ปัญหาตำรวจกับปืนหลวง ที่ผู้ปฏิบัติงานไม่กล้าเบิกปืนจากคลังไปใช้ เพราะมีกกฎระเบียบกำกับไว้หยุมหยิม ตำรวจส่วนใหญ่เลือกที่จะซื้อปืนใช้เอง ทำให้ปืนหลวงถูกทิ้งสนิมเขรอะอยู่ในคลังโรงพัก

ปืนเก่าไม่ถูกเบิกไปใช้ ปืนใหม่ยังเก็บใส่ถุงอยู่ในกล่อง กลายเป็นช่องทางให้ตำรวจบางนายแอบเอาปืนหลวงออกไปขาย

ขณะเดียวกัน โครงการ “ปืนสวัสดิการ” ที่มีจุดประสงค์เพื่อตำรวจชั้นผู้น้อยได้มีปืน ก็กลายเป็นช่องโหว่ให้มีการ “ขายสิทธิ” นำใบ ป.3 ไปวนซื้อปืนมาจำหน่ายนอกระบบ

ปัดฝุ่นยกเครื่อง ตั้ง "รองต่อ" เป็นหัวหน้าคณะทำงาน

เรื่องนี้ พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ สุขวิมล รอง ผบ.ตร. เปิดเผยว่า สำนักงานตำรวจแห่งชาติเตรียมพิจารณาระงับ "โครงการปืนสวัสดิการตำรวจ" อย่างไม่มีกำหนด หลังพบข้าราชการบางหน่วยนำใบ ป.3 ไปวนซื้อปืนมาจำหน่ายนอกระบบ และทางออนไลน์ จนมีกลุ่มตำรวจชั้นผู้น้อยออกมาพูดวิพากษ์วิจารณ์ถึงเรื่องนี้

พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ กล่าวว่า พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ ผบ.ตร. ได้แต่งตั้งตนเป็นหัวหน้าคณะทำงานแก้ไขเรื่องอาวุธปืนของหลวง เนื่องจากพบปัญหามีอาวุธปืนถูกขโมยไปและนำไปจำหน่าย โดยแนวทางเบื้องต้นได้นำต้นแบบการตรวจเช็กสต๊อก หรือเช็กจำนวนอาวุธปืนของหน่วยปฏิบัติการพิเศษ หรือคอมมานโด มาใช้ ซึ่งใช้คิวอาร์โค้ดหรือบาร์โค้ดที่ติดไว้ที่อาวุธปืนมาใช้ในการนับจำนวน เพราะจะง่ายต่อการตรวจสอบ และง่ายต่อเจ้าหน้าที่งานธุรการ ถึงเวลาก็นำอุปกรณ์ หรือมือถือมาสแกน ก็จะเข้าไปที่แอปพลิเคชันที่ได้จัดทำไว้ โดยตรงนี้จะเป็นหน้าที่ของทางสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ที่จะต้องเร่งดำเนินการ อย่างไรก็ตาม ระบบนี้ในกองทัพสหรัฐอเมริกาก็ได้มีการนำมาใช้ เรียกว่าสติกเกอร์มิลิเทอรี่เกรด แม้แต่การเช็กสต๊อกอะไหล่เครื่องบินก็ใช้ระบบนี้

...

“ในคิวอาร์โค้ด จะระบุรุ่น ซีรีส์ เข้ามาประจำการในสารระบบของสำนักงานตำรวจแห่งชาติเมื่อไหร่ ใครเบิกใช้ คืนเมื่อไหร่ ซึ่งในส่วนนี้จะง่ายต่อการติดตาม อย่างไรก็ตาม สิ่งหนึ่งจากการไปตรวจราชการในพื้นที่ต่างๆ และพบคือ อาวุธปืนค่อนข้างเก่า เป็นภาระให้จ่ากองที่คุมอาวุธเต็มคลังไปหมด ขณะที่อาวุธปืนใหม่ก็ไม่ได้เบิก อาทิ ปืนเอ็มโฟร์ยังอยู่ในถุง ในกล่อง และอยากให้เข้าใจว่าการจัดทำโครงการปืนสวัสดิการตำรวจ เพราะตอนนั้นเราไม่มีปืนให้ตำรวจชั้นผู้น้อยได้ใช้ ไม่สามารถที่จะแจกจ่ายให้กับตำรวจมาที่ปฏิบัติหน้าที่ได้ จากดำเนินโครงการมา 2-3 ปี มีการจัดหาปืนมาให้ตำรวจมาได้ใช้ในการปฏิบัติงาน”

ชี้เหตุตำรวจไม่ใช้ปืนหลวง "ระเบียบค่อนข้างยุ่งยาก"

ทั้งนี้ทั้งนั้น สิ่งสำคัญ จะทำอย่างไรให้ข้าราชการตำรวจชั้นผู้น้อยเบิกปืนหลวงมาใช้ในการปฏิบัติงาน ซึ่งส่วนตัวตนใช้ปืนหลวงในการปฏิบัติงาน ทั้งการซ้อม การยิง ตลอดจนการถวายอารักขา ถวายความปลอดภัย โดยเหตุที่ปืนผ่านการทดสอบมาทดสอบมาแล้ว ก่อนที่จะมีการจัดซื้อ ซึ่งปัจจุบันมีสองยี่ห้อขนาด 9 มม.เหมือนกัน ถามว่าทำไมต้องเป็นขนาด 9 มม. เพราะในต่างประเทศมีการทำวิจัยเวลาสายตรวจออกปฏิบัติหน้าที่ หากประสบเหตุแล้วกระสุนหมด สามารถที่จะหยิบยืมจากคู่บัดดี้ได้ ง่ายต่อการช่วยเหลือกัน อย่างเช่นในสหรัฐอเมริกาก็ใช้ปืนชนิดเดียวกัน ยี่ห้อเดียวกัน ผ่านการคัดเลือกโดยคณะกรรมการระดับชาติ และส่งผ่านมายังกองทัพหรือหน่วยงานบังคับใช้กฎหมาย อย่างไรก็ตาม ส่วนตัวเข้าใจว่าสิ่งที่ตำรวจไม่อยากเบิกปืนหลวงมาใช้ เพราะระเบียบต่างๆ ค่อนข้างยุ่งยาก ทำให้ตัวตำรวจก็ไม่อยากนำมาใช้ เกิดช่องว่าง ปืนอยู่ในคลังถูกนำไปขายแปรสภาพ ซึ่งเรื่องนี้ทาง ผบ.ตร.แต่งตั้งตนขึ้นมาเพื่อที่แก้ปัญหาตั้งแต่ต้นทาง รวมทั้งระเบียบต่างๆ เพื่อที่ให้เด็กๆ กล้าใช้ปืนหลวงมากขึ้น

ปิดช่องโหว่ "ปืนสวัสดิการ" ขยายเวลา 15 ปี โอนได้

สำหรับแนวทางใหม่ ในอนาคตตำรวจชั้นผู้น้อยสามารถเบิกปืนจากคลังได้เลย โดยที่ระเบียบไม่ยุ่งยาก แค่สแกนคิวอาร์โค้ดลงในระบบ จากนั้นก็นำมาคืนตามกรอบเวลาอาจจะ 15 วัน หรือ 30 วัน แต่อาวุธปืนคุณต้องอยู่ นอกจากนี้ในรูปแบบของการให้ยืม อาวุธปืนแต่ละประเภทมีอายุการใช้งาน แต่ละปีมีรุ่นใหม่ๆ เข้ามา โดยในกรณีที่ปืนหลวงหมดสภาพตามเวลา ทางสำนักงานตำรวจแห่งชาติก็จะทำจำหน่ายในราคาที่ถูก ตามค่าเสื่อมสภาพ ตามความเหมาะสม และเอารุ่นใหม่เข้ามา ซึ่งใครจะมีสิทธิซื้อ ก็คือตำรวจได้มีโอกาสซื้อในราคาสวัสดิการ แต่ไม่ทำโครงการปืนสวัสดิการ เพราะปัญหาที่ผ่านมาคือข้าราชการบางหน่วยนำใบ ป.3 ไปวนซื้อปืนมาจำหน่ายนอกระบบ และทางออนไลน์ โดยไม่ไปออกใบ ป.4 ซึ่งตรงนี้เรากำลังตรวจสอบ และต้องขอบคุณทาง พล.ต.อ.สุชาติ ธีรสวัสดิ์ อดีตรอง ผบ.ตร. ได้ให้ข้อมูลไว้ ถึงทราบแผนประทุษกรรมนี้ โดยหลังจากนี้ทางคณะกรรมการจะต้องมาพิจารณาและปิดช่องโหว่ของปืนสวัสดิการทั้งหมด โดยอาจจะขยายเวลาการครอบครองจาก 5 ปี โอนได้ เป็น 15 ปี โอนได้ หรืออาจจะไม่ให้โอนตลอดชีวิต เพื่อที่กันการเอาปืนสวัสดิการไปขาย ทำนองซื้อถูกขายแพง รวมทั้งเรื่องของการปรับระเบียบการเบิกอาวุธปืน, การชดใช้สิ่งของหลวง, การตั้งกรรมการเวลาปืนชำรุดเสียหาย ทั้งหมดนี้เพื่อให้ข้าราชการตำรวจชั้นผู้น้อยมีโอกาสและได้ใช้ปืนที่ดี เพราะปืนในคลังของเราดี มีคุณภาพ ไม่อยากให้ปืนคงคลัง รวมทั้งมีการสร้างเครื่องโหลดกระสุนไว้ อีกหน่อยตำรวจทุกคนสามารถซ้อมปืนได้เพื่อให้เกิดความคุ้นชิน

ต่อไป "ตำรวจไม่ต้องซื้อปืนเอง"

ในส่วนกรณีที่หลายคนเป็นห่วงว่าหากยกเลิกโครงการปืนสวัสดิการตำรวจ จะกระทบกับตำรวจที่จบใหม่ ในการจัดหาอาวุธปืน ต้องซื้อปืนในราคาแพงขึ้น ในส่วนนี้ชี้แจงตั้งคำถามว่า ตำรวจชั้นผู้น้อยจะเอาเงินที่ไหนมาซื้อปืนในราคาที่แพง ปืนสวัสดิการที่จัดเตรียมมาให้ถือเป็นสิ่งดีที่ไม่ผลักภาระ ซึ่งการจัดระบบครั้งนี้ไม่เป็นการสร้างภาระให้ตำรวจชั้นผู้น้อย เวลาปฏิบัติหน้าที่ก็มาเบิกปืนหลวงไปใช้ก็เหมือนเบิกไปประจำกาย เพราะตำรวจบ้านเราทำงาน 24 ชั่วโมง แต่ทุกๆ 15 วันเวลานับจำนวนต้องมีมาแสดง อย่างไรก็ตาม หากโครงการนี้เป็นรูปร่าง อนาคตหากมีการจัดซื้อปืนจะมีการยิงเลเซอร์ในตัวปืนจากโรงงานเลย เพื่อป้องกันการขูดลบ และเวลาปืนตกไปอยู่นอกระบบก็จะได้ทราบ และผู้ที่ได้ครอบครองก็อาจจะเข้าข่ายรับของโจร ทำให้ไม่มีใครอยากได้

...

ตัดปัญหาปืนหลวงหาย ขายปืนสวัสดิการ

จากนี้การครอบครองปืนที่เป็นปืนส่วนตัวในโครงการปืนสวัสดิการต้องทำให้รัดกุม ปัญหาตอนนี้ที่พบคือการเวียนใบ ป.3 และการครอบครองอาวุธปืน 5 ปี แล้วขายเลย เช่น ซื้อปืนสวัสดิการ 2 หมื่น แต่ปืนอยู่กับบุคคลอื่น แต่คุณสลักหลังทิ้งไว้พอ 5 ปี ถึงโอน ซึ่งตรงนี้ต้องมากำหนดแนวทางการครอบครอง

ขอยืนยันว่าแนวทางนี้จะไม่กระทบในส่วนขวัญกำลังใจของผู้ใต้บังคับบัญชา รวมถึงผู้ปฏิบัติงาน ที่ผ่านมา ทางสำนักงานตำรวจแห่งชาติได้มีการจัดหาอาวุธปืนยุทโธปกรณ์ที่ทันสมัย และมีประสิทธิภาพ มาให้กับกำลังพล ซึ่งแนวทางนี้จะเป็นการป้องปรามตัดช่องโอกาส ไม่ให้มีผู้แสวงหาประโยชน์จากปืนสวัสดิการ และตัดช่องโอกาสไม่ให้เกิดปัญหาปืนหลวงหาย