อประชาชน
เมื่อวันที่ 9 มี.ค.66 รศ.นพ.เพชร รอดอารีย์ นายกสมาคมเครือข่ายโรคไม่ติดต่อไทย กล่าวถึงสถานการณ์ปัญหาสุขภาพของคนไทยที่กำลังเผชิญอยู่ คือ โรคอ้วน โรคเบาหวาน โรคไขมันในเลือดสูง โรคความดันโลหิตสูง โรคหัวใจและหลอดเลือด รวมทั้งโรคมะเร็งด้วย โดยมีข้อมูลล่าสุด พบว่า คนไทย 42% ดัชนีมวลกาย (BMI) หรือมีเส้นรอบเอวเกินค่ามาตรฐาน ซึ่งหากย้อนหลังกลับไป 10 ปี พบคนไทยเพียง 35% ที่มีค่า BMI เกินมาตรฐาน
“ที่น่าตกใจ จากข้อมูลการสำรวจสุขภาวะคนไทยเมื่อปี 2563 ดูค่า BMI พบ คนกรุงเทพฯ 56% อ้วน โดยผู้หญิงพบมากกว่าผู้ชาย เช่นเดียวกับที่ต่างจังหวัด สิ่งที่ตามมาส่งผลให้สถานการณ์ของโรคเบาหวาน พุ่งตามมาด้วย จากเดิม 6% เป็น 11-12% ในปัจจุบัน เรียกว่า เพิ่มขึ้นเกือบเท่าตัว”
นายกสมาคมเครือข่ายโรคไม่ติดต่อไทย กล่าวถึงตัวเลขของโรคเบาหวาน ได้ขยับเข้าสู่คนวัยทำงาน จากเดิมพบในกลุ่มผู้สูงอายุ อายุ 40 ปี เป็นเบาหวานกันเยอะ ฉะนั้นทางสมาคมเครือข่ายโรคไม่ติดต่อไทย ให้ความสนใจ และมองว่า สถานการณ์จะรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ คำว่า อ้วน ตามหลักทางการแพทย์คือภาวะที่น้ำหนักตัวเกินจนทำให้เกิดปัญหาต่อสุขภาพ ทั้งอ้วนมากก็หายใจลำบาก (Obstructive Sleep Apnea: OSA) หมดสติ ที่สำคัญยังนำไปสู่กลุ่มโรค NCDs”
รศ.นพ.เพชร กล่าวว่า ช่วงสถานการณ์โควิด ยิ่งทำให้เห็นชัด ผู้เสียชีวิตจากโควิดในประเทศไทย 70% ส่วนใหญ่จะเป็นโรคอ้วน และอยู่ในกลุ่มโรค NCDs ถามว่า การทำให้คนไทยไม่อ้วน เป็นเรื่องสำคัญหรือไม่ “ผมว่า เป็นเรื่องสำคัญมาก ช่วงโควิดเราไขว่คว้าหาวัคซีนกันจ้าละหวั่น แต่เราลืมนึก คนเสียชีวิตง่ายกว่าคนอื่น คือ ผู้ที่มีภาวะโรคอ้วน เบาหวาน ไขมัน ความดัน ตอนนี้โรคสงบอยู่ เราสามารถป้องกัน สร้างภูมิคุ้มกันให้กับประชาชน ป้องกันไม่ให้อ้วน ให้ประชาชนหันมาดูแลสุขภาพ ออกกำลังกาย รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ เนื่องจากโรคอ้วน เบาหวาน ไขมัน ความดัน นำมาซึ่งค่ารักษาพยาบาล การทุ่มเทรักษาคนป่วยตอนท้าย ไหนจะโรคแทรกซ้อนอีก เรียกว่า แพงกว่าการป้องกันหลายเท่า
...
นายกสมาคมเครือข่ายโรคไม่ติดต่อไทย กล่าวถึงการศึกษาเปรียบเทียบ อาหารที่มีพลังงานมาก ระหว่าง ข้าว กับน้ำหวาน ในปริมาณที่มีน้ำตาลเท่ากัน พบว่า คนที่ดื่มน้ำหวาน จะอ้วนมากกว่า คนที่กินข้าว ซึ่งการกินอาหารที่มีกากใยด้วย ผ่านกระบวนการย่อยทำให้คนอ้วนน้อยกว่า แตกต่างจากการดื่มน้ำตาลที่ละลายในเครื่องดื่ม ชาเขียว ชาไขมุก เครื่องดื่มอัดลมในกระป๋องที่ใส่น้ำตาล เมื่อดื่มเข้าร่างกายจะดูดซึมเข้าไป ไม่ได้ช่วยให้อิ่ม ร่างกายยังสามารถกินอาหารจานหลักได้อีก ดังนั้นพลังงานจึงเกินความจำเป็นของร่างกายอย่างมาก โดยหลักการแพทย์ จึงแนะนำให้ดื่มเครื่องดื่มที่เติมน้ำตาลไม่เกิน 10% ของพลังงานที่ร่างกายต้องการ หรือเท่ากับน้ำตาล 50 กรัม (10 ช้อนชา) นี่คือที่ไปที่มา ทำไมเราไม่ควรดื่มเครื่องดื่มที่มีน้ำตาลเกินนี้
นายกสมาคมเครือข่ายโรคไม่ติดต่อไทย กล่าวถึงการบริโภคเครื่องดื่มที่มีน้ำตาลมากๆ ด้วยว่า จะทำให้คนไทยติดหวาน มีความรู้สึกฟิน มีความสุข ได้ของหวานจะชื่นใจ และก็จะอยากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งก็มีหลักฐานชัดเจนหากเราบริโภคเครื่องดื่มที่เติมน้ำตาลทำให้อ้วนขึ้นแน่ๆ และจะติดหวานด้วย
"ต้องขอบคุณรัฐบาลที่มีการเก็บภาษีน้ำตาล โดยเดือนเมษายนนี้ เข้าสู่การเก็บภาษีน้ำตาลระยะที่ 3 ผลที่ผ่านมาทำให้ภาคอุตสาหกรรมปรับตัวออกผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มที่ไม่มีน้ำตาล (Zero Sugar) สังคมไทยได้เครื่องดื่มที่ดีต่อสุขภาพในท้องตลาดมากขึ้น และกระตุ้นให้เกิด norm หรือเป็นภาวะปกติของสังคมไทยที่ดื่มเครื่องดื่มที่ไม่มีน้ำตาล อีกทั้งกระแสความรับรู้ของประชาชนก็ชัดเจนขึ้นด้วยว่า น้ำตาลไม่ดีต่อสุขภาพ รวมถึงการสั่งหวานน้อยสั่งได้ ของกระทรวงสาธารณสุข ที่รณรงค์มาอย่างต่อเนื่อง กระแสนี้ได้ส่งไปถึงร้านเครื่องดื่มรายย่อย ผมเห็นว่า เรื่องมาตรการทางภาษีหากทำอย่างต่อเนื่องจะเป็นการแสดงความรักอย่างจริงใจของรัฐบาลที่มีต่อประชาชน"