ว่าที่ร้อยตรีธนุ วงษ์จินดา เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (กอศ.) เปิดเผยถึงการรับนักศึกษาอาชีวะในปีการศึกษา 2566 ว่า ได้มอบนโยบายผู้บริหารสถานศึกษาสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) ทุกแห่งแล้วว่าไม่ต้องกังวลกับการออกไปแนะแนวเรียนต่อด้านสายอาชีพในโรงเรียนสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) เพราะเรื่องแนะแนวการเรียนต่อนั้นเป็นแค่ส่วนหนึ่งเท่านั้น แต่วิทยาลัยแต่ละแห่งต้องจัดกิจกรรมเปิดบ้านแนะนำหลักสูตรปรับโฉมสถานศึกษาของตัวเองให้มีจุดเด่น และประชาสัมพันธ์ให้คนในพื้นที่รับทราบข้อมูลสถานศึกษาที่ถูกต้อง เช่น เรียนอาชีวะแล้วมีงานทำ ได้ทำงานไปด้วยเรียนไปด้วย และมีเงินเก็บเงินฝาก ทำให้การเรียนสายอาชีวะในเชิงบวก เป็นต้น จะทำให้ผู้ปกครองและเด็กสนใจเข้ามาสมัครเรียนเอง รวมถึงขณะนี้สอศ.ได้ตั้งเป้าเพิ่มการเรียนการสอนในรูปแบบทวิภาคีมากขึ้น และการฟื้นหลักสูตรทวิศึกษาในกลุ่มโรงเรียนราชประชานุเคราะห์ ซึ่งจะเป็นการเรียนจบการศึกษาแล้วได้สองวุฒิ ตนเชื่อว่าการรับนักศึกษาสังกัด สอศ.ปีนี้จะเพิ่มผู้เรียนสายอาชีวะได้มากขึ้นอย่างแน่นอน
เลขาธิการ กอศ. กล่าวอีกว่า สำหรับการยกระดับวิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยี (วษท.) จำนวน 41 แห่งทั่วประเทศนั้น ซึ่ง น.ส.ตรีนุช เทียนทอง รมว.ศึกษาธิการ มอบนโยบายต้องปรับโฉม วษท.ทั้ง 41 แห่งสู่การเรียนเกษตรสมัยใหม่ เพื่อสร้างนวัตกรรมให้แก่กลุ่มภาคอุตสาหกรรมเกษตรในอนาคต ขณะนี้ได้ตั้งคณะอนุกรรมการปฏิรูปวิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีขึ้นมาแล้ว จากนี้ไปเราจะปรับโฉมใหม่ของ วษท.ทุกแห่งให้เป็นการเรียนการสอนเกษตรด้านนวัตกรรมหรือเกษตรเทคโนโลยี วษท.แห่งไหนที่มีความพร้อมสามารถจัดการเรียนการสอนที่นอกเหนือจากการเรียนเกษตรได้ เช่น ช่างกลเกษตร หรือด้านพาณิชยกรรม คหกรรม เป็นต้น.
...