คณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงการปรับปรุงเปลี่ยนป้ายสถานีกลางบางซื่อ 33 ล้านบาท เปิดผลสอบสวน มั่นใจทำรอบด้าน ไม่พบว่า รฟท.ทำเกินขอบเขตอำนาจ รวมถึงการกำหนดราคากลางของ รฟท. เป็นไปตามมาตรฐานทางวิชาชีพที่สามารถตรวจสอบได้ แต่เสนอแนะเพิ่ม 3 ข้อให้บอร์ด รฟท.ตัดสินใจ “ทบทวนการดำเนินการ-เปิดประมูลแบบเปิดกว้าง-ต่อรองราคา” เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดและประหยัดงบประมาณ พร้อมแนะใช้ตัวอักษรเดิม “สถานีกลาง” มาปรับปรุงแทนที่จะทำขึ้นใหม่ทั้งหมด

ที่กระทรวงคมนาคม เมื่อวันที่ 24 ม.ค.นายสรพงศ์ ไพฑูรย์พงษ์ รองปลัดกระทรวงคมนาคม ในฐานะประธานคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง โครงการปรับปรุงป้ายชื่อ สถานีกลางบางซื่อ เป็น สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ และตราสัญลักษณ์ของการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) มูลค่ากว่า 33 ล้านบาท พร้อมด้วยนายพิเชฐ คุณาธรรมรักษ์ อธิบดี กรมการขนส่งทางราง (ขร.) เปิดแถลงข่าวผลการสอบสวนของคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงฯ ว่า จากผลการตรวจสอบทางคณะกรรมการฯ ได้มีการ พิจารณาทั้งเอกสารหลักฐาน ตลอดจนการชี้แจงของ การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ที่ชี้แจงด้วยวาจา และเอกสารตามที่คณะกรรมการฯ ได้ให้ตรวจสอบใน 11 ประเด็น ได้ข้อสรุปว่า คณะกรรมการฯ ไม่พบว่า รฟท. มีการดำเนินการที่เชื่อได้ว่านอกเหนือจากขอบเขตงาน และการกำหนดราคากลางของ รฟท.ในการดำเนินการ โครงการครั้งนี้เป็นไปตามมาตรฐานทางวิชาชีพที่ สามารถตรวจสอบได้ ด้วยวิธีการจัดซื้อจัดจ้างโดยวิธี เฉพาะเจาะจง มูลค่างาน 33 ล้านบาท แต่ทั้งนี้ คณะกรรมการฯ ได้มีข้อเสนอแนะให้ รฟท.พิจารณาดำเนินการ ซึ่งเป็นอำนาจว่า รฟท.จะปฏิบัติตามข้อเสนอที่คณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงเสนอไปหรือไม่

ทั้งนี้ คณะกรรมการฯ ได้เสนอแนะเพิ่มเติม 1.ให้ รฟท.ทบทวนการดำเนินการที่ปฏิบัติอยู่ให้เกิดประสิทธิภาพ แม้ว่ากระบวนการจัดซื้อจัดจ้างของ รฟท. ตามนัยมาตรา 56 (2) (ค) แห่ง พ.ร.บ.จัดซื้อ จัดจ้างและการบริหารพัสดุ พ.ศ.2560 จะเป็นการใช้ ดุลพินิจตีความระเบียบกฎหมายในกรอบอำนาจหน้าที่ โดยอาศัยเหตุและผลความจำเป็นตามที่เข้าใจและที่ รฟท.ชี้แจงมาก็ตาม ไม่ว่าจะถูกหรือผิด รฟท.สมควรที่จะหารือผู้เชี่ยวชาญด้านพัสดุกรมบัญชีกลาง ให้มีความชัดเจน 2.ให้ รฟท. ศึกษาทบทวนวิธีการ จัดซื้อจัดจ้างให้เหมาะสมสอดคล้องกับ พ.ร.บ.จัดซื้อ จัดจ้างและการบริหารพัสดุ พ.ศ.2560 โดยเฉพาะการพิจารณาแนวทางการจัดซื้อจัดจ้างตามหลักของกฎหมายที่เห็นควรให้ใช้วิธีประกาศเชิญชวนประมูลแบบทั่วไปเป็นอันดับแรก ไม่ใช่วิธีแบบเฉพาะเจาะจง แบบที่ รฟท.ดำเนินการ เพื่อให้เกิดการแข่งขันอย่างเปิดกว้างและให้เกิดความโปร่งใสเป็นธรรม เป็นที่ยอมรับของประชาชน และ 3.ให้ รฟท.พิจารณาทบทวนการตรวจสอบกระบวนการสืบราคาให้มีความ ครบถ้วนและดำเนินการให้สอดคล้องกับคู่มือแนวทางการประกาศรายละเอียดข้อมูล ราคากลางและการคำนวณราคากลางที่เกี่ยวกับการขอจัดซื้อจัดจ้าง ซึ่งการ ดำเนินการต่างๆ ทางคณะกรรมการฯ เชื่อว่าจะสามารถ ประหยัดงบประมาณได้

...

“คณะกรรมการฯ มีข้อแนะนำให้ รฟท.พิจารณา ความเป็นไปได้ในการใช้ตัวอักษรเดิม “สถานีกลาง” ที่ติดตั้งอยู่ในปัจจุบันมาปรับปรุงเพื่อใช้ติดตั้งแทนที่ จะทำขึ้นใหม่ทั้งหมด เนื่องจากตัวอักษรยังอยู่ในสภาพดี และสามารถนำมาปรับปรุงเหมือนกับตัวอักษรใหม่ได้ รวมถึงทบทวนรายละเอียดของวัสดุ วิธีการจัดทำและ ติดตั้งป้าย ค่างานออกแบบ เป็นต้น เพื่อให้เกิดประโยชน์ สูงสุดและลดค่าใช้จ่ายของ รฟท.” รองปลัดกระทรวงคมนาคมกล่าว

นายสรพงศ์กล่าวอีกว่า ยืนยันว่าคณะกรรมการดำเนินการตรวจสอบเป็นไปตามระเบียบราชการแผ่นดิน โดยรายงานผลการพิจารณาตรวจสอบเรื่องดังกล่าวต่อนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม รับทราบแล้ว รวมถึง รฟท. ซึ่งหลังจาก รฟท.รับทราบเอกสารผลการตรวจสอบข้อเท็จจริงแล้ว ถือเป็นอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการ รฟท. (บอร์ด รฟท.) ในฐานะผู้จัดซื้อจัดจ้างต้องไป พิจารณาดำเนินการอีกครั้ง เพื่อให้เกิดความเหมาะสมและถูกต้องต่อไป