กสศ. ร่วมสร้างความเข้าใจสถานศึกษาสายอาชีพทั่วประเทศ ชวนยื่นข้อเสนอโครงการฯ เพื่อเติมโอกาสเยาวชนที่ขาดแคลนทุนทรัพย์และด้อยโอกาส ก้าวพ้นความยากจนข้ามรุ่น ได้เรียนหลักสูตร ปวช.-อนุปริญญา ผู้ช่วยพยาบาล ผู้ช่วยทันตแพทย์ ผลิตกำลังคนคุณภาพสู่ตลาดแรงงาน

เมื่อวันที่ 9 พ.ย. 65 กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) เผยว่า ได้จัดประชุมชี้แจงการเปิดรับข้อเสนอโครงการทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูง ปี 2566 สำหรับหลักสูตรผู้ช่วยพยาบาลและผู้ช่วยทันตแพทย์ สำหรับผู้เรียนที่มีความต้องการพิเศษ และสำหรับสถานศึกษาทั่วไป และสถานศึกษานวัตกรรม เพื่อทำความเข้าใจร่วมกับสถานศึกษาในการส่งเสริมโอกาสแก่เยาวชนที่กำลังศึกษาอยู่ในระดับชั้น ม.6 ปวช.3 หรือเทียบเท่าที่มีศักยภาพแต่ขาดแคลนทุนทรัพย์ให้ได้รับทุนการศึกษาในระดับประกาศนียบัตรชั้นสูง (ปวส.) และอนุปริญญา เมื่อวันที่ 4-5 พ.ย.ที่ผ่านมา

นางสาวธันว์ธิดา วงศ์ประสงค์ ผู้อำนวยการสำนักพัฒนานวัตกรรมเพื่อสร้างโอกาสการเรียนรู้ กสศ. กล่าวว่า ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาเป็นปัญหาท้าทายต่อการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมไทย แม้ว่าประเทศไทยลงทุนด้านการศึกษาในแต่ละปีสูงถึง 5 แสนล้านบาท แต่ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษายังคงพบเห็นได้ทุกพื้นที่ ส่งผลถึงความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจและเป็นอุปสรรคสำคัญในการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนซึ่งประเทศไทยได้ให้คำมั่นสัญญาแก่ประชาคมโลกว่าจะทำให้สำเร็จในปี 2030

"กสศ. เชื่อว่าทุกคนสามารถพัฒนาตนเองได้ตามศักยภาพหากมีโอกาสเข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพ เพราะทรัพยากรมนุษย์เป็นแกนกลางของการพัฒนา กสศ. จึงมีโครงการทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูง โดยปี 2566 ได้แบ่งเป็น 3 กลุ่ม คือ 1.ทุนหลักสูตรผู้ช่วยพยาบาลและผู้ช่วยทันตแพทย์ 2.ทุนสำหรับผู้เรียนที่มีความต้องการพิเศษ และ 3.ทุนสำหรับสถานศึกษาทั่วไปและสถานศึกษานวัตกรรม เพื่อส่งเสริม สนับสนุน และให้ความช่วยเหลือเยาวชนที่ขาดแคลนทุนทรัพย์และด้อยโอกาสให้ได้รับการศึกษา หรือพัฒนาตนเองให้มีความรู้ความสามารถในการประกอบอาชีพที่มีรายได้สูงขึ้น"

...

ผู้อำนวยการสำนักพัฒนานวัตกรรมเพื่อสร้างโอกาสการเรียนรู้ กสศ. กล่าวต่อไปว่า หนึ่งในปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาที่มีความท้าทายอย่างยิ่ง คือกลุ่มเยาวชนที่มีความต้องการพิเศษไม่มีโอกาสเข้าถึงการศึกษา หรือแม้มีโอกาสเข้าถึงการศึกษาแต่ก็ขาดโอกาสการมีงานทำ จึงเป็นโจทย์ยากในการหลุดพ้นจากความยากจน ทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูง ปี 2566 จึงเพิ่มโอกาสทางการศึกษาสายอาชีพให้แก่ผู้เรียนที่มีความต้องการพิเศษ รวมถึงหนุนเสริมสถานศึกษาสายอาชีพให้มีความเข้มแข็งเพื่อเสริมสร้างความพร้อมสู่การมีงานทำ และการพึ่งพาตนเองหลังผู้เรียนสำเร็จการศึกษาด้วยแนวคิดสร้างความพิเศษเป็นพลัง

"ทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูง เป็นการพัฒนาต้นแบบเชิงระบบในการสนับสนุนทุนการศึกษาสายอาชีพ มีการแลกเปลี่ยนการทำงานและส่งต่อให้หน่วยงานหลักในการขยายผลทั้งระบบการศึกษาต่อไป ถือเป็นอีกช่องทางสำคัญในการผลิตกำลังคนที่สร้างความเข้มแข็งให้กับภาคการผลิตและภาคธุรกิจเพื่อเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันของประเทศตามนโยบายไทยแลนด์ 4.0 ที่สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ พ.ศ.2561-2580 รวมถึงตอบสนองความต้องการของตลาดแรงงานในประเทศ" นางสาวธันว์ธิดา กล่าว

นางปัทมา วีระวานิช ผู้ชำนาญการด้านการขับเคลื่อนนโยบายอาชีวศึกษา เพื่อพัฒนาศูนย์การเรียนรู้สู่ความเป็นเลิศเฉพาะทาง (Excellent Center) สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) และผู้ทรงคุณวุฒิ กสศ. กล่าวว่า สอศ. มีการทำงานร่วมกับสมาคมผู้พิการ โดยในยุคแรกได้ร่วมมือกับวิทยาลัยสารพัดช่างนครหลวงจัดการเรียนการสอนสำหรับผู้พิการทางสายตา พยายามเรียนรู้การจัดการสิ่งแวดล้อมเพื่อผู้พิการและมีการขยายผลร่วมกับภาคีเพิ่มขึ้น แม้ว่าจำนวนสถาบันอาชีวศึกษาที่เปิดรับผู้พิการจะมีมากขึ้น แต่ในแง่การกระจายตัวยังไม่เพียงพอเพราะผู้เรียนที่มีความต้องการพิเศษมีข้อจำกัด เช่น พักอาศัยไกลบ้านไม่ได้ จึงอยากเห็นสถาบันอาชีวศึกษาเข้ามามีส่วนร่วมกระจายโอกาสให้ครอบคลุมทั่วประเทศ

"ทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูง มุ่งเน้นสนับสนุนในสาขาซึ่งเป็นที่ต้องการของตลาดงาน มีค่าใช้จ่ายในการดำรงชีวิตและค่าเทอม มีการติดตามผลการศึกษา ความประพฤติ และมีระบบฝึกงานเข้มข้นเพื่อเพิ่มโอกาสในการทำงานมากขึ้น เป็นการช่วยเหลือผู้ขาดแคลนให้มีความมั่นคงในชีวิต โดยเฉพาะในกลุ่มผู้เรียนที่มีความต้องการพิเศษให้ได้มีศักยภาพ ลดภาระครอบครัว สามารถดูแลตัวเองได้" นางปัทมา กล่าว

...

นายภูรี สมิทธิเนตย์ หัวหน้าโครงการ Café Amazon For Chance บริษัท สานพลังวิสาหกิจเพื่อสังคม จำกัด ในกลุ่ม ปตท. กล่าวว่า โครงการ Cafe Amazon for chance เป็นโครงการให้กลุ่มผู้ด้อยโอกาสหรือกลุ่มผู้มีความต้องการพิเศษได้มีโอกาสร่วมงานกับคาเฟ่อเมซอน มีตั้งแต่ผู้พิการทางการได้ยิน ผู้พิการทางออทิสติก และผู้พิการทางการเคลื่อนไหว รวมถึงผู้สูงอายุ โดยคาเฟ่อเมซอนทำโครงการนี้มาประมาณ 5 ปี ปัจจุบันรับพนักงานด้อยโอกาสให้เข้าทำงานแล้วประมาณ 68 สาขา มีการจ้างงานกว่า 200 อัตรา

"เราก็ใช้แนวคิดการเรียนรู้ว่าจุดแข็งจุดอ่อนของกลุ่มผู้พิการมีอะไรบ้าง โดยเฉพาะในกรณีกลุ่มผู้พิการทางการได้ยิน เรารู้ว่าเขามีความบกพร่องทางการสื่อสารก็มีการที่ดีไซน์การทำงานเพื่อให้ขับเคลื่อนไปได้โดยพนักงานปกติมาร่วมเรียนรู้ภาษามือเพื่อให้สื่อสารร่วมกันได้ เราพยายามให้พนักงานกลุ่มนี้ได้มีโอกาสทำงานในทุกๆ ฝ่าย เช่น ตำแหน่งรับออเดอร์ ตำแหน่งพนักงานชงเครื่องดื่ม หรือตำแหน่งฝ่ายประสานงานซัพพลายเออร์ ทำให้น้องๆ มีการพัฒนาตัวเองตลอดเวลาเหมือนคนปกติทั่วไปจนสามารถขึ้นตำแหน่งบริหารเพิ่มเติมได้" นายภูรี กล่าว

...

ทั้งนี้ สถานศึกษาที่จัดการศึกษาระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) ต่อเนื่องประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) หรือประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) หรืออนุปริญญาสายอาชีพ หรือประกาศนียบัตรหลักสูตรผู้ช่วยพยาบาล (1 ปี) หรือประกาศนียบัตรหลักสูตรผู้ช่วยทันตแพทย์ (1 ปี) จากทุกสังกัด ยื่นข้อเสนอได้ตั้งแต่วันนี้ - 25 พฤศจิกายน 2565 ทางเว็บไซต์ https://eefinnovet.com/ สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมติดต่อ โทรศัพท์ 0-2079-5475 กด 2.