นายวิศณุ ทรัพย์สมพล รองผู้ว่าฯ กทม. กล่าวว่า สำนักการจราจรและขนส่ง (สจส.) ได้รายงานความคืบหน้าการเตรียมพร้อมเดินรถ โครงการรถโดยสารประจำทางด่วนพิเศษ BRT สายสาทร-ราชพฤกษ์ หลังจากหมดสัญญา เดือน ส.ค.66 ซึ่งขณะนี้บริษัทที่ปรึกษา สจส.อยู่ระหว่างจัดทำมาร์เกตซาวดิ้งโครงการฯ จากผู้ประกอบการเดินรถโดยสาร ประมาณ 4-5 ราย อาทิ บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด หรือบีทีเอสซี ซึ่งปัจจุบันวิ่งให้บริการรถ BRT บริษัท ไทย สมายล์ บัส จำกัด บริษัทรถไฟฟ้า (ประเทศไทย) จำกัด และบริษัท ลาดกระบังขนส่งจำกัด เป็นต้น ว่ามีความสนใจที่จะเข้าร่วมเดินรถหรือไม่ และเปิดรับข้อมูลรูปแบบการบริหารจัดการโครงการฯ ตัวสถานีควรจะเป็นอย่างไร รวมถึงระบบรถ ระบบตั๋วจะใช้รูปแบบใด เป็นต้น เพื่อนำข้อมูลที่ได้มาประกอบการพิจารณาจัดทำร่างเอกสารประกวดราคาคัดเลือกเอกชน หรือทีโออาร์ คาดว่าร่างทีโออาร์จะแล้วเสร็จเดือน มี.ค.นี้ จากนั้นจะประกาศลงเว็บไซต์ตามระเบียบจัดซื้อจัดจ้างเพื่อรับฟังความคิดเห็นจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อรวบรวมความคิดเห็นจากทุกภาคส่วนและปรับแก้ไขให้เกิดความเหมาะสมก่อนประกาศประกวดราคาต่อไป ตามแผนจะให้แล้วเสร็จก่อนสัญญาจ้างเดินรถ BRT จะสิ้นสุด เดือน ส.ค.66
นายวิศณุกล่าวว่า ในส่วนของบีทีเอสซีที่ให้จัดการเดินรถขณะนี้ เบื้องต้นแจ้งว่า บริษัทไม่ประสงค์จะเดินรถ BRT เนื่องจากต้นทุนในการบริหารจัดการสถานีสูง เมื่อเปรียบเทียบกับค่าโดยสารที่ถูกและปริมาณผู้โดยสารต่ำ ทำให้บริษัทประสบปัญหาขาดทุนเรื่อยมา โดยเสนอให้ยกเลิกสถานี เปลี่ยนมาใช้ป้ายรถประจำทางปกติที่ไม่ต้องมีพนักงานดูแล เพื่อลดต้นทุนการบริหารจัดการ
รายงานข่าวแจ้งว่า สำหรับโครงการรถโดยสารประจำทางด่วนพิเศษ BRT สายสาทร-ราชพฤกษ์ มีรถให้บริการ 25 คัน ระยะทาง 15.9 กม. จำนวน 12 สถานี ให้บริการตั้งแต่เวลา 06.00-24.00 น. โดยปัจจุบัน กทม. โดยบริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด (เคที) ได้ให้สิทธิ บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (บีทีเอสซี) เป็นผู้เดินรถระยะเวลาสัญญา 6 ปี เริ่มวันที่ 1 ก.ย.2560 ถึงวันที่ 31 ส.ค.2566 แลกกับการหาประโยชน์จากการโฆษณาแทนการว่าจ้าง ทั้งนี้ ตลอดระยะเวลาดำเนินโครงการฯ ประสบปัญหาขาดทุน เนื่องจากจำนวนผู้โดยสารต่ำกว่าประมาณการ 25,000-30,000 เที่ยวคนต่อวัน ปัจจุบันเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 9,000-10,000 เที่ยวคนต่อวัน โดยเก็บค่าโดยสาร 15 บาท ตลอดสาย.
...