โฆษณาออนไลน์อ้างสรรพคุณเกินจริงตุ๋นหลอกคนให้หลงเชื่อ โดยเฉพาะ “โฆษณาออนไลน์” สร้างความเสียหายได้อย่างมากมายมหาศาลเป็นวงกว้าง หน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องจะทำอย่างไรถึงจะจับได้ไล่ทัน?
“ถ้าบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจัง รับรองว่าจับได้ ปราบได้อย่างเด็ดขาดแน่นอน” มลฤดี โพธิ์อินทร์ นักวิชาการด้านอาหารยาและผลิตภัณฑ์สุขภาพ สภาองค์กรของผู้บริโภค ยืนยัน
แต่ปัญหาสำคัญมีว่า ทุกหน่วยงานก็ออกกฎหมายมาควบคุมเรื่องการโฆษณาเกินจริงจน “ผู้บริโภค” เกิดความสับสนว่าเมื่อเกิดเจอกับ “โฆษณาเกินจริง” แล้ว หน่วยงานไหนจะเป็นคนดูแลหลัก หน่วยงานไหนจะปราบปรามเป็นหลัก ผู้บริโภคจะไปที่ไหน?
เท่าที่ติดตามในเรื่องนี้พุ่งเป้าไปที่ “สิทธิผู้บริโภค”...ก็คือการโฆษณามีผลต่อผู้บริโภค การโฆษณาถือว่าเป็นส่วนหนึ่งให้กับผู้บริโภคเพื่อตัดสินใจเลือกซื้อสินค้าหรือบริการ
“การโฆษณาถือเป็นส่วนหนึ่งของสัญญา เราอาจจะมองว่าสัญญาต้องไปเซ็นเอกสาร แต่การโฆษณาที่โฆษณาออกมาถือเป็นสัญญาที่ทำให้ผู้บริโภคตัดสินใจ ผู้บริโภคควรได้รับการคุ้มครองเกี่ยวกับการโฆษณาเพื่อไม่ให้เกิดการละเมิดสิทธิผู้บริโภค จึงมีการออกกฎหมายต่างๆมาเพื่อควบคุม”
...
บทบาท “สภาองค์กรของผู้บริโภค” สร้างมาเพื่อมีบทบาทหน้าที่ในการคุ้มครองผู้บริโภค ทำงานรับเรื่องร้องเรียน สนับสนุนดำเนินการ ติดตามเฝ้าระวังสถานการณ์ปัญหาและก็แจ้งเตือนภัย ที่สามารถบอกทุกอย่าง ไม่ว่าจะเป็น...ลักษณะสินค้า ผู้ผลิต ผู้ประกอบการได้หมด
อาวุธเหล่านี้...ก็เพื่อติดตาม กระตุ้นภาครัฐให้ดำเนินการตามกฎหมาย อีกทั้งการแจ้งเตือนภัยก็กระทำเพื่อให้ผู้บริโภครับทราบ นับรวมไปถึงผู้ประกอบการด้วย
การดำเนินงานที่ผ่านมาในปี 2565 น่าสนใจว่าปัญหาผู้บริโภคที่เกี่ยวกับผลิตภัณฑ์สุขภาพ พบว่ามีปัญหาทั้งหมด 1,500 กรณี แยกย่อยไปเป็นเรื่อง...อาหารไม่ปลอดภัย อาหารปลอม การโฆษณาเกินจริง ซึ่งเป็นปัญหาหลักและที่เด่นๆมากๆเป็นเรื่องใหญ่ก็คือการเฝ้าระวังผลิตภัณฑ์สมุนไพรเกินจริง
อาทิ ยากษัยเส้นปู่ XXX แดง ขายแพร่หลายในพื้นที่ภาคเหนือกับอีสาน เป็นเครื่องดื่มผลิตภัณฑ์สมุนไพรที่โฆษณาสรรพคุณอวดอ้างเกินจริงว่าแก้อาการปวดทุกชนิด
แล้วก็อวดอ้างด้วยว่า...บำรุงร่างกาย
เมื่อผู้บริโภคหลงเชื่อคำอวดอ้างเหล่านี้ก็ซื้อมารับประทาน แล้วก็เกิดปัญหากับผู้บริโภค เกิดปัญหาสุขภาพ...ร่างกาย อาการตัวบวมหน้าตา แขนขาบวม...รับเรื่องร้องเรียน ล่อซื้อผลิตภัณฑ์มาส่งตรวจ พบว่ามีการใส่สเตียรอยด์ จนทำให้ผู้บริโภคเกิดปัญหา
ผลิตภัณฑ์สมุนไพรดังกล่าว ละเมิดกฎหมายสองฉบับคือ พระราชบัญญัติอาหาร พ.ศ.2522 กำหนดว่า “ผลิตและจำหน่ายอาหารไม่บริสุทธิ์ เป็นอาหารที่มีสิ่งที่น่าจะเป็นอันตรายแก่สุขภาพเจือปนอยู่ด้วย” มีระวางโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
และพระราชบัญญัติยา พ.ศ.2510 ฐาน “ขายยาแผนปัจจุบันโดยไม่ได้รับอนุญาต” ระวางโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี และปรับไม่เกิน 10,000 บาท และ “ขายยาที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียนตำรับยา” ระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 5,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
กรณีตัวอย่างนี้หน่วยงานประจำจังหวัดเชียงใหม่ สภาองค์กรของผู้บริโภค มีส่วนสนับสนุนให้เกิดการตื่นตัวในการคุ้มครองผู้บริโภคภาคเหนือ มีหน้าที่ส่งเสริมพัฒนาความเข้มแข็งให้กับภาคประชาชนในฐานะผู้บริโภคให้รู้เท่าทัน เข้าถึงสิทธิ ปกป้องสิทธิ ร้องเรียนสิทธิของตัวเองหากถูกละเมิด...
ให้เข้าถึงข้อมูลความรู้ที่เกี่ยวข้องงานคุ้มครองผู้บริโภคที่ถูกต้อง และพัฒนาสื่อประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนรู้ เข้าใจปัญหา เห็นผลกระทบในด้านต่างๆของผู้บริโภคให้ชัดเจน
ผู้บริโภคที่ไม่ได้รับความเป็นธรรมจากการซื้อสินค้าและบริการ สามารถส่งเรื่องร้องเรียนมาได้ที่ “สภาองค์กรของผู้บริโภค” เว็บไซต์ www.tcc.or.th
มลฤดี ย้ำว่า ผลกระทบด้านสุขภาพจากการหลงเชื่อคำโฆษณาอวดอ้างเกินจริงเป็นปัญหาที่พบมากและมาจากหลายรูปแบบ ไม่ว่าการบอกต่อโดยผู้ที่น่าเชื่อถือในพื้นที่...จากอดีตหมอ พยาบาล เภสัช หรือคนในพื้นที่เคารพนับถือ ที่น่าสนใจก็คือการโฆษณาเกินจริงของผลิตภัณฑ์ในสังคมออนไลน์
...
“กระจายไปทั่ว...เป็นวงกว้าง แม้ว่าเราจะพยายามสื่อสาร ประชาสัมพันธ์ถึงผลกระทบที่เกิดหากบริโภคผลิตภัณฑ์ดังกล่าวแต่ก็ยังมีเหยื่อหลงเชื่อซื้อไปใช้”
สิ่งที่เกิดขึ้นนี้เพราะมีผลิตภัณฑ์ทั้งตัวจริงและตัวปลอม ฉลากเหมือนกัน...อีกตัวหนึ่งผ่านการรับรองขอ อย.แล้ว ขณะที่อีกแบบไม่มี ไม่ได้ขอ แต่การทำตลาดขายในโลกออนไลน์ ผู้บริโภคจะไม่รู้เลยว่าขอหรือไม่ขอ ผ่านหรือไม่ผ่าน อย. นี่คืออีกมิติปัญหาที่ผู้บริโภคจะต้องเผชิญในการตลาดโลกออนไลน์
พุ่งเป้าไปที่การจัดการของหน่วยงานที่เฝ้าระวัง จัดการ ดำเนินการ ก็คือ “อย.” หรือสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา
ปัญหาการโฆษณาเกินจริงในวันนี้ต้องยอมรับว่าเป็นส่วนหนึ่งของกลยุทธ์ในการทำตลาดในโลกออนไลน์ไปแล้ว “โซเชียลมีเดียมาร์เกตติ้ง” บนแพลตฟอร์ม...กลุ่มเฟซบุ๊ก ยูทูบ อินสตาแกรม ทวิตเตอร์ ไลน์ ฯลฯ และอีกกลุ่มหนึ่งก็จะเป็นพวกแอปขายของออนไลน์ อาทิ ลาซาด้า ช้อปปี้ ฯลฯ
ปัญหาที่เกิดขึ้นจะเป็นกลุ่มที่ใช้การสร้างแรงจูงใจในการซื้อสูงๆ แบบทุ่มสุดกำลังหมดหน้าตัก เพราะตลาดในโลกออนไลน์มีการแข่งขันกันสูงมากๆ ยิ่งใครใช้ผู้นำเสนอ...พรีเซนเตอร์สินค้าที่สามารถเข้าถึงกลุ่มผู้บริโภคมากเท่าไหร่ก็มีโอกาสสร้างยอดขายเพิ่มมากขึ้นเท่านั้น
...
เมื่อมุ่งเป้าแต่ยอดขาย...คนทำการตลาดก็ไม่ได้คำนึงถึงคนที่ทำคอนเทนต์หรือโฆษณา หรือแม้แต่ตัวเจ้าของผลิตภัณฑ์เองก็อาจจะไม่ได้มองว่าตัวโฆษณามีกฎหมายกำกับอยู่ว่า...การโฆษณาเกินจริงนั้นผิดกฎหมายหลายฉบับ คำใดบ้างที่ห้ามใช้...ใช้แล้วมีความผิด
ปัจจุบัน...สังเกตได้ว่ามีดาราคนดังไม่น้อยที่หันมาโฆษณาขายสินค้าของตัวเอง ตัวอย่างเช่น บอกว่ากิน 5 วันเห็นผล 7 วันเห็นผล...ผอมแน่นอน กิน 1 เม็ด...คุณกินข้าวได้ไม่อั้น มาโชว์ในการกินข้าวให้เห็น...เหล่านี้ก็เป็นการสื่อให้ผู้บริโภคเข้าใจผิดในผลิตภัณฑ์นั้น เชื่อมต่อโยงไปถึงเรื่องการลดความอ้วน
กรณีอย่างนี้ที่เคยมีงานวิจัยสำรวจพบว่าการโฆษณาที่รู้ว่าผิดเกินจริง...แต่เจ้าของผลิตภัณฑ์เองก็ยอมที่จะจ่ายค่าปรับเพราะดีดลูกคิดยังไงๆก็คุ้ม...ได้ (เงิน) มากกว่าเสีย?
กรณีนี้ถ้าคุณมั่นใจว่าผลิตภัณฑ์ที่โฆษณาไม่ผิด (หรือผิด...แต่ไม่สน) หากมีผู้บริโภคร้องเรียนจนเกิดการบังคับคดี ก็สามารถที่จะเรียกผลการศึกษาวิจัยจากผู้ประกอบการ หรือผู้ที่แอบอ้างได้ว่ามีการศึกษาจริงหรือเปล่า เพราะจะสืบความไปถึงผลการวิจัยที่กล่าวอ้าง ห้องแล็บได้มาตรฐานหรือไม่?
ถ้าเกิด “ไม่จริง” ก็จะเข้าข่าย “ฉ้อโกง”...เป็นความผิดที่โทษไม่ใช่น้อยๆ.