ด้วยพันธกิจให้ทุกคนบนแผ่นดินไทยมีวิถีชีวิต มีสุขภาพที่ดี และสร้างสังคม-สิ่งแวดล้อม ที่สนับสนุนต่อการมีสุขภาวะที่ดี สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ได้จัดทำแผนงานต่างๆ เพื่อลดความเหลื่อมล้ำด้านสุขภาพ ในกลุ่มคนต่างๆ อาทิ กลุ่มคนพิการ ผู้สูงอายุ กลุ่มชาติพันธุ์ กลุ่มคนไร้บ้าน ฯลฯ ผ่านแผนสุขภาวะ “ประชากรกลุ่มเฉพาะ” สำหรับการดำเนินงานนั้น
นางภรณี ภู่ประเสริฐ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะประชากรกลุ่มเฉพาะ สสส. ได้อธิบายให้เห็นภาพการทำงานว่า กลุ่ม “ประชากรกลุ่มเฉพาะ” สสส.แบ่งเป็น 10 กลุ่ม ซึ่งสำนักสนับสนุนสุขภาวะประชากรกลุ่มเฉพาะ (สำนัก 9) มีแผนงานสนับสนุนคนกลุ่มนี้ 130 โครงการ โดยมีทั้งภาคีนโยบาย ภาครัฐ ภาคีวิชาการ ภาคีภาคประชาสังคมเข้ามาร่วมทำงาน ในส่วนของ คนพิการและผู้สูงอายุ มีทิศทางการส่งเสริมสุขภาพและคุณภาพชีวิตดังนี้ โดยในส่วนของคนพิการ มีการทำงานอยู่ภายใต้แนวคิดมนุษย์ทุกคนมีคุณค่าและศักดิ์ศรี สามารถพัฒนาตัวเองได้ หากได้รับโอกาสอย่างเท่าเทียม มีผลงานเด่นที่ผ่านมา ได้แก่ เปิดโอกาสการมีงานทำ ตั้งแต่ สสส.เข้ามาผลักดันทำให้คนพิการสามารถเข้าสู่การมีอาชีพได้ถึง 7,000 อัตรา สร้างโอกาสให้คนพิการได้ทำงานแล้วกว่า 20,000 โอกาสงาน มีบริษัทเข้าร่วมกว่า 300 บริษัท โดยได้ทำงานร่วมงานกับกระทรวงแรงงาน กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ นำนวัตกรรมทางสังคม การสร้างประสบการณ์ร่วมผ่านกิจกรรม “ด้วยกัน” เพื่อให้คนในสังคมเข้าใจความแตกต่างของมนุษย์ด้วยกัน ผ่านกิจกรรมต่างๆ เช่น วิ่งด้วยกัน ดูหนังด้วยกัน และผ่านแอปพลิเคชันต่างๆ นอกจากนี้ยังสร้างการมีส่วนร่วมในชุมชน โดยมองเรื่องแนวทางฟื้นฟูสมรรถภาพคนพิการโดยชุมชน (CBR)
ที่ผ่านกระบวนการมีส่วนร่วมจากหน่วยงานในพื้นที่ ในมิติด้านสุขภาพ การศึกษา ความเป็นอยู่ สังคม การเสริมพลัง หากลไกเพื่อให้เกิดการฟื้นฟูในระดับชุมชน อีกทั้งมีการวิเคราะห์ข้อมูลและออกแบบปรับสภาพแวดล้อมและสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับทุกคน ได้สนับสนุนมหาวิทยาลัย 12 แห่ง ตั้ง Universal Design มาให้คำปรึกษาในการปรับพื้นที่ที่อยู่อาศัยให้เหมาะสมกับการดำเนินชีวิต ซึ่งจะเป็นการพัฒนาช่างชุมชนให้มีความรู้ด้านการปรับสภาพแวดล้อม
ส่วนแนวทางการดำเนินงานเพื่อพัฒนาระบบรองรับสังคมสูงวัย และพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุนั้น ผอ.สำนักสนับสนุนสุขภาวะประชากรกลุ่มเฉพาะ สสส. บอกว่า การทำงานส่วนนี้แบ่งเป็น การเตรียมความพร้อมตัวบุคคล ทั้งก่อนวัยและเข้าสู่วัยผู้สูงอายุ ให้ดูแลด้านสุขภาพ ออกกำลังกายอย่างเหมาะสม โภชนาการ ด้านเศรษฐกิจ วางแผนการเงิน การออม ด้านสังคม ทัศนคติ นอกจากนี้ยังมีการพัฒนาระบบรองรับสังคมสูงอายุ ระบบสุขภาพ ระบบทางสังคม ระบบเศรษฐกิจ สภาพแวดล้อมและบริการสาธารณะ งานเกี่ยวกับผู้สูงอายุของ สสส.ให้ความสำคัญกับการขับเคลื่อนนโยบาย การคุ้มครองสวัสดิการ มีการสนับสนุนชุดความรู้ งานด้านวิชาการเพื่อการขับเคลื่อน โดยเฉพาะช่องว่างเรื่องดิจิทัลเฮลธ์ สนับสนุนงานวิชาการเพื่อไปจัดทำนโยบาย สนับสนุนกลไกงานในระดับพื้นที่ พัฒนาชมรมผู้สูงอายุต้นแบบและขยายผล 260 แห่ง จัดกิจกรรมต่อเนื่องสนับสนุนผลิตหนังสือ โปสเตอร์ วีดีทัศน์ คู่มือการดูแลผู้สูงอายุ คู่มือการเตรียมความพร้อมสู่สังคมสูงวัยสุขภาพดี ซึ่งเป็นกลไกที่จะทำให้ผู้สูงอายุมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น นอกจากนี้ในการสื่อสารสาธารณะกิจกรรมทางสังคม ได้จัดเวทีทำข้อเสนอเชิงนโยบายเป็นระยะ และยังสนับสนุนกิจกรรมส่งเสริมสุขภาพผู้สูงอายุอย่างต่อเนื่อง ในกทม.มีเครือข่ายผู้สูงอายุร่วมทำกิจกรรม 40,000 คน ร่วมกิจกรรมประจำ 5,000 คน รวมทั้งมีการส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิตผ่านระบบออนไลน์ ในหลักสูตร “เกษียณคลาส” และหลักสูตรเตรียมพร้อมและสื่อสารเรียนรู้เพื่อพัฒนาสุขภาวะ “ผู้สูงวัยดิจิทัล” ซึ่งหลักสูตรนี้ร่วมกับมหาวิทยาลัยสุโขทัย
ด้านองค์กรภาคีเครือข่าย อย่าง นายอภิชาติ การุณกรสกุล ประธานมูลนิธินวัตกรรมทางสังคม กล่าวถึงการพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการว่า มูลนิธิฯ มีเป้าหมายสร้างเสริมสุขภาวะคนพิการผ่านการมีงานทำ จนเกิดเป็นนวัตกรรมระบบการจ้างงานคนพิการเชิงสังคมขึ้นมาผ่านการทำงานร่วมกับหน่วยงานที่มีภารกิจทางสังคมระดับชุมชนทุกจังหวัด เป็นกลไกที่สามารถขับเคลื่อนคนพิการ โดยคนพิการ เพื่อคนพิการเอง เพื่อเป็นเจ้าของภารกิจในระยะยาว จนเกิดการจัดตั้ง สมาคมสร้างเสริมโอกาสและอาชีพคนพิการไทย รวมทั้งนำเสนอกลไกระดมทุน “โมเดลวันละ 10 บาท” เพื่อให้เกิดเป็นระบบที่คนพิการที่ได้รับการจ้างงานร่วมกันสนับสนุนทุนดำเนินการด้วยตนเองอย่างยั่งยืน นอกจากนี้ยังจะมีโครงการคนพิการรักต้นไม้ จะขับเคลื่อนให้คนพิการเป็นต้นแบบของประชากรรายบุคคลที่ปลูกและดูแลต้นไม้ในบริบทของตัวเอง เพื่อให้สังคมขับเคลื่อนไปด้วยกัน โดยมองผ่านการมองเห็นศักยภาพและความทัดเทียมของคนพิการกับประชากรทั่วไป
ด้าน นายประสาน อิงคนันท์ ผู้รับผิดชอบโครงการส่งเสริมทักษะการประกอบอาชีพ สร้างความตระหนักรู้ในประเด็นสังคมสูงวัย และพัฒนาเครือข่ายเพื่อสร้างพลังผู้สูงวัย แจงว่า ได้ทำงานร่วมกับ สสส.ผ่านเพจที่มีชื่อว่า “มนุษย์ต่างวัย” จากการทำกว่า 3 ปีได้สร้างให้ผู้สูงอายุรู้สึกมีคุณค่าในการมีชีวิตอยู่ และปีที่ผ่านมาทำโครงการ “วัยนี้ วัยดี” ชวนให้ผู้สูงวัยกลับเข้ามาหาอาชีพอิสระของตนเอง โดยเข้ามาสอนเรื่องทำแบรนดิ้งสินค้า ซึ่งได้รับความสนใจจำนวนมาก ซึ่งเป็นโอกาสให้คนวัยเกษียณลองเริ่มต้นชีวิตใหม่ๆ.