เมื่อวันที่ 22 ก.พ.66 ที่อาคารไอราวัตพัฒนา ศาลาว่าการ กทม.2 ดินแดง รศ.ดร.วิศณุ ทรัพย์สมพล รองผู้ว่าฯกทม. เป็นประธานเปิดงานเสวนาวิชาการ “แผ่นดินไหวตุรกี กทม.พร้อมแค่ไหน” โดยการเสวนาในวันนี้ เป็นการเสริมความรู้ สร้างความเข้าใจ เพื่อให้สามารถเตรียมพร้อมรับมือ ป้องกัน หรือลดความเสี่ยงหากเกิดเหตุการณ์แผ่นดินไหวขึ้นได้

รายงานข่าวแจ้งว่า ปัจจุบัน กทม.มีการบังคับใช้กฎหมายว่าด้วยการควบคุมอาคาร ที่มีเกณฑ์การบังคับด้านการออกแบบ การก่อสร้าง การดัดแปลงอาคารให้มีความมั่นคงแข็งแรง และมีระบบความปลอดภัยสำหรับผู้ใช้อาคาร ซึ่งในกรุงเทพฯมีอาคารที่เข้าข่ายการบังคับตามกฎกระทรวง กําหนดการรับน้ำหนัก ความต้านทาน ความคงทนของอาคาร และพื้นดินที่รองรับอาคารในการต้านทานแรงสั่นสะเทือนของแผ่นดินไหว พ.ศ.2550 และ พ.ศ.2564 จำนวน 3,028 หลัง ซึ่งได้รับการออกแบบตามเกณฑ์การบังคับของกฎหมายแล้ว ขณะที่มีอาคารเก่าที่ก่อสร้างก่อนกฎหมายบังคับใช้ จำนวน 10,386 หลัง

นอกจากนี้ ตามกฎกระทรวง กำหนดประเภทอาคารที่ต้องจัดให้มีผู้ตรวจสอบ พ.ศ.2548 ได้กำหนดให้เจ้าของอาคารที่มีอาคารเข้าข่ายเป็นอาคาร 9 ประเภท อาทิ อาคารสูง (อาคารที่มีความสูงตั้งแต่ 23 เมตรขึ้นไป) อาคารขนาดใหญ่พิเศษ (อาคารที่มีพื้นที่ตั้งแต่ 10,000 ตารางเมตรขึ้นไป) โรงมหรสพ โรงแรมที่มีห้องพักตั้งแต่ 80 ห้องขึ้นไป อาคารชุดหรืออาคารที่อยู่อาศัยรวมที่มีพื้นที่ตั้งแต่ 2,000 ตารางเมตรขึ้นไป เป็นต้น ส่งรายงานการตรวจสอบอาคารให้เจ้าพนักงานท้องถิ่น เพื่อพิจารณาออกใบรับรองการตรวจสอบอาคารหรือสั่งให้แก้ไข แล้วแต่กรณี.