จากกรณีมีการเผยแพร่คลิปเตือนภัยในโลกโซเชียล ให้ระวังอันตรายจากผงสีฟ้าติดอยู่บนต้นหอมที่วางขายในตลาด โดยการเอามือลูบแล้วโชว์ให้เห็นมีสีฟ้าติดตามมือมาด้วย ทำให้ผู้บริโภคต่างตื่นตระหนก
สำนักวิจัยพัฒนาการอารักขาพืช และศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรปทุมธานี ได้ลงพื้นที่ตลาดสี่มุมเมืองไปตรวจสอบแผงค้าดังกล่าวทราบว่า เป็นแผงค้าที่รับสินค้าเกษตรมาจากหลากหลายจังหวัด และได้สุ่มเก็บตัวอย่างต้นหอมส่งตรวจวิเคราะห์สารตกค้างในห้องปฏิบัติการ
ผลการตรวจวิเคราะห์สารตกค้างในห้องปฏิบัติการด้วยเครื่อง GC-MS และเครื่อง Atomic Absorp tion Spectro meter (AAS) ของกองวิจัยพัฒนาปัจจัยการผลิตทางการเกษตร กรมวิชาการเกษตร พบว่า เป็น สารแมนโคเซบ (mancozeb) สารเคมีเพื่อป้องกันกำจัดโรคและแมลงศัตรูพืช ที่เกษตรกรใช้ในการป้องกันกำจัดโรคใบไหม้ในต้นหอมที่เกิดจากเชื้อรา
ตรวจพบการตกค้างในปริมาณ 2 mg/kg อยู่ในระดับที่ปลอดภัยไม่เกินค่ามาตรฐาน (EU MRL 3 mg/kg in leeks)
สำหรับสารแมนโคเซบ เป็นยาชนิดสัมผัสบริเวณผิว ไม่ใช่สารที่ดูดซึมเข้าในต้นหอม ดังนั้นการล้างให้สะอาดโดยให้สารที่เคลือบออกหมดก่อนจำหน่ายหรือบริโภคจะทำให้ผู้บริโภคไม่ได้รับอันตราย
แม้ผลการตรวจวิเคราะห์จะยืนยันออกมาแล้วว่า ปริมาณสารตกค้างดังกล่าวไม่เป็นอันตรายกระนั้นก็ตาม กรมวิชาการเกษตรขอประชาสัมพันธ์ให้ทั้งผู้ค้าและผู้บริโภคล้างทำความสะอาดต้นหอม หรือพืชผัก ผลไม้ทุกชนิด เพื่อไม่ให้มีสารตกค้างปนเปื้อนก่อนนำไปจำหน่ายหรือนำไปบริโภค
และเน้นย้ำให้เกษตรกรผู้ปลูกหอมที่ใช้สารดังกล่าวในการป้องกันกำจัดเชื้อราให้ปลอดภัย หรือปลอดสารตกค้าง ขอให้ปฏิบัติตามคำแนะนำในสลากอย่างเคร่งครัด
ที่สำคัญ การใช้สารแมนโคเซบ ต้องเก็บเกี่ยวต้นหอมหลังจากพ่นครั้งสุดท้ายอย่างน้อย 15 วัน.
...
สะ–เล–เต